AOT เยียวยาผู้ประกอบการในท่าอากาศยาน 6 แห่ง…ปล้นเงียบผู้ถือหุ้น-คลังหรือไม่!!
หลังเปิดประมูลคัดเลือกจนได้ผู้รับสัมปทานดิวตี้ฟรี และสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่ในสนามบิน ที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2563 ได้ไม่นาน ซึ่งผู้ที่ได้ไปก็คือกลุ่มคิง เพาเวอร์ โดยบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)หรือทอท. ระบุว่าผู้ยื่นข้อเสนอ “ได้เสนอค่าตอบแทนสูงกว่าที่ทอท.เคยได้รับอยู่เดิมและสูงกว่าที่ทอท.คาดหมาย”
แม้สัญญาใหม่จะยังไม่เริ่ม…แต่ทอท.ก็ให้ส่วนลดล่วงหน้า 2 ปี
ล่าสุดที่ประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยาน 6 แห่ง อันได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,ดอนเมือง,ภูเก็ต,เชียงใหม่,หาดใหญ่ และแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยอ้างถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ออกมาตรการปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ถึง 31 มีนาคม 2565
หลังจากที่ทอท.แถลงผลการประชุมบอร์ด ทอท. ครั้งที่ 3/2563 ต่อสื่อมวลชน รวมทั้งทอท.ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 วันรุ่งขึ้นเว็บไซต์ “ลงทุนแมน” วิเคราะห์ว่า “AOT ช่วยเหลือผู้ประกอบการยังไง ให้หุ้นลง 6%” โดยเปิดตลาดช่วงเช้านี้(20 กุมภาพันธ์ 2563) มูลค่าหุ้นของทอท. ดิ่งลงทันที 6% คิดเป็นมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท กรณีนี้ คาดว่าจะเป็นผลมาจากการประกาศมาตรการเยียวยาดังกล่าว”
สำหรับมาตรการเยียวยาของทอท.มีสาระสำคัญดังนี้
กลุ่มแรก ปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบคงที่รายเดือน หรือ ค่าเช่า 20% เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มกราคม 2564 สำหรับปีถัดไป ทอท.จะทบทวนอัตราการปรับลดดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
กลุ่มที่ 2 สำหรับสัญญาที่ไม่ได้มีผลตอบแทนคงที่ บอร์ด ทอท. มีมติ ยกเว้นการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี โดยคงไว้เพียงผลตอบแทนในอัตราร้อยละ หรือ “เปอร์เซ็นต์” เป็นเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 – 31 มีนาคม 2565
และ กลุ่มที่ 3 เลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน และยกเว้นค่าปรับจากการขอเลื่อนชำระเงินดังกล่าวให้ผู้ประกอบการเป็นเวลา 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 – กรกฎาคม 2563 กรณีผู้ประกอบการร้องขอผ่อนผัน
วิธีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน ทอท.
การที่นักลงทุนกังวล จนทำให้หุ้น AOT ตกลงไป 6% น่าจะมาจากมาตรการ กลุ่มที่ 2
ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ทอท.ซึ่งเป็นเสือนอนกินจะมีวิธีการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้รับสัมปทานฯ อยู่ 2 วิธี คือ
วิธีแรก จัดเก็บจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนรายเดือนเป็นร้อยละ หรือ เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น สัมปทานดิวตี้ฟรีปัจจุบัน เก็บในอัตรา 20% ของรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากร ก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
วิธีที่ 2 จัดเก็บจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือนและรายปี (Minimum Guarantee) เป็นจำนวนเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญาฯ
วิธีไหนคำนวณออกมาแล้ว ทอท.ได้เม็ดเงินรายได้มากกว่า ก็ให้ใช้วิธีนั้น ยกตัวอย่าง ผู้รับสัมปทานมีรายได้จากยอดขายสินค้าปลอดอากรก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ 50,000 ล้านบาท ต้องค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทอท.ที่อัตรา 20% คิดเป็นเงิน 10,000 ล้านบาท ปรากฏว่าวิธีนี้ ทอท.ได้เม็ดเงินรายได้น้อยกว่า Minimum Guarantee ที่กำหนดในสัญญาฯ 14,500 ล้านบาท ผู้รับสัมปทาน ต้องจ่ายเงินให้ทอท. เพิ่มอีก 4,500 ล้านบาท ในทางตรงข้ามกัน หากผู้รับสัมปทานขายของดี ยอดขายเพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท จ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่อัตรา 20% เป็นเงิน 16,000 ล้านบาท ให้กับทอท.ไปแล้ว ก็ไม่ต้องมาจากค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้กับทอท.อีก กรณีนี้ Minimum Guarantee ไม่ทำงาน นี่คือ หลักการจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน สำหรับสัญญาที่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนไม่คงที่
และถ้าย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2562 คงจะจำกันได้ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับการอนุมัติจากบอร์ดทอท. ให้เป็นผู้ชนะการประมูลสัมปทานฯ ทุกสนามบิน โดย บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ได้เข้ามาทำสัญญาสัมปทานดิวตี้ฟรีกับทอท. เพราะยื่นข้อเสนอที่จะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ปีแรกให้ทอท. 15,419 ล้านบาท มากกว่าคู่แข่งอย่างกลุ่มล็อตเต้ และกลุ่ม ดูฟรี ดิวตี้ฟรีชั้นนำของโลกเกือบ 2 เท่าตัว
ส่วนสัญญาสัมปทานบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ เป็นผู้ชนะประมูล โดยเสนอจ่ายผลประโยชน์ผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 5,798 ล้านบาท และสัมปทานดิวตี้ฟรีในสนามบินภูมิภาค 3 แห่ง บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เป็นผู้ชนะอีก โดยเสนอจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำปีแรก 2,331 ล้านบาท รวม 3 สัญญา 23,548 ล้านบาท เป็นรายได้ที่นักลงทุนในตลาดฯ รับรู้กันตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วว่า ทอท.จะมีรายได้จากค่าสัมปทานเพิ่มขึ้น ทันทีที่สัญญาสัมปทานฯฉบับใหม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 28 กันยายน 2563 ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574
ปรากฏการณ์ Covid–19 เป็นเหตุผลที่ประชุม บอร์ด ทอท.มีมติ งดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายเดือน และรายปี หรือ Minimum Guarantee จากผู้ประกอบการเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์ต่อไป
งดเก็บค่าตอบแทนขั้นต่ำปี’64 กระทบรายได้ AOT กว่าหมื่นล้าน
ผลประโยชน์ที่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ เคยรับรู้กันว่าในปี 2564 ทอท.จะมีรายได้จากค่าสัมปทานฯเพิ่มขึ้นเป็น 23,500 ล้านบาท วันนี้อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ทอท.เคยแถลงไว้ เพราะยังไม่ทันได้เริ่มเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำปีแรกกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ (วันที่ 28 ก.ย. 63) บอร์ด ทอท.ก็มาสั่งยกเลิกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
เป็นคำถามว่า…นี่เป็นการปล้นเงียบผู้ถือหุ้น และกระทรวงการคลังหรือไม่!!!
ยิ่งกระทรวงการคลัง อาจจะโดน 2 เด้ง ทั้งในฐานะผู้ถือหุ้น และรายได้นำส่งแผ่นดินก็จะหดหายไปด้วย
อีกประเด็น ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่ากลุ่มคิง เพาเวอร์ ชนะการประมูลมาด้วยการเสนอจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ ปีแรก สูงกว่าคู่แข่งเกือบ 2 เท่า ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การตัดสินที่ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด ทอท.และคณะกรรมการคัดเลือก ทอท.ในขณะนั้น แต่ยังไม่ทันได้เริ่มจ่ายเงิน(ซึ่งจะเริ่มจ่ายหลังกันยายน 2563) บอร์ด ทอท. ก็มาสั่งยกเลิก ถือว่าเป็นธรรมกับผู้ประมูลรายอื่นหรือไม่
คำถามถัดมา ทำไมบอร์ด ทอท.ไม่ทำแค่ 6 เดือน เหมือนกับมาตรการกลุ่ม 3 เลื่อนการจ่ายค่าประโยชน์ตอบแทน หรือ ทำแค่ 1 ปี เหมือนกับมาตรการกลุ่มที่ 1 ปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบคงที่ลง 20%
จึงเป็นคำถามว่า…แล้วบอร์ด ทอท.รู้ได้อย่างไรว่าการแพร่ระบาดของCovid– 19 จะมีส่งผลกระทบยาวนานถึง 2 ปี?
ทอท.มีสถานะเป็นทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การดำเนินนโยบายเยียวยา สามารถทำได้ แต่ถ้ามากเกินไปก็อาจจะเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ที่ทำให้ผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ได้
ประเด็นถัดมา เป็นที่ทราบกันดีในวงการว่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินส่วนใหญ่ เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ส่วนผู้ประกอบกิจการ ร้านค้าต่างๆในสนามบิน ไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับ ทอท. ดังนั้น การที่บอร์ด ทอท. มีมติปรับลดค่าผลประโยชน์ตอบแทนแบบคงที่รายเดือนลง 20% จึงเป็นคำถามต่อว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ ฯ ได้ปรับลดอัตราค่าเช่าให้ร้านค้าที่มาเช่าช่วงต่อในสัดส่วนที่เท่ากันหรือไม่ อย่างไร?
ดังนั้นจึงเป็นคำถามดังๆ ว่า “มาตรการเยียวยา” เครื่องมือเอื้อประโยชน์หรือมาตรการอุ้มจริงๆ และถ้ามาตรการอุ้มจริงๆ ต้องยาวนานถึง 2 ปีหรือไม่?
มาตรการเยียวยาไม่ใช่เครื่องมือใหม่
มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการของ ทอท.ครั้งนี้ ไม่ถือเป็นมาตรการใหม่ ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2551 เกิดเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำมวลชนเข้ามาชุมชนประท้วงภายในสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองจนต้องปิดทำการเป็นเวลา 10 วัน (วันที่ 26 พฤศจิกายน – 5 ธันวาคม 2551) ทำให้ผู้เช่าพื้นที่ ผู้ประกอบการ และสายการบิน ได้รับผลกระทบ
ช่วงเดือนเดือนมีนาคม 2552 บอร์ด ทอท.จึงมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิปี 2552โดยการปรับลดค่าตอบแทน และต่อขยายสัญญาให้ผู้ประกอบการทุกรายในสนามบินสุวรรณภูมิออกไปอีก 6 เดือน – 2 ปี
สำหรับมาตรการปรับลดค่าตอบแทน ตามมติบอร์ด ทอท. ในเดือนมีนาคม 2552 นั้น ในกรณีสัญญาที่กำหนดให้ทอท.เรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็น “ร้อยละ” และกำหนดให้ทอท.เรียกเก็บเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำด้วย บอร์ด ทอท.มีมติให้เรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็น “ร้อยละ”ของยอดขายตามสัญญา ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม 2552 ส่วนการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2552 นั้นได้รับการยกเว้น และให้เลื่อนการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในปี 2552 (ได้รับยกเว้น) ไปกำหนดเป็นค่าผลประโยชน์ตอบแทนของปีถัดไปจนครบอายุสัญญา
ส่วนมาตรการต่อขยายอายุสัญญาให้ผู้ประกอบการทุกรายในสนามบินสุวรรณภูมิออกไปอีก 6 เดือน – 2 ปี เฉพาะสัญญาอนุญาตที่มีอายุเกิน 10 ปี บอร์ด ทอท. เห็นชอบให้ขยายอายุสัญญาออกไปอีก 2 ปี
ผลของมาตรการดังกล่าว ทำให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ได้รับการพิจารณาต่อขยายอายุสัญญาออกไปอีก 2 ปี
หลังจากที่ ทอท.ออกมาตรการเยียวยามาได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองขึ้นอีก โดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำมวลชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เหตุการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นจนในไปสูเหตุการณ์สลายการชุมนุมในช่วงต้นปี 2553 หลายประเทศต่าง ๆ ออกประกาศเตือนประชาชนของตนงดเดินทางมาประเทศไทย ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลง ประกอบกับเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ช่วงเดือนเมษายน 2553 ส่งผลให้เที่ยวบินทั้งขาเข้า – ขาออกถูกยกเลิก
ช่วงปลายปี 2553 ทอท.ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบินสุวรรณภูมิ ปี 2553 (เพิ่มเติม) ซึ่งมีทั้งมาตรการปรับลดค่าตอบแทน และต่อขยายสัญญาให้ผู้ประกอบการ โดยมีการยกเว้นเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2553 แต่ยังเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนเป็นร้อยละของยอดขายยอด รวมทั้งขยายอายุสัญญาอนุญาตให้กับผู้ประกอบการออกไปอีก 2 ปี
จากอานิสงส์ของมาตรการดังกล่าว ทำให้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับการพิจารณาขยายอายุสัญญาสัมปทานจนมาสิ้นสุดในวันที่ 27 กันยายน 2563
“ภัทร”ปรับลดคำแนะนำหุ้น AOT เป็น “underperform”
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทรได้ออกบทวิเคราะห์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 โดยได้ปรับลดคาดการณ์ผลการดำเนินงาน AOT ลง พร้อมกับปรับลดคำแนะนำเป็น underperform
โดยบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร ระบุว่า การปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานของทอท.ลง เป็นผลจากการที่รายได้จากการให้สัมปทานลดลง เนื่องจากบริษัทฯ ได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เช่า และผู้ได้รับสัมปทานโดยสมัครใจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสCovid-19
3 ปี กำไรหายกว่า 2 หมื่นล้าน
มาตรการให้ความช่วยเหลือของ ทอท. ที่ประกาศออกมา ถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือมากกว่าที่คาดไว้ จึงส่งผลให้ต้องทำการปรับลดประมาณการเดิมลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2563 ลง 4% ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2564 ลง 31% และปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2565 ลง 23%
บล.ภัทรปรับลดคาดการณ์กำไร AOT ปี 2563 ลงมาที่ 23,043 ล้านบาท จาก 24,057 ล้านบาท หรือ ลดลง 4% ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2564 ลง 31% มาที่ 25,565 ล้านบาท จาก 37,062 ล้านบาท ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2565 ลง 23% มาอยู่ที่ 32,891 ล้านบาทจาก 42,916 ล้านบาท
SOURCE : www.thaipublica.org