เปิด ‘5 ปัจจัย’ หนุน ดัน ‘ทองคำ’ นิวไฮรอบ 9 ปี
ราคาทองคำที่พุ่งขึ้นมาแตะระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ย้อนให้นักลงทุนทั่วโลกหวนกลับไปนึกถึงช่วงเวลาที่ราคาทองคำ ‘แรลลี่’ ขึ้นจาก 1,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ไปทำจุดสูงสุดที่บริเวณ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างปี 2552 – 2554
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในคราวนั้นกับคราวนี้ มีทั้งส่วนที่คล้าย คือ เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะหดตัว จนธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องออกมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลัง ส่วนที่อาจจะต่างกันออกไป เป็นเรื่องของสาเหตุที่ทำให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในคราวนี้เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสาระสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูการเคลื่อนไหวของราคาทองคำที่วิ่งขึ้นมารอบนี้ จะเห็นว่ามีสัญญาณยกตัวขึ้นตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฉะนั้นแล้ว ปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นมาในรอบนี้ไม่ได้เป็นเพราะโรคระบาดเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะพอสรุปได้เป็น 5 ข้อหลักๆ ดังนี้
ประการแรก คือ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก นำมาซึ่งการที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบมากขึ้น รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง จนอัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรรัฐบาลลดลงมาอยู่ในระดับเช่นกัน ทำให้ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อเข้าลงทุนที่น่าสนใจมากขึ้น
ประการที่สอง คือ ความขันแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดความไม่แน่นอน อย่างในกรณีของสหรัฐและจีน ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2562 รวมไปถึงความกังวลในเรื่องของสงครามจากความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิรัก ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่ง ‘ความเสี่ยง’ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่หนุนให้นักลงทุนพยายามมองหาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ที่สามารถรักษามูลค่าเงินลงทุนไว้ได้ในช่วงที่ตลาดเกิดความผันผวน
ประการที่สาม คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นปัจจัยที่หลายฝ่ายไม่ได้คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเป็นเหมือนปัจจัยที่เข้ามาหนุนราคาทองคำให้ทะลุ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และซ้ำเติมให้เศรษฐกิจทั่วโลกแย่ลงไปอีก และยิ่งทำให้ธนาคารกลางแต่ละแห่งต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามามากขึ้นอีก
อย่างล่าสุด คือ ธนาคารกลางยุโรปที่ได้อนุมัติกองทุนฟื้นฟู พร้อมวงเงินอัดฉีด 7.5 แสนล้านยูโร ซึ่งคล้ายกับปี 2552 ที่ธนาคารกลางสหรัฐอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความกังวลกันว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการในการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น
ประการที่สี่ คือ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งตามทฤษฎีแล้วค่าเงินดอลลาร์จะแปรผกผันกับราคาทองคำ เมื่อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักของโลกมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ราคาทองคำก็มักจะปรับตัวขึ้น เพื่อเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าของเงินเอาไว้แทนที่เงินดอลลาร์ ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากหนี้สาธารณะของสหรัฐที่ยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความกังวลกันว่าสหรัฐจะไม่สามารถชำระหนี้คืนหนี้เหล่านั้นได้ และทำให้เงินดอลลาร์มีมูลค่าลดลงในอนาคต
ประการที่ห้า คือ ความต้องการการถือครองทองคำที่มากขึ้น โดยเฉพาะจากกองทุนทองคำหลายแห่งทั่วโลก อย่างกองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล่าสุดยังได้ประกาศการเข้าถือครองทองคำเพิ่มอีก 0.7% เมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา รวมปัจจุบันถือครองเป็นสถิติสูงสุดที่ 1,219.75 ตัน นอกจากนี้ จะเห็นว่าธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกได้เข้าถือครองทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองมากขึ้น
อย่างเช่น ธนาคารกลางรัสเซียซึ่งได้เข้าซื้อทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองอย่างต่อเนื่องจนมีทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 1.2 แสนล้านดอลลาร์ โดย 5 ปีที่ผ่านมา รัสเซียได้เข้าซื้อทองคำไปมากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์
SOURCE : www.bangkokbiznews.com