ในปัจจุบัน เรามักจะพบเห็นสถาปนิก-นักเคลื่อนไหวผู้ออกแบบอาคาร Green Building ที่ได้รับรางวัลรักโลกจำนวนมาก

เราพบเห็นนักเคลื่อนไหวที่อาบน้ำเพียงแค่ 5 ขัน เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (และกลิ่นตัว) เราพบเห็นเอ็นจีโอที่กินแต่ผักเพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้พลังงานอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์

แต่เราก็ยังไม่พบเห็นนักเคลื่อนไหวผู้ใดที่จะยอมเสียสละร่างกายและจิตใจเพื่อการนอนตื่นสายอย่างเคร่งครัดทุกวัน!

สิ่งหนึ่งที่นักอนุรักษ์มักจะมองข้ามอยู่เสมอก็คือ การตื่นนอนไปทำงานพร้อมๆ กัน เป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่

มนุษย์ยุคใหม่ยังคงติดนิสัยตื่นนอนพร้อมๆ กันในตอนเช้า เฉกเช่นในยุคบุกเบิกเกษตรกรรม ที่ต้องตื่นนอนพร้อมกับแสงอรุณ แต่การลุกขึ้นมาทำการเกษตรพร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานเช่นเดียวกับในยุคอุตสาหกรรม เพราะพลังงานที่ใช้ในการเกษตรเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งได้มาฟรีๆ อยู่แล้ว

เราทราบดีว่า หลังจากที่มนุษย์ได้ริเริ่มทยอยเข้าไปทำงานใช้ชีวิตในเมืองเพื่อตอบสนองการผลิตในภาคอุตสาหกรรม สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือโรงงานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือไฟฟ้าจากการหุงต้มน้ำร้อน (โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์)

หากมองในแง่นี้แล้ว การที่มนุษย์ต้องใช้ไฟฟ้าพร้อมๆ กันในตอนกลางวันนั้น ก็หมายความว่าขนาด (หรือจำนวน) ของโรงงานไฟฟ้าจะต้องมีกำลังผลิตพอที่จะตอบสนองความต้องการในช่วงเวลานั้นได้ แม้ว่ามันจะเป็นเสี้ยวเวลาเพียงสั้นๆ (Peak Demand) ก็ตาม

ในประเทศหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จะต้องมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงของวัน ช่วงเวลาที่ทุกคนเคลื่อนพลไปทำงานพร้อมกัน และเคลื่อนพลออกจากงานพร้อมๆ กัน

ในโลกปัจจุบัน กราฟของการใช้ไฟฟ้าในเมืองใหญ่ มักจะมีลักษณะรูปร่างคล้ายภูเขา คือจะมียอดเขา Peak Demand อยู่ในช่วงเวลากลางวัน เวลาที่จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แสงไฟ และพลังงาน ในการผลิตอุตสาหกรรม และในออฟฟิศ มากที่สุด

แน่นอน อุตสหกรรมหนักบางชนิดจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากพร้อมๆ กัน แต่อุตสาหกรรมและธุรกิจบริการอีกหลายประเภท (อย่างเช่นในย่านพัฒน์พงศ์ของกรุงเทพฯ) ก็ไม่จำเป็นต้องทำในเวลากลางวันเสมอไป

ในช่วงวิกฤติพลังงานเมื่อปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศให้อุตสาหกรรมในเมืองเซี่ยงไฮ้จำนวนหลายร้อยแห่งไปทำงานในเวลากลางคืน

ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นมาตรการที่สามารถลด Peak Demand ได้อย่างเฉียบขาดที่สุด ทางรัฐบาลตระหนักดีว่าประเทศจีนมีจำนวนโรงงานไฟฟ้าที่จำกัด และไม่อาจสร้างเพิ่มให้ท่วงทันการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจได้

สำหรับประเทศจีนแล้ว การทำงานในเวลากลางคืนไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในบรรดาคณะปฎิวัติผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีผู้หลับนอนในเวลาเช้าหลายท่านอย่างเช่น ประธานเหมา เจ๋อตุง และ นายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ผู้ทำงานจนถึงเวลาตีห้า แล้วจึงเข้านอน

การที่มนุษย์จะต้องเร่งรีบออกไปทำงานพร้อมกันนั้น อาจจะเป็นสิ่งหลงยุคที่ยังไม่ได้ถูกคัดสรรออกไปจากความชินชา

ในประเทศเดนมาร์ก มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวจำนวนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า B-Society พวกเขามองว่าลักษณะทางชีวภาพและ Biological Clock ของมนุษย์แต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนตื่นเช้า-นอนเร็ว บางคนตื่นสาย-นอนดึก

พวกเขาสังเกตว่า หากบังคับให้คนชอบนอนเร็วทำงานในช่วงดึก คนเหล่านี้จะไม่สามารถทำงานได้เลย ในขณะเดียวกันหากเอาคนที่มีลักษณะนอนดึก-ตื่นสายมาทำงานตอนเช้า พวกเขาก็จะไม่สามารถทำงานได้เช่นกัน

บริษัทระดับโลกอย่าง Google และ Apple จะให้พนักงานเลือกมาทำงานเวลาไหนก็ได้ เพียงแต่จะต้องมีผลงานแสดงให้เห็นเท่านั้นว่าได้ทำงานอย่างสร้างสรรค์และมีคุณภาพ เรื่องเวลาเป็นเรื่องที่พนักงานบริษัทสามารถบริหารจัดการกันเองได้

ประเทศที่ขยันตื่นเช้ามาทำอุตสาหกรรมส่งออก (ค่าแรงต่ำ) แม้จะผลิตคอมพิวเตอร์ออกมาได้ 1,000,000 เครื่อง ก็ยังมีมูลค่าสู้เศษกระดาษ “อัลกอรึทึม” แผ่นเดียวของนักเลงคอมฯ ผู้นอนดึก-ตื่นบ่ายไม่ได้

ในยุคปัจจุบัน เรากำลังพบว่า “มูลค่าความคิด” ของพลเมืองนั้นมีค่ามากกว่ามูลค่าของค่าเช่าห้าง ค่าเช่าโรงแรม หรือจำนวนสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด

จึงเป็นคำถามว่า ทางภาครัฐจะจัดโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือให้พลเมืองและเยาวชนสร้างมูลค่าทางความคิดขึ้นมาได้อย่างไร (ทำไมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมจึงต้องไปตั้งอยู่กลางทุ่งรังสิตที่ระบบขนส่งมวลชนเข้าไม่ถึง ในขณะที่ห้างหรูสามารถตั้งอยู่ติดรถไฟฟ้าได้ทุกสถานี!)

แสดงว่าเรากำลังตีมูลค่าของเมืองตามระบบเก่า ที่มีมูลค่าของอัตราค่าเช่าและมูลค่าสินค้าเป็นตัวตั้ง

ทางภาครัฐอาจจะทำนโยบาย TOU (Time of Use) ให้ถี่ขึ้นเป็นอัตราต่อชั่วโมง ล้อไปตามกราฟของการใช้ไฟฟ้าจริง แทนที่จะมีเพียงสองอัตราแบบ On Peak และ Off Peak ทั้งนี้เพื่อตัดพื้นที่ “แรเงา” (มีหน่วยเป็น price/kW) ส่วนเกินที่ไม่ได้อิงกับ demand จริงๆ ในช่วงเวลานั้นๆ ออกไป

การทำ TOU เป็นรายชั่วโมงจะสามารถจูงใจบริษัทที่เล็งเห็นความยืดหยุ่นทางเวลาเป็นกำไร

บริษัทรถไฟฟ้าอาจจะสามารถจ่ายค่าไฟถูกลงในชั่วโมงไม่เร่งด่วน (ทางรถไฟฟ้าก็สามารถมีอัตราตั๋วถูกในชั่วโมงไม่เร่งด่วนได้) …. บริษัทออกแบบสถาปัตย์ฯ อาจจะเริ่มงานเวลาสองทุ่มถึงตีสี่ยกเว้นวันที่มีประชุมกับลูกค้า … บริษัทหนังสือพิมพ์อาจจะหันมาเปิดเครื่องพิมพ์ตอนตีสาม (แทนที่จะพิมพ์ตอนเที่ยง) … นิติบุคคลคอนโดฯ และโรงแรมทั่วประเทศอาจจะหันมาเปิดเครื่องซัก-อบผ้ากันหลังเที่ยงคืน แทนที่จะเปิดเครื่องตอนบ่ายสอง… ฯลฯ

ถ้ามีคนใช้ TOU รายชั่วโมงที่กระจายตัวมากขึ้น demand กราฟตัวใหม่ก็จะมีลักษณะที่ราบลงได้ โดยจะมี peak ต่ำลงโดยรวม ซึ่งหมายความว่าจำนวนโรงงานไฟฟ้าที่จะต้องเปิดพร้อมๆ กันในวันหนึ่ง ก็จะน้อยลงได้ด้วย

การที่พนักงานมาทำงานในเวลา 09.00 น. พร้อมๆ กันก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะสามารถสื่อสารกันได้ในเวลานั้นเสมอไป หากเราลองโทรศัพท์ติดต่อลูกค้าหรือเพื่อนคนใดคนหนึ่งในเวลาเช้าวันจันทร์ เราจะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ยากลำบากมากที่จะเข้าถึงตัวเขาได้ทันที เราอาจจะไม่สามารถติดต่อเขาผ่านทางโทรศัพท์ได้เลยในวันนั้น

ในขณะเดียวกัน ถ้าเราลองส่ง Chat สั้นๆ ไปให้เขาผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เราจะพบว่า เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เราก็จะได้คำตอบจากเพื่อนของเรา ดังนั้น การมาทำงานในเวลาที่เหลื่อมกันบ้างจึงไม่ใช่สิ่งที่มีผลต่อการสื่อสารในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในธุรกิจที่เน้นการ “คิด” มากกว่าการผลิตสินค้าส่งออก

การสื่อสารส่วนใหญ่ในบริษัทยุคใหม่ก็จะทำโดยใช้การส่งข้อความทางอีเมลหรือ text message แต่ถ้าเป็นเรื่องด่วนมาก ก็จะมีการใช้โทรศัพท์ติดต่อ

บริษัท Nielsen ผู้นำในการวิจัยข้อมูลสำหรับผู้บริโภค ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการใช้โทรศัพท์ของมนุษย์ได้ลดลงอย่างน่าตกใจช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่นิยมทำธุรกิจด้วยการส่งข้อความทางมือถือ (อีเมลและ chat) มากกว่าการโทรศัพท์พูดคุย เพราะการโทรศัพท์นั้นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงตัวได้ทันที ต้องถามอยู่เสมอว่า “ว่างคุยไหมครับ”

ถ้าเขาไม่ว่าง เราก็อาจจะต้องรออีกครึ่งชั่วโมง (ตามมารยาท) เพื่อจะโทรกลับไปคุยอีกที ทั้งที่จริงๆ แล้วเขาอาจจะว่างคุย 5 นาทีหลังจากนั้นก็ได้

การส่งข้อความ Line หรือ Chat จากมือถือจึงเป็นการสื่อสารที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้โทรศัพท์ (เรื่องประเภทนี้เด็กวัยรุ่นและนักล่า “กิ๊ก” จะเข้าใจดีกว่านักธุรกิจรุ่นเก่า)

การตื่นและการนอนของผู้คนในสังคมเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการเผาผลาญทรัพยากรและพลังงานจำนวนมหาศาล

การตื่นนอนไม่ใช่เรื่องเดิมๆ ที่ควรกระทำไปตามประเพณีโบราณ แต่ควรมีการศึกษากันอย่างจริงจังว่าระบบการตื่นเช้า (ขยัน) ไปทำงานพร้อมๆ นั้นมันมีรากฐานมาจากที่ใดกันแน่

การตื่นนอนไม่ใช่ Art แต่เป็น Science

อีกไม่นาน เราอาจจะได้เห็นนักเคลื่อนไหวสายพันธุ์ใหม่ ผู้เสียสละตื่นสายเพื่ออนุรักษ์พลังงานและปกป้องทรัพยากรของโลกก็ได้ อีกไม่นาน เราอาจจะต้องยืนตัวตรง เพื่อทำพิธีติดเหรียญเกียรติยศให้นักเขียน (หัวราน้ำ) ผู้ตื่นนอนมาพร้อมกับแสงแดดยามเย็นก็ได้ … อย่างน้อยที่สุด คนอย่างเขาก็ได้มีส่วนลด Peak Demand ของการใช้พลังงานในเมืองไปได้มาก

SOURCE : www.thaipublica.org