8 New Normal ความปกติใหม่ที่คุ้นเคย
เมื่อโควิดเข้ามาทำให้ชีวิตผู้คนทั่วโลกให้แยกจากกัน ปิดกั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ตลอดจนบุคคล ก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และเมื่อทำซ้ำอย่างต่อเนื่องกลายเป็นความปกติใหม่ที่คุ้นเคย (New Normal) สิ่งนี้ได้เขย่าประวัติศาสตร์โลกยุคดิจิทัลอย่างไร จะมีเทรนด์อะไรตามมาบ้าง หลังจากการสิ้นสุดลงของโควิด
1. การย้อนกลับถิ่นฐานการผลิต
จากการปิดประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้หลายประเทศที่ไม่ฐานการผลิตภายในต้องพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศได้รับผลกระทบตามมามากมาย ซึ่งฐานการผลิตที่สำคัญของโลกก็คือ จีน ดังนั้นแนวคิดเรื่องการกระจายกำลังการผลิตไปยังที่อื่น เพื่อบริหารความเสี่ยงจึงมีมากขึ้น รวมถึงแนวคิดในการพึ่งพาตัวเองของแต่ละประเทศ ทำให้หลายธุรกิจเริ่มสร้างฐานการผลิตภายในท้องถิ่นและหาแหล่งผลิตที่ไม่ได้พึ่งพาเพียงแค่ประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป
2. Digital Takeover เทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องปกติของชีวิต
เพราะโควิดได้เร่งปฏิกิริยาให้คนหันมาใช้ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอนาคตเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นเสมือนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐพึงมีให้แก่ประชาชน เช่นเดียวกับน้ำประปาหรือไฟฟ้า จากการวิจัยในช่วงโควิดพบว่ามีการใช้แฟลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มขึ้น ในการทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนออนไลน์ หัดทำอาหาร ออกกำลังกาย รวมไปถึงการหากิจกรรมทำในรูปแบบ Virtual การมี e-Market Place ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว การสั่งออนไลน์เดลิเวอร์รี่ที่เพิ่มแบบก้าวกระโดด นอกจากนี้ในเรื่องของ Untact- Relationship หรือการลดสัมผัสต่างๆ ทำให้มีการเปิดรับการใช้เทคโนโลยี ลดการใช้คน แทนการสื่อสารแบบ Face to Face รวมไปถึงการเป็น Cashless Society ด้วยการใช้เงินดิจิทัลผ่านการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านแอปพลิเคชัน , e-Payment , บัตรเครดิต และ Mobile Banking
3. รูปแบบการทำงานเปลี่ยน
การทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home จะกลายเป็นเรื่องปกติ หลายบริษัทจะปลดล็อคให้อิสระพนักงานในการทำงานอยู่ที่บ้านมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเช้าออฟฟิศทุกวันหรือไม่ต้องเข้าออฟฟิศเลย ทำให้บริษัทลดภาระในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าอาคารสำนักงานที่ไม่ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา รวมไปถึงอุปกรณ์สำนักงาน ส่วนพื้นที่ที่เหลือก็สามารถนำมาปล่อยเช่าเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ขณะที่บางบริษัทที่พนักงานยังจำเป็นจะต้องเข้าออฟฟิศก็จะมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เป็นแบบปิดมากขึ้น เช่น มีพาร์ทิชั่นกั้นระหว่างโต๊ะทำงาน โดยไม่เปิดโล่งเหมือนแต่ก่อน ในส่วนการประชุมออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเจอกันที่ออฟฟิศอีกต่อไป
4. การจ้างงานเปลี่ยน
หลังจากนี้จะเป็นโอกาสทองของคนเก่ง เพราะบริษัทสามารถเลือกจ้างคนเก่งมีฝีมือจากที่ไหนก็ได้ในโลก เป็นการเปิดโอกาสให้คนมีฝีมือสามารถรับงานโดยไม่จำกัดในเรื่องระยะทางและสถานที่ ต่อไปการจ้างงานจะเปลี่ยนจากการจ้างเป็นรายเดือนสู่การจ้างเป็นชิ้นงานแทนหรือที่เรียกว่า GIG Economy มากขึ้น เป็นการทำงานแบบชั่วคราว เปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงาน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินและสวัสดิการของมนุษย์เงินเดือนในอนาคต แต่ในทางกลับกันคนเก่งอาจทำงานได้หลายที่ภายใต้การจ่ายเงินตามความสามารถ รวมไปถึงแรงงานที่มีความรู้ความสามารถแบบดั้งเดิมจะนำไปสู่การเลิกจ้าง และจะมีคนทั่วโลกที่ตกงานเพิ่มขึ้น
5. การรื้อระบบความปลอดภัยทางสังคม
ต่อไปโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่มีความแน่นอน เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วย GIG Economy หรือการทำงานแบบชั่วคราว ทำให้แรงงานต่างรู้สึกว่าตนเองไม่มีความมั่นคงในเรื่องการจ้างงาน ขาดรายได้ที่แน่นอน และไม่มีสวัสดิการรองรับ ดังนั้นในอนาคตอาจจะเห็นภาครัฐมีการจัดเก็บเงินประกันสังคมเพิ่มขึ้น หรือการออกมาตรการให้บริษัทที่จ้างพนักงานชั่วคราวจะต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือพนักงานชั่วคราวยามที่เกิดวิกฤตและสร้างความมั่นคงให้กับแรงงานกลุ่มดังกล่าว
6. Big Data ไม่ใช่สิ่งไกลตัว
ก่อนมีโควิดองค์กรใช้ Big Data ช่วยการขายและการตลาดของธุรกิจ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทำความเข้าใจลูกค้าหรือผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงลดต้นทุนและระยะเวลาดำเนินการ ช่วยการตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น พอเกิดโควิด Big Data ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะภาครัฐและเอกชนได้นำ Big Data มาใช้ในการติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อควบคุมการระบาด หรือแจ้งเตือนประชาชนว่าสถานที่ที่จะไปเป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ช่วยในการป้องกันไม่ให้เข้าไปในบริเวณที่มีการระบาด หรือการนำฐานข้อมูลประชาชนเพื่อใช้ในพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ดังนั้นการใช้ Big Data ของประชาชนจะกลายเป็นความเคยชินและเป็นเรื่องปกติ เพราะผู้คนจะยอมให้ข้อมูลส่วนตัวเพื่อแลกกับความปลอดภัยที่มีมากยิ่งขึ้น
7. การยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขภาพทั่วโลก
ช่วงโควิดทำให้คนใส่ใจเรื่องสุขอนามัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การรักษาความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่างๆ รวมถึงการระมัดระวังตัวเองมากขึ้นเมื่อไปสัมผัสกับจุดสาธารณะ จนกลายเป็นเรื่องปกติที่คนให้ความสำคัญด้านสุขอนามัยและจะเป็นมาตรฐานใหม่ นอกจากนี้แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพและการป้องกันจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โครงสร้างพื้นฐานของเมือง อาคาร บ้านเรือน จะต้องมีแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพเป็นบริการขั้นพื้นฐาน ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องลงทุนในสิ่งเหล่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้ลูกค้าหรือผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจในมาตรฐาน สุขอนามัย
นอกจากนี้ในเรื่องระบบสาธารณสุขและการแพทย์ของประเทศต่างๆ จะมีการพัฒนาทั้งในเรื่องของคุณภาพและการเข้าถึงที่มากขึ้น ซึ่งต่อไป Medical & Wellness Tourism จะกลายเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวแนวใหม่ที่คนสนใจ และจากการให้ความสำคัญต่อสุขภาพต่อไปคนจะเริ่มหันมาทานอาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพ ต้องการความมั่นใจว่าอาหารที่นำมาปรุงมีมาตรฐาน ปลอดภัย และสะอาด เมื่อให้ความสำคัญในด้านคุณภาพคนจะยอมเสียเงินกับของที่มีคุณภาพสูงมากกว่าของที่ไม่มีคุณภาพหรือขาดมาตรฐาน
8. เศรษฐกิจติดบ้าน
การเคยชินกับการอยู่ที่บ้านทั้งทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้ความต้องการที่อยู่อาศัยของคนเปลี่ยนไป จากเดิมที่หาที่พักใจกลางเมือง เดินทางสะดวกติดรถไฟฟ้า จะเปลี่ยนเป็นบ้านชานเมืองที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้านได้ เพราะไม่จำเป็นต้องออกจากบ้านไปไหนและคุ้นชินกับการทำกิจกรรมเพื่อหาความสุขและสร้างความสนุกในแบบที่ต้องการ ทั้งการทำอาหาร ปลูกผักสวนครัว ดู Netflix ออกกำลังกาย การทำชาเลนจ์ผ่าน TikTok ทำให้เกิดเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า New Luxury คือ การต้องมีของหรืออุปกรณ์ที่สามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้าน เช่น เครื่องทำกาแฟสด, หม้อทอดไร้น้ำมัน เป็นต้น
8 New Normal ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะจะกลายเป็นความปกติใหม่ของคนทั่วโลกและจะอยู่อย่างนี้ไม่น้อยกว่า 1- 2 ปีจนกว่าจะมีการผลิตวัคซีนได้สำเร็จ และเมื่อถึงตอนนั้น New Normal ที่กล่าวมานี้จะกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ที่ทุกคนคุ้นเคยตลอดไปหรือไม่ คงต้องรอพิสูจน์กันเมื่อวันนั้นมาถึง
ที่มา :
https://marketeeronline.co/archives/162863
https://brandinside.asia/new-normal-after-covid-19/
https://www.posttoday.com/life/work-life-balance/623097
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878648
SOURCE : www.scb.co.th