เงิน ภาษี เรา เขาเอาไปทำอะไร “งบกลาง” ค้างท่อเกือบ 3 แสนล้านบาท
เปิดตัวเลขการเบิกจ่ายงบกลาง 5.18 แสนล้าน ค้างท่อ 2.89 แสนล้าน เฉพาะงบฯ ฉุกเฉิน-จำเป็น รวมเยียวยา-ป้องกัน จ่ายแล้วแค่ 7,494 ล้าน
ต่อจากตอนที่แล้ว ตามหางบฯ ฉุกเฉิน สู้วิกฤติโควิด -19 วงเงิน 96,000 ล้านบาท คงจะเข้าใจกันแล้วว่า “งบกลาง” ที่รัฐบาลกันไว้ใช้จ่ายในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 518,771 ล้านบาท มี 11 รายการ
แต่เงินนำไปใช้ได้ อยู่ในหมวดงบกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีวงเงิน 96,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือภัยแล้ง น้ำท่วม ณ ขณะนี้เงินก้อนนี้ยังค้างท่ออยู่ประมาณ 88,505.74 ล้านบาท เพราะเงินที่อนุมัติช่วยวิกฤติโควิด-19 เพิ่งอนุมัติเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเดือนเดียวอนุมัติเกลี้ยงทั้ง 96,000 ล้านบาท
สะท้อนลึกๆถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลในการรับมือวิกฤติโควิด-19 อย่างชัดเจน ว่าทำในเชิงรุก หรือเชิงรับ เพราะโควิด-19 แพร่ระบาดมากว่า 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562
ส่วนที่เหลืออีก 10 รายการ ใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 ได้กำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินเอาไว้อย่างชัดเจน
โดยทั้ง 11 รายการได้กำหนดหัวข้อและวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินเอาไว้ชัดเจน การที่จะโยกนำงบฯ ไปใช้จ่ายในวัตถุประสงค์อื่นทำได้ค่อนข้างลำบาก และที่สำคัญ งบกลางแต่ละรายการจะมีเจ้าของจับจองกันไว้หมดแล้ว ยกตัวอย่าง งบฯ รักษาพยาบาล แต่ละปีงบประมาณที่ตั้งไว้ไม่พอจ่าย มีการเบิกเงินก็ต้องไปยืมเงินคงคลังมาใช้ก่อน แล้วก็ตั้งงบฯ มาชดใช้กันในปีถัดไป
สำหรับภาพรวมการใช้จ่ายเงิน “งบกลาง” ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563) ทั้ง 11 รายการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มี 7 รายการ วงเงินเท่าไหร่ และเบิกจ่ายไปแล้วเท่าไหร่ รายละเอียดมีดังนี้
1) ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินวงเงิน 3,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 135.27 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 2,864.73 ล้านบาท ค้างจ่าย 95.45% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
2) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 71,200 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 41,852.66 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 29,347.34 ล้านบาท ค้างจ่าย 41.22% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
3) เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,940 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 2,293.84 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 2,646.16 ล้านบาท ค้างจ่าย 53.57% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
4) เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 265,716 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 148,988.09 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 116,728.22 ล้านบาท ค้างจ่าย 43.93% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
5) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 10,465 ล้านบาท ยังไม้ได้เบิกจ่ายเงิน ค้างจ่าย 100% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
6) เงินสมทบลูกจ้างประจำ 670 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 340.41 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 329.59 ล้านบาท ค้างจ่าย 49.19% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
7) เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ 62,780 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 27,716.75 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 35,063.25 ล้านบาท ค้างจ่าย 55.85% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
งบกลางที่เหลืออีก 100,000 ล้านบาท อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงบประมาณสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีมี 4 รายการ ได้แก่
8) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 386.46 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 613.54 ล้านบาท ค้างจ่าย 61.35% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
9) ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,500 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 55.78 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 2,444.22 ล้านบาท ค้างจ่าย 97.77% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
10) เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 23.51 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 476.49 ล้านบาท ค้างจ่าย 95.30% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
11) เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 7,494.26 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 88,505.74 ล้านบาท ค้างจ่าย 92.19% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
สรุปภาพรวมการเบิกจ่ายจากงบกลางช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 518,771 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 229,287 ล้านบาท ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 289,484 ล้านบาท
ดังนั้นตัวเลขค้างท่ออยู่ประมาณ 289,484 ล้านบาท หรือ ค้างจ่ายอยู่ประมาณ 55.80% ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
ภายใต้ตัวเลขค้างท่อเกือบ 3 แสนล้านบาทนี้ สิ่งที่ต้องเร่งจัดการเบิกจ่ายคืองบฉุกเฉินและจำเป็น 96,000 ล้านบาท ที่ยังค้างท่ออยู่ 88,505 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงบที่ต้องนำไปใช้ในการเยียวยาและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมอยู่ 79,841 ล้านบาท
จึงเป็นคำถามว่าในเมื่อประเทศอยู่ในภาวะวิกฤติ งบฉุกเฉินไม่ควรค้างท่อ ทุกกรมกองต้องทำงานเชิงรุกเชื่อมต่อข้อมูลแบบบูรณาการจริงๆ โรงพยาบาลไหนรับภาระหนักในการดูแลคนป่วย สต็อกเครื่องมืออุปกรณ์เป็นอย่างไร การจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆต้องรวดเร็วฉับไว เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐต้องเอื้ออำนวยความสะดวก แม้ว่าในภาวะคับขันเช่นนี้ การสั่งซื้อสินค้าที่จำเป็นและต้องการใช้จะหายากก็ตาม
อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤติ การบริหารเชิงรุก การสื่อสาร ความร่วมมือร่วมใจสำคัญที่สุด ซึ่งคนไทย ภาคเอกชนไทยกำลังเดินหน้าช่วยกันอย่างเต็มที่ ทั้งบริจาคเงิน บริจาคของ คิดค้นนวตกรรม โรงงานปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อผลิตสินค้าทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ อุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญป้อนให้กับโรงพยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ และประชาชนคนไทยทุกคน
SOURCE : www.thaipublica.org