ส่องช่องโหว่ พ.ร.บ.อาคารชุด​ หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ในปัจจุบันที่ผู้บริโภค ผู้ซื้อ หรือเจ้าของร่วม​รายย่อยยังคงถูกกดขี่​ ถูกเอารัดเอาเปรียบ ​ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ขาย​ ผู้ประกอบการโครงการ​ ซึ่งจะประเด็นใดบ้างที่ควรรู้มีดังนี้

หลายท่านอาจรับทราบกิจกรรม​ปลูกฝัง​เด็กเล็กเคารพกฎจราจรของโรงเรียนในพื้นที่ ต.สุเทพ​ จ.เชียงใหม่ ทั้งการเรียนรู้กฎระเบียบ กฎหมาย เครื่องหมายจราจร การสวมหมวกนิรภัย (กันน็อค)​ ในระหว่างการข้ามถนน การขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ปกครองและเยาวชนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างขับขี่ หรือการใช้ถนนสาธารณะ​ ภายนอกโรงเรียน​

ผอ.โรงเรียนท่านให้สัมภาษณ์ระบุการจัดกิจกรรมก็เพราะที่ตั้งของโรงเรียน​ไม่เหมาะสม​ มีเส้นทางจราจรสาธารณะตัดผ่านตรงกลางของที่ตั้งโรงเรียน​ อีกทั้งในอดีต​ เกิดอุบัติเหตุกับทั้งนักเรียน​ ผู้ปกครอง​ ครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่โรงเรียน​บ่อยครั้ง​ ทางโรงเรียนจึงร่วมมือกับกองทุน สสส.จัดโครงการดังกล่าว

เริ่มครั้งแรกอาจไม่ได้รับการสนใจ​เท่าใดนักเพราะอาจไม่คุ้นเคย​ แต่ผ่านไปสักระยะพบว่าเด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง​ ต่างซึมซับกฎระเบียบจราจรเป็นอย่างดี​ รู้​และทราบไฟแดง​ไฟเขียว​ หยุด​หรือการเดินข้ามทางม้าลาย หรือขับขี่ซ้อนรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัย​ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายไปพร้อมกันด้วย​ ผลลัพธ์ที่ได้อาจมีมากกว่าการลดจำนวนอุบัติเหตุ​ที่เกิดขึ้น แต่สามารถสร้างจิตสำนึก​ได้เป็นอย่างดี

เด็ก​ เยาวชนของโรงเรียนดังกล่าวส่วนใหญ่ล้วนเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองของตนทันทีหากพบว่าไม่สวมหมวกนิรภัย​ เมื่อขับรถจักรยานยนต์

ผู้เขียน สนับสนุน กิจกรรมการเรียนรู้​ เคารพกฎ​ระเบียบ​ กฎหมายจราจรที่ปลูกฝังให้แก่เด็กเยาวชน​ของโรงเรียน อีกทั้งยังประสงค์ให้โรงเรียนอื่นในพื้นที่อื่นได้ใช้เป็น ตัวอย่าง แก่เด็กเยาวชน​และผู้ปกครอง​ เพราะจะทำให้​เด็ก​เยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่​ ผู้ปกครองบ้านเมือง​ องค์กร​ เป็นบุคลากรที่ดี​ มีคุณภาพได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม​ เรื่องที่จะนำมาเล่าให้แฟนคอลัมน์​ อาจ​ แตกต่าง จากกิจกรรมของโรงเรียนแห่งนี้ แต่เป็นระบบอาคารชุด​ คอนโดมิเนียม ที่ผู้บริโภค​ ผู้ซื้อ เจ้าของร่วม​ รายย่อย ยังคงถูกกดขี่​ ถูกเอารัดเอาเปรียบ​ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ขาย​ ผู้ประกอบการโครงการ​ ตั้งแต่อดีต​เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน​ อาจเป็น​เพราะ ช่องโหว่” ของ พ.ร.บ.อาคารชุด​ หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด​ โดยเฉพาะ​ข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดที่ผู้ขาย​ ผู้ประกอบการโครงการ​ คะแนนเสียงข้างมากกับห้องชุดเหลือขาย​ จำนวนมากกว่า 30 หรือ​ 40 หรือ​ 50% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด​ สามารถใช้เป็นเครื่องมือ ​“ตักตวง ผลประโยชน์ให้แก่ตน​ กับเรื่องต่างๆ​ ดังต่อไปนี้

1.หมวดการออกค่าใช้จ่ายของเจ้าของร่วม​ (ค่าส่วนกลางและกองทุนตามข้อบังคับ)​

เขียน​กำหนดข้อบังคับให้การจ่ายค่าส่วนกลาง​เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจตนเอง​ ห้องชุดเหลือขาย​ จ่ายค่าส่วนกลาง​ รายเดือน ไม่จ่ายค่ากองทุน​ หรือไม่จ่ายค่าส่วนกลาง แต่ผู้ซื้อ​ รายย่อย ถูกบังคับจ่ายค่าส่วนกลาง​ รายปี และจ่ายเงินกองทุน​ ในขณะที่ พ.ร.บ.อาคารชุด​ มาตรา​ 18 วรรคท้าย และ 40​ บังคับให้ผู้ขาย​ ผู้ประกอบการ​ กับห้องชุดเหลือขาย​ เป็น​ “เจ้าของร่วม​ มีหน้าที่ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวเฉกเช่นเดียวกับผู้ซื้อ​ เจ้าของร่วม​ รายย่อย 

2.หมวดว่าด้วยการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ (การคืนเงินค่าส่วนกลางให้แก่เจ้าของร่วม)​

เขียน​กำหนดเนื้อหาข้อบังคับเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจตน​ ด้วยการคืนเงินค่าส่วนกลาง​ เมื่อมีเงินคงเหลือเมื่อสิ้นงวดบัญชีในทุกปี​ โดยอาศัยมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ เสียงข้างมาก ในขณะที่นิติบุคคลอาคารชุดทุกแห่ง​ มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดการ​บำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางตามข้อบังคับ​ ตามมาตรา​ 33 วรรคท้าย​ของ พ.ร.บ.อาคารชุด

3.หมวดว่าด้วยการประชุมใหญ่เจ้าของร่วม​ (การแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อบังคับ)

อาศัยคะแนนเสียงกับห้องชุดเหลือขาย​ จำนวน​ 30 หรือ 40 หรือ 50% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด​ หรือคะแนนเสียงข้างมาก​ แต่งตั้งผู้ซื้อ​ เจ้าของร่วม​ รายย่อย​ หรือนอมินีที่ยืนฝั่งเดียวกันกับผู้ขาย​ ผู้ประกอบการโครงการ​ หรือด้วยบล็อกการออกเสียงลงคะแนนของฝ่ายผู้ซื้อ​ รายย่อย ที่ต้องการผลักดัน​ คนดี คนเก่ง เข้าปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการแทนตน

4.หมวดว่าด้วยอำนาจ​ หน้าที่​ และวาระการดำรงตำแหน่งผู้จัดการ​ (การแต่งตั้งผู้จัดการ)

คะแนนเสียงข้างมากของผู้ขาย​ ผู้ประกอบการโครงการ​ ล้วนสามารถแทรกแซงกิจกรรมการปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการ​ โดยอาศัยผู้จัดการที่ตนเป็นผู้แต่งตั้งในคราวแรก​ เมื่อคราวจดทะเบียนอาคารชุดกับพนักงานเจ้าหน้าที่​ กรมที่ดิน หรือล้มมติที่ประชุมคณะกรรมการ​ (ฝ่ายผู้ซื้อ​ รายย่อย)​ และอาศัยผู้จัดการ​เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วม​ตามข้อบังคับ ถอดถอนคณะกรรมการชุดเดิม​ และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แทนได้

5.หมวด “บทเฉพาะกาล” ท้ายข้อบังคับ (การใช้นอมินีปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการและนิติบุคคล​ ผู้รับจ้างของผู้จัดการ​ บริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลาง)

เมื่อ ผู้จัดการ และนิติบุคคล ผู้รับจ้าง มีคดีความ ประวัติเสีย เกิดความด่างพร้อยกับการบริหารจัดการทรัพย์ส่วนกลางกับโครงการ หรือนิติบุคคลอาคารชุดแห่งอื่นมาก่อนเจ้าของร่วม ผู้ซื้อ รายย่อย หรือคณะกรรมการจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้จัดการซึ่งเป็น นอมินี ของผู้ขาย​ ผู้ประกอบการโครงการและนิติบุคคล ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นของผู้จัดการ จะไม่สร้างความเสียหายให้แก่นิติบุคคลอาคารชุดของตน

อย่างไรก็ดี อาจพบเห็นข้อบังคับ มาตรฐาน ที่ใช้กับโครงการ​ หรือนิติบุคคลอาคารชุด บางแห่งไม่เอารัดเอาเปรียบแก่ผู้ซื้อ รายย่อย แต่พบว่ามีจำนวนน้อย​ เรื่องหนึ่งซึ่งผู้เขียนสามารถบอกกล่าวข้อเท็จจริงแก่ท่านผู้อ่าน ได้แก่​ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย​ ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียม ยังไม่เคยพบเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวรายใดเหล่านั้นใช้ข้อบังคับ​ มาตรฐาน แก่โครงการ​ หรือนิติบุคคลอาคารชุดของตนแม้แต่รายเดียว นับประสาอะไรบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ส่วนมาก จะใช้ข้อบังคับ มาตรฐาน บังคับแก่เจ้าของ​ร่วม ผู้ซื้อ รายย่อย

SOURCE : www.bangkokbiznews.com/news/detail/891853?utm_source=slide_recentnews&utm_medium=internal_referral