โกงไปไม่โต
ทุกวันนี้ ในขณะที่สังคมไทยทางหนึ่งกำลังสอนว่า “โตไปไม่โกง” และก็พยายามวางระบบกลไกต่างๆ เท่าที่จะเห็นว่าจะช่วยขจัดคอร์รัปชันได้ ดูเหมือนคนอีกกลุ่มก็กำลังดิ้นรนไม่แพ้กันที่จะเผยแพร่ความเห็นไปในทางตรงกันข้ามว่า คอร์รัปชันนั้น ถ้าวางระบบตรวจสอบกันมากๆ เมื่อไหร่ ผลที่เกิดไม่ใช่ว่าคอร์รัปชันจะหาย แต่จะกลายเป็นว่าประเทศจะยิ่งไม่เจริญ เพราะการลงทุนชักช้าหรือติดขัดไปทั้งหมด ด้วยขั้นตอนที่เกิดจากระบบที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบ
อย่างเรื่องการเปิดเผยข้อมูลตามหลักการของข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) หรือของ Construction Sector Transparency Initiative (CoST) ที่รัฐบาลกำลังจะนำมาใช้กับโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่หลายโครงการนั้น ขณะนี้ก็เริ่มได้ข่าวว่ามี “ผู้หวังดี” หลายคนเข้ามาแนะรัฐบาลว่าอย่าเอามาใช้เลย เดี๋ยวจะทำให้โปรเจกต์ต่างๆ ล่าช้าไปทั้งหมด มัวมาเปิดเผยข้อมูลกันอยู่ แล้วเมื่อไหร่จะได้ซื้อรถไฟ รถเมล์ ฯลฯ ที่กำลังขาดแคลน ประชาชนตาดำๆ จะพากันตกทุกข์ได้ยาก ไม่สมควร
เรื่องนี้ ฟังทีแรกก็รู้สึกทุเรศเต็มที เพราะเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้คนรู้สึกว่าการเปิดเผยข้อมูลมาสร้างขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นในการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งที่ความจริง ระบบพวกนี้เขาไม่ได้แตะต้องกระบวนการเดิมแต่อย่างใด เคยทำอะไรก็ทำไป เพียงแต่ขอให้อะไรที่เคยทำแล้วเป็นความลับ ให้มันกลายเป็นความแจ้ง ถ้าจะมีอะไรทำให้ล่าช้า สิ่งนั้นก็คือความผิดปกติที่ทำให้ต้องชะลอโครงการเพื่อตรวจสอบ ไม่ใช่การเปิดเผยข้อมูล อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนไทยอาจจะต้องทำใจกันให้ได้เนิ่นๆ ก็คือ ไม่ว่าการต้านคอร์รัปชันจะทำให้เกิดความล่าช้าหรือไม่ แต่การต้านคอร์รัปชันจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจแน่นอน
อันที่จริง ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นที่ต้องทำใจยอมรับ ชาติไหนๆ ที่ต้องการจะปราบคอร์รัปชันหลังจากใช้บริการมันมานานปีก็ต้องทำใจอย่างนี้ทั้งสิ้น ประเทศจีนเองนั้น หลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศสงครามกับคอร์รัปชัน ธุรกิจทั้งหลายที่เคยงอกอยู่บนคอร์รัปชันก็พากันเฉาลงทั้งหมด โรงแรม ร้านขายของฟุ่มเฟือย หรือภัตตาคารแพงระยับต่างๆ ขายไม่ออก ซ่องหรือร้านคาราโอเกะที่เคยรองรับเจ้าหน้าที่กังฉินกระเป๋าหนักบัดนี้ได้แต่เงียบเหงา ผู้ผลิตถุงยางรายหนึ่งประเมินว่า ยอดการใช้ถุงยางตกลงเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านชิ้นต่อวันในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระทั่งบ่อนในมาเก๊า แหล่งบันเทิงสำคัญของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ยังโอดว่ารายได้ตกลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ยิ่งกว่านั้น พอปราบโกงแล้ว การลงทุนใหญ่ๆ ในจีนหลายโครงการก็เลยหยุดชะงักไปเป็นอันมาก ซึ่งนี่ไม่ใช่เพราะว่าระบบการต้านคอร์รัปชันมาสร้างความล่าช้า แต่เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ไม่กล้าเซ็นอนุมัติส่งเดชเหมือนแต่ก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่เซ็นส่งเดชถูกปลดไปแล้วยังหาคนมาทำงานแทนไม่ได้ แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ สรุปรวมได้ว่าผลจากงานปราบคอร์รัปชันของจีนได้ทำให้อัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ผ่านมาของจีนตกลงเหลือเพียงร้อยละ 7.3 ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในรอบห้าปี และได้สร้างความกดดันให้กับรัฐบาลจีนอย่างมาก
แต่รัฐบาลจีนก็ดูเหมือนจะไม่สน เพราะในการประชุมใหญ่ Fourth Plenum ที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์ได้ออกแถลงการณ์มาเลยว่า การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องสำคัญสุดของพรรคในขณะนี้ เรื่องสำคัญคือทำอย่างไรจึงจะปราบคอร์รัปชันได้ ซึ่งนี่ถือเป็นความกล้าหาญทางการเมืองอย่างมาก เพราะระบอบเผด็จการแบบจีนนั้น ส่วนใหญ่ประชาชนยอมรับได้ทั้งที่กดขี่สารพัด ก็เพราะฝีมือในการสร้างเศรษฐกิจ และในเมื่อระบบเศรษฐกิจของจีนผูกโยงอยู่กับการจ่ายใต้โต๊ะมานาน การปราบคอร์รัปชันก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นโดยไม่กระทบการเติบโต
แต่ในอีกแง่หนึ่ง การติดสินใจนี้ก็เป็นเรื่องชาญฉลาดอย่างมากเช่นกัน เพราะไม่ว่าการปราบคอร์รัปชันจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร แต่รับรองว่าจะไม่กระทบไปได้มากกว่าความฉิบหายที่จะเกิดขึ้นจากการไม่แก้คอร์รัปชัน ระบบเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงด้วยเงินสินบนนั้น ให้เติบโตเท่าไหร่ๆ ก็เป็นเรื่องทำลายตัวเอง เพราะทรัพยากรไหลไปตามตัณหาและความโง่ของนักการเมืองมากกว่าความจำเป็น โครงการที่ควรทำก็ไม่ทำ ไพล่ไปทำแต่เรื่องที่กินได้มาก
ยิ่งกว่านั้นในเมื่อเรื่องที่กินได้มาก มักจะเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างระบบคมนาคม พลังงาน การสื่อสาร พอโกงกันเสียจนง่อยในเรื่องเหล่านี้ ภาคส่วนอื่นๆ ของประเทศที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานในการประกอบธุรกิจต่อเนื่องกันไปก็เลยพลอยเปลี้ยไปด้วย ในทางตรงกันข้าม หากแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ แม้ในระยะสั้น เศรษฐกิจจะเฉาไปบ้าง แต่ในระยะยาว ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศก็จะพุ่งไปได้โดยไม่ถูกจำกัด
แล้วนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องอนุมานกันไปเอง แต่ก็มีหลักฐานยืนยัน นิตยสารอีโคโนมิสต์บอกว่า ในจีนนั้น ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการรณรงค์ปราบคอร์รัปชันมาแล้ว แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดที่ทำในยุคนี้ กล่าวคือการตรวจสอบการทุจริตของปักกิ่งในปี 1995 และของเซียะเหมินในปี 1999 ซึ่งทีแรกดูเหมือนจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงร้อยละสามจุดเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าทั้งสองเมืองก็ฟื้นตัวได้ในระยะเวลาไม่นาน นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยบอกอีกว่าท้องถิ่นใดของจีนที่ต่อต้านคอร์รัปชันอย่างแข็งขันมักจะมีรายได้มากกว่าท้องถิ่นที่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่อีกด้วย
สรุปว่าขณะนี้ ผู้นำของเมืองจีนเขาได้เลือกกันแล้วว่าอยากจะสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบแบบไหน ฉาบฉวยหรือมั่นคงเพียงใด
ไม่รู้ว่าผู้นำเมืองไทยและบรรดารัฐมนตรีท่านได้เลือกแล้วหรือยัง
SOURCE : www.thaipublica.org