วงจรของการ Exit ด้วยการควบรวมหรือถูกซื้อกิจการถือเป็น “วิถี” และ “วงจร” ของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนภาพโลกของธุรกิจที่กำลังจะเดินกลับไปสู่วิถีของการกินรวบที่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือเปล่า?

ข่าวการควบรวมและซื้อกิจการของสตาร์ทอัพไทยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ ทำให้คนที่อยู่นอกวงการอาจมองว่า นี่คือคลื่นระลอกสุดท้ายของธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือกำลังจะหมดยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า”? โลกธุรกิจกำลังจะเดินกลับไปสู่วิถีของการกินรวบที่ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือเปล่า?

แม้กระทั่งในวงการธุรกิจโลก 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ใน Silicon Valley ก็กำลังโดนกระทรวงยุติธรรมสหรัฐเข้าแทรกแซงและกล่าวหาว่าใช้กลยุทธ์ Copy-Acquire-Kill เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโต อีกนัยหนึ่งก็คือ 1) “ลอก” ไอเดียของสตาร์ทอัพคู่แข่งที่เป็นรายเล็กกว่า 2) เดินหน้าเข้า “ซื้อ” กิจการเมื่อเดินตามเทคโนโลยีหรือโมเดลธุรกิจแบบคู่แข่งแล้วทำได้ไม่ดีเท่า หรือไม่สามารถ Execute ได้อย่างที่ควรจะเป็น และ 3) “ยุบ” ธุรกิจที่ซื้อกิจการเข้ามาเพื่อถ่ายโอนฐานลูกค้าทำให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้แบบที่ไม่ต้องพัฒนาธุรกิจใหม่ขึ้นมาเอง 

ล่าสุดในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ยังคงเดินหน้าซื้อสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง เช่น Mastercard ซื้อ Fintech ที่ชื่อ Fincity ด้วยมูลค่ากว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ Facebook ซื้อ Giphy ที่ให้บริการ Web Portal แชร์ภาพเคลื่อนไหว Uber ซื้อ Postmates บริการส่งอาหารด้วยมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ Zoom ซื้อกิจการ Keybase สตาร์ทอัพด้านความปลอดภัย เพื่อยกระดับการให้บริการเข้ารหัสแบบ End-to-End ระดับองค์กร

แต่สำหรับมุมมองของคนในแวดวงสตาร์ทอัพแล้ว วงจรของการ Exit ด้วยการควบรวมหรือถูกซื้อกิจการถือเป็น “วิถี” และ “วงจร” ของธุรกิจสตาร์ทอัพ ต่างกันเพียงแค่ว่าใครจะสามารถ Exit ได้ใน “จังหวะ” เวลาที่เหมาะสมกว่ากันเท่านั้น 

การ Exit ในอุดมคติของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักไม่ได้อยู่ที่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPO เพราะเส้นทางของการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงเกินไป คือถ้าทำไม่สำเร็จในกรอบระยะเวลาที่วางแผนไว้ ไม่เพียงไม่คุ้มค่ากับความพยายาม แต่อาจไปสู่จุดที่ทำให้บริษัทพังทลายเพราะการวางกลยุทธ์เพื่อประคับประคองตัวเลข ลดต้นทุนเพื่ออัดฉีดผลกำไรในช่วงเวลาที่เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเสียโฟกัสในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดความล่าช้าในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ๆ ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้ใน Medium-Long term 

 

หลายบริษัทที่พยายาม Exit ด้วยการวางโรดแมพสู่ IPO แต่แล้วต้องล้มเลิกกลางคันเพราะโชคร้ายที่เจอกับปัจจัยใหญ่ภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์ที่เป็นเหตุสุดวิสัยอย่าง Covid-19

บริษัทกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องเลือกเส้นทางใหม่ เช่น การควบรวมกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตต่อในอนาคต การ Exit ในช่วงเวลาแบบนี้ถึงแม้หลายคนที่อยู่วงนอกมองว่าน่าเสียดายและเสียโอกาส แต่ไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่า Founder ว่านี่อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับวันนี้ เพราะการทำธุรกิจจังหวะคือทุกสิ่งทุกอย่าง

ทางเลือกที่ดีที่สุดของการเติบโตอาจไม่ได้จบลงที่การนำพาธุรกิจไปสู่การเป็น Listed Company แต่อาจเป็นการควบรวมกิจการที่เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้ มีธุรกิจจำนวนมากทั้งองค์กรใหญ่และสตาร์ทอัพที่เลือกการควบรวมเพื่อการเติบโตและอยู่รอด

“หลังจากนี้จะหมดยุคของ Big Exit แต่เป็นช่วงเวลาของ Many Small Exits” เป็นความเห็นของนักวิเคราะห์สายกลยุทธ์ M&A ซึ่งสอดรับกับข้อมูลล่าสุดของดีลการซื้อกิจการในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ลดลงอย่างเห็นได้ชัดและดีลที่เกิดขึ้นเกือบ 50% เป็นดีลระดับต่ำกว่า 1,000 ล้านซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชัดว่าธุรกิจจำนวนมากที่อยู่ในระยะเติบโต เลือก M&A เป็น Exit Strategy มากกว่าการ IPO ส่วนหนึ่งอาจเพราะสภวะเศรษฐกิจที่ทำให้เสน่ห์ของตลาดหุ้นลดลงในแทบทุกประเทศ ดัชนีราคาหุ้นและ Market Cap ของบริษัทที่เข้าตลาดไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มีใครที่ยังคงรักษา Performance ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้

สำหรับทีมผู้ก่อตั้ง “จังหวะ” และ “โอกาส” ที่เหมาะสมมาพร้อมกับการเตรียมการที่ดี คำกล่าวที่ว่า “Good companies are bought, not sold” ยังเป็นจริงเสมอ บริษัทที่น่าสนใจคือบริษัทที่มีคนอยากซื้อ ไม่ใช่บริษัทที่เจ้าของอยากขาย มี 3 สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจควรต้องสร้างไม่ว่าจะต้องการขายธุรกิจหรือไม่ก็ตาม คือ

1.สร้าง Salable Value ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขผลประกอบการ แต่เป็น Root Strengths ซึ่งอาจเป็น เทคโนโลยี Customer Network หรือ Management Team

2.สร้าง Relationships กับบริษัทที่น่าจะเป็น Potential Buyer ในอนาคต ทั้งในรูปแบบของการเป็น Customer, Supplier, หรือ Business Partner (70% ของบริษัทที่ Exit มักเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับผู้ซื้อกิจการมาก่อน)

3.สร้าง Leverage ให้กับธุรกิจ การจะ Exit ได้แบบ Good Deal หรือ Bad Deal ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจนั้นมีแต้มต่อขนาดไหน เช่นมี Potential Buyer หลายรายหรือสามารถสร้าง Impact ให้กับผู้ซื้อได้ในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง การทำให้ตัวเองมี Options คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

เหนือสิ่งอื่นใดคำว่า “Timing is everything” ไม่ได้มีนัยสำคัญเพียงแค่การเริ่มต้นธุรกิจแต่ยังหมายถึงจังหวะและเวลาที่เหมาะสมที่ทีมผู้ก่อตั้งจะวางมือจากสิ่งเดิมๆ เพื่อเดินต่อกับเป้าหมายใหม่ ซึ่งอาจเป็นเรื่องของธุรกิจหรือการแสวงหาสิ่งอื่นที่จะมาเติมเต็ม Passion ที่มีในชีวิต 

SOURCE : www.bangkokbiznews.com