5 ปรากฏการณ์ใหม่ (New normal) ของโลกหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเชิงการตลาดแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคนี้ถือว่ายากสุดที่จะเปลี่ยนแปลง แต่เพราะโควิด-19 นั้นบีบให้โลกต้องปรับตัวอย่างมาก
5 ปรากฏการณ์ใหม่ (New normal) ของโลกหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเชิงการตลาดแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคนี้ถือว่ายากสุดที่จะเปลี่ยนแปลง แต่เพราะโควิด-19 นั้นบีบให้โลกต้องปรับตัวอย่างมาก
มาตรการและชุดความคิดที่พยายามป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทั้งในช่วงระหว่างและหลังการแพร่ระบาด ที่เรียกกันว่า “New normal” โดยผมขอสรุปเป็น 5 หมวดดังนี้
1.โลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีจะทำลาย (Disrupt) รูปแบบธุรกิจแบบเดิมๆ และธุรกิจดั้งเดิมที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้ อาทิ การเรียนการสอนออนไลน์ แรงงานคนจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีและหุ่นยนต์มากขึ้น ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับแรงงานและผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ธุรกิจเหล่านั้นปรับตัวให้ทันโลกที่หมุนเร็วขึ้น
จะมีการลดคนงานลง เพราะนอกจากคนจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีแล้ว อุตสาหกรรมต่างๆ จะเอาตัวรอดหลังจากวิกฤตินี้ การทำงานที่บ้าน (Work From Home) ทำให้นายจ้างทราบว่าแท้จริงแล้วธุรกิจของตนต้องการแรงงานที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด
2.การซื้อขายออนไลน์จะเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล เพราะวิกฤติบังคับให้ผู้บริโภคจำต้องเดินข้ามกำแพงแห่งความเคยชินเดิมในการจับจ่าย ซึ่งในที่สุดก็จะคุ้นชินและกลายเป็น New normal เทคโนโลยีจะเชื่อมให้ผู้ผลิตต้นทางติดต่อได้โดยตรงกับผู้ซื้อปลายทาง เช่นเดียวกับความคิด From-farm-to-table จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร พ่อค้าคนกลางจะถูกลดบทบาทความสำคัญลง แต่แพลตฟอร์มตลาดออนไลน์และการส่งสินค้าจะเติบโตขึ้น อาทิ การโพสต์ขายสินค้าในกลุ่มสมาชิกต่างๆ ในไลน์หรือเฟซบุ๊ค
ในระยะเวลาอันใกล้ก่อนที่อุปทานจะปรับเข้าสมดุลกับอุปสงค์ใหม่ สินค้าในหมวดหมู่ที่เน่าเสียได้ (Perishable) เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ จะมีราคาลดลงหรือถูกแปรรูปเพื่อถนอมคุณค่ายืดอายุต่อไป ผู้บริโภคจะมีอำนาจในการซื้อของมากขึ้นเพราะผู้ผลิตจำเป็นต้องปรับตัว อาทิ ส่งสินค้าถึงบ้าน แปรรูปสินค้าหรือวัสดุภัณฑ์ให้น่าซื้อ
3. การซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผล เพราะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองและวิกฤติครั้งนี้ที่ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่มีความจำเป็นในชีวิตและอะไรเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นการจับจ่ายใช้สอยด้วยเหตุผลจะเป็นที่นิยมมากกว่าอารมณ์ อาทิ การซื้อที่อยู่อาศัยที่จะเน้นความคุ้มค่ามากกว่าความสวยงามและราคาที่เกินจริง สินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยจะถูกลดลงและเปลี่ยนมาเป็นเงินออม เช่น สินค้าเครื่องประดับราคาแพง ร้านอาหารและคาเฟ่
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง จะได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกตัดลดเป็นอย่างแรกภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง แต่หากสามารถสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้สินค้าหรือบริการที่เน้นความคุ้มค่าเงิน ธุรกิจก็ยังจะสามารถค้าขายดำเนินต่อไปได้
4. สังคมปลอดเชื้อ จะเป็นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติในที่สาธารณะ จะมีมาตรการป้องกันและตรวจหาเชื้อโรคเพื่อป้องกันการระบาดของโรคอื่นๆ ในอนาคต เช่น การรณรงค์เรื่องความสะอาดถูกสุขอนามัยในที่สาธารณะ การตรวจเช็คป้องกันคนไม่สบายในการร่วมกิจกรรมสาธารณะ หรือเดินทางด้วยขนส่งมวลชนสาธารณะและระหว่างประเทศ การทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อในสถานที่สาธารณะจะมีความเข้มข้นขึ้น กิจกรรมรวมตัวในที่สาธารณะ เช่น คอนเสิร์ต การชุมนุม จะมีมาตรการสาธารณสุขใหม่ๆ มารองรับ
5. กิจกรรมบริการจะมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น บริการนวด การเสริมสวย การพบแพทย์หรือรับยาออนไลน์ โดยผ่านการนัดหมายเวลาเพื่อป้องกันการรวมตัวกันโดยไม่จำเป็น เพราะนอกจากเวลาจะเป็นสิ่งที่มีค่าแล้ว ความเสี่ยงในการรวมตัวกันจะถูกลดโดยการนัดหมายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ผมเชื่อว่าธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่คุ้นชินและถูกบังคับให้ปรับตัวกับการระบาดของไวรัสนี้ ถือเป็น New normal ที่จะเอื้ออำนวยต่อผู้ที่พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ครับ
SOURCE : www.bangkokbiznews.com