"ฟรีอินเทอร์เน็ตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเชิงดิจิทัลในโลกหลังโควิด-19"
ไทยต้องเตรียมประเทศให้สามารถทนและฟื้นตัวได้จากสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นได้อีก การมีฟรีอินเทอร์เน็ตที่จะทำให้คนไทยไม่ว่าจะมีรายได้ระดับใดหรืออยู่ที่ใหนสามารถศึกษาเรียนรู้, ใช้บริการภาครัฐ, ใช้บริการสาธารณสุข, ทำธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ, และทำงานทางไกลเมื่อทำได้ ซึ่งจะช่วยลดมลภาวะและลดการใช้พลังงาน โดยอาศัยเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นตัวแทนของทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน
แจ๊ค หม่า ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ CGTN ออกอากาศเดือนพฤษภาคม 2020
" ...จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในระบบเศรษฐกิจทั้งของจีนและของโลกหลังจากการระบาดของโควิด-19 อินเทอร์เน็ตเคยเป็นแค่สิ่งที่ช่วยปรับปรุงวิธีการทำงาน แต่กำลังจะกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาองค์กรธุรกิจ เมื่อกลับไปเริ่มทำงานปกติจะไม่มีข้อสงสัยเลยว่าธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตจะเป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด อินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก อินเทอร์เน็ตคือเทคโนโลยีสำหรับอนาคตที่ผนวกระบบเศรษฐกิจจริง(ด้านการผลิต)กับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานไฟฟ้าเคยเป็นแกนการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตอย่างไร ขณะนี้อินเทอร์เน็ตก็กำลังทำบทบาทเช่นนั้น การอยู่โดยไม่มีอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นไปไม่ได้แล้วสำหรับประเทศ, ธุรกิจ, หรือมนุษย์ในวันนี้ การระบาดทั่วโลกได้ส่งสัญญาณแรงมากต่อระบบเศรษฐกิจโลก, ผู้กำหนดนโยบาย, และผู้ประกอบการในจีน และพิสูจน์ให้เห็นว่าเราต้องปรับปรุงเศรษฐกิจผ่านเทคโนโลยี..."
ในยุคของการระบาดโรคโควิด-19 สิ่งที่ต้องหาคำตอบคือการทำให้ไทยสามารถผ่านวิกฤตโลกครั้งนี้ และจะต้องทำอย่างไรสำหรับครั้งต่อไปที่อาจมีการระบาดแบบนี้เกิดขึ้นอีก ทางเลือกที่ต้องพิจารณารวมถึงการสร้างระบบสังคมและเศรษฐกิจที่สามารถจะทนผลกระทบแบบนี้และกลับมาอยู่รอดต่อได้ (resilence) ระบบสังคมแบบนี้ต้องอาศัยการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ แต่ก็ต้องลดการผูกพันกับภายนอก (decoupling) อีกทั้งจะต้องเป็นระบบแบบพึ่งตนเองได้ในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค (sustainable local and regional) กว่าโครงสร้างแบบเดิมที่มุ่งประสิทธิภาพการผลิตและบริโภคจนขาดสมดุลย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
ระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 ประชาชนทั่วไปได้เห็นการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิทัลกับการทำงานแทบทุกประเภทได้เกิดขึ้นเร็วมาก เริ่มตั้งแต่การใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับการประชุมทางไกลและการศึกษา ไปถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเป็นการขายสินค้าและอาหารออนไลน์ และการใช้ประโยชน์ของระบบขนส่งย่อยในรูปมอเตอร์ไซค์และรถส่งของที่ติดต่อออนไลน์ งานสำคัญยิ่งอย่างต่อไปคือการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อพบหรือปรึกษาแพทย์ทางไกล อันจะทำให้บริการสาธารณสุขครอบคลุมได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะทำผ่านมือถือ, WIFI, ดาวเทียมหรือสายสื่อสารแบบใดจะมีประเด็นสำคัญคือใครเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่ออินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นสาธารณูปโภคแบบหนึ่งไปแล้ว การให้ประชาชนซื้อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเองตามกำลังทรัพย์อาจไม่สร้างประโยชน์สูงสุดให้สังคม เพราะจะเปิดให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ดีกับกลุ่มที่เข้าถึงไม่ได้หรือได้แต่จำกัด ซึ่งก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงดิจิทัล (digital divide) ที่พูดกันมาไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีแล้ว แต่วันนี้ได้กลายเป็นเรื่องใกล้กับชีวิตประจำวัน, การศึกษา, สาธารณสุข, และการทำงานของทุกคนมากกว่าเมื่อก่อน
เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคือ โครงการ Starlink ของ Elon Musk กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตในทุกจุดทั่วโลกภายในปี 2021 โดยเริ่มจากฝูงดาวเทียมจิ๋ว (microsatellite) ที่วงโคจรต่ำประมาณ 500 กม. โดยเริ่มปล่อยดาวเทียมสี่พันดวง(จากสี่หมื่นดวงตามแผนระยะยาว) ให้บริการแบบภายใต้ foot print ของฝูงดาวเทียมที่จะให้สัญญาณคุณภาพสูงและเมื่อดาวเทียมตกจากวงโคจรก็ เพียงแต่ต้องมีการส่งตัวใหม่ขึ้นไปทดแทนเป็นระยะๆ ลดความจำเป็นของการมี mobile cell site ภาคพื้นดิน
เป้าหมายของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติในประเทศส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา คือการเปิดโอกาสเพื่อการศึกษา, การสื่อสาร, และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศจากทุกภาคส่วน การเข้าถึงบรอดแบนด์คือขั้นตอนแรกในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตซึ่งกลายเป็นเครื่องมือหลักของการทำให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ โดยช่วยขยายกรอบของการทำธุรกิจและการตลาด จนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ไปแล้ว
UN's International Telecommunication Union (ITU) ประมาณว่าเมื่อสิ้นปี 2018 มีประชากรโลก 7 พันล้านคน ซึ่งมีเพียง 51% เท่านั้นที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และตามรายงานขององค์กร The World Wide Web Foundation พบว่า"ความสามารถในการจ่าย" คืออุปสรรคสำคัญที่สุดของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยให้นิยามราคาที่สามารถจ่ายได้ว่า "ไม่เกินสองเปอร์เซ็นต์ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชากรต่อข้อมูลหนึ่งกิกะไบต์ (หนึ่งพันล้านตัวอักษร)" ประมาณว่ามีคนไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคนในโลกที่ยังไม่สามารถจ่ายเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ในวันนี้
คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้จะมีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆเมื่อเทคโนโลยีราคาถูกลง อย่างไรก็ตามการขยายบริการอินเทอร์เน็ตได้ค่อยๆช้าลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่าน ซึ่งอาจเป็นเครื่องเตือนว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบทั่วถึงทุกคนอาจไม่เกิดขึ้นได้เองหากไม่มีการสนับสนุนจากนานาชาติแก่ประเทศที่ยากจน งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมกล่าวว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบทั่วถึงทุกคนไม่ได้จำเป็นต้องแพง -- การสืบค้นข้อมูล, การร่วมกลุ่มออนไลน์, หรือการส่งและรับอีเมล ไม่ได้ต้องการเทคโนโลยีแบบล่าสุด แต่น่าจะเป็นเช่นกับการบริการสาธารณสุขที่เริ่มแบบเบื้องต้นแล้วจึงขยายผลต่อๆไป แน่นอนว่าจะยังมีประเด็นที่จะต้องหาทางแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัย, การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล, และการรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคล โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการให้บริการฟรีอินเทอร์เน็ต
รายงานวิจัยของ Center for Economics and Business Research ได้กล่าวถึงประเทศอังกฤษว่าในปี 2019 การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงได้จากทุกที่จะมีผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ ประมาณว่าต่อปีจะลดการเดินทางไปทำงานได้ถึง 300 ล้านเที่ยว, ลดระยะทางที่ต้องเดินทางโดยรถยนต์ได้ถึง 3 พันล้านกม., และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 0.36 ล้านตัน และเครือข่ายแบบสายใยแก้วถึงบ้าน (full-fiber broadband) จะสามารถเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจชนบทได้ถึง 59 ล้านปอนด์ภายในปี 2025 จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มอีกห้าแสนคน และทำให้ประชากรอังกฤษสามารถกลับไปอยู่ในถิ่นชนบทโดยยังทำงานเดิมได้เหมือนอยู่ในเมืองใหญ่ ปัจจุบันอังกฤษมีบ้านเพียง 8-10% ที่ต่อเครือข่ายใยแก้วถึงบ้าน เทียบกับบ้านในญี่ปุ่นซึ่งมีถึง 97% และในเกาหลีใต้ซึ่งมีถึง 98% อย่างไรก็ตามเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นสายใยแก้วถึงบ้าน เพราะยังมี fixed wireless และดาวเทียม เป็นทางเลือกแม้อาจจะไม่เร็วเท่า
งานวิจัยในปี 2019 ของมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษแสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ความเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตทำให้สังคมโดยรวมต้องแสดงความรับผิดชอบ เช่น: ขบวนการ #Me Too เมื่อปี 2018 ทำให้โลกได้เห็นความรุนแรงต่อเพศหญิงในสังคมที่เพศชายที่มีอำนาจ และ ขบวนการ #Black lives matter ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2020 จากหลักฐานที่เป็นวิดิโอแสดงถึงความอยุติธรรมและความรุนแรงต่อคนอเมริกันเชื้อสายอัฟริกัน
การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแบบไม่มีค่าใช้จ่าย (ฟรีอินเทอร์เน็ต) ในหลายประเทศถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งไปแล้ว เพราะหากประชาชนไม่สามารถเข้าสู่โลกออนไลน์ ก็จะทำให้ขาดวิธีการส่งข่าวสารต่อผู้คนที่จะช่วยพวกเขาในการแก้ปัญหา การมีส่วนร่วมในทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ เสรีภาพพื้นฐานต่างๆที่อาจถูกมองข้ามไปเช่นเสรีภาพในการแสดงออก, เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร, และเสรีภาพในการรวมกลุ่ม จะไม่เท่าเทียมกันหากคนบางส่วนเข้าถึงได้ขณะที่คนส่วนอื่นเข้าถึงไม่ได้
ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายให้รัฐรองรับค่าใช้จ่ายเพื่อประกันสิทธิมนุษยชนประเภทนี้สำหรับประชากรของตน ตัวอย่างเช่น:
2001 ประเทศเอสโตเนีย ประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน
2009 ประเทศฝรั่งเศส ศาลสูงสุดประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน
2010 ประเทศฟินแลนด์ ได้ประกาศสิทธิตามกฎหมายของประชาชนในการเข้าถึงสาธารณูปโภคที่รัฐให้บริการ นั้นรวมการเข้าถึงเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง ซึ่งโดยนัยคือการสามารถเข้าอินเทอร์เน็ตจากที่ใดก็ได้ที่บรอดแบนด์ครอบคลุม
2015 องค์การสหประชาชาติ ระบุการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับสากลเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (UN Sustainable Development Goals)
2016 United Nations Human Rights Council ประกาศยืนยันว่าสิทธิใดๆที่ประชาชนของประเทศสมาชิกได้รับในทาง offline ย่อมต้องได้รับการปกป้องสิทธินั้นในทาง online ด้วย
2017 ประเทศแคนาดา ประกาศให้อินเทอร์เน็ตเป็นบริการที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิต ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิจะได้รับ
2019 รัฐเคราลา อินเดีย ได้ประกาศว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงทุกคน เป็นสิทธิมนุษยชน และตั้งเป้าที่จะครอบคลุมประชากร 35 ล้านคน ภายในปี 2019
2019 ประเทศอังกฤษ พรรคกรรมกรได้หาเสียงด้วยการประกาศว่าจะมีเครือข่ายใยแก้วถึงบ้าน ไปยัง 15-18 ล้านครัวเรือน โดยใช้งบประมาณ 15 พันล้านปอนด์ (พรรคอนุรักษ์นิยมได้เสนอแบบเดียวกันที่ระดับเล็กกว่าโดยใช้งบ 5 พันล้านปอนด์) และมีค่าใช้จ่ายประมาณ 230 ล้านปอนด์ต่อปีสำหรับบำรุงรักษาเครือข่าย
2020 สหภาพยุโรปได้เปิดตัวโครงการ WiFi4EU เพื่อให้ประชากรในทุกหมู่บ้านและเมืองในยุโรปมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านไวไฟแบบไม่ต้องเสียเงินในกิจกรรมหลักที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ภายในปี 2020
สรุป: ประเทศที่เข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการใช้อินเทอร์เน็ตในการสร้างนวัตกรรมที่ก่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ, สังคม, และสิ่งแวดล้อม จะเป็นประเทศที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและทำให้โอกาสของการพัฒนาประเทศไปสู่สังคมที่พึงปราถนาตามนโยบายของประเทศนั้นๆเป็นไปได้ก่อนประเทศอื่น บทบาทหลักของพวกเราประชาชนที่เป็นผู้ให้ความเห็นชอบกับนโยบายที่เป็นการเตรียมการสำหรับอนาคตคือ "การไม่ทำให้เกิดอันตราย (do no harm)" พร้อมไปกับการเตรียมสภาพโครงสร้างพื้นฐานในการดำรงชีวิตสำหรับประชาชนรุ่นต่อไป การที่รัฐจะเป็นผู้ให้บริการหรือสนับสนุนเอกชนมาให้บริการแก่สังคมในเรื่องการเข้าถึงและการใช้ฟรีอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศก็เป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง
บทความสำหรับคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
วันพุธ ที่ 17 มิถุนายน
ดร รอม หิรัญพฤกษ์
SOURCE : www.thaipost.net