ทำไมต้อง 'ชูสามนิ้ว' ส่องความเห็นเยาวชน คิดอย่างไร ในชุมนุม ‘ปลดแอก’
เขา "ปลดแอก" อะไร!? สำรวจความเข้าใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ และมุมมองต่อ 3 ข้อเรียกร้อง และการออกมา "ชูสามนิ้ว"
16 สิงหาคม 2563 วาระใหญ่ไม่ใช่แค่หวยออกประจำเดือนแต่คือ การชุมนุม #ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ ของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอกที่ ‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ ตั้งแต่บริเวณทางเท้าหน้าร้านแม็คโดนัลด์ จนถึงแยกคอกวัว
บรรยากาศการชุมนุมเต็มไปด้วยการปราศรัยจากกลุ่มคนหลากหลายทั้ง กลุ่มนักเรียน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มสหภาพแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ระยะเวลาการชุมนุมเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 และจบลงภายในเวลา 23.00 น. โดยก่อนจบทางคณะประชาชนปลดแอกได้ตอกย้ำถึงข้อเรียกร้องหลักทั้ง 3 อีกครั้ง คือ
- หยุดคุกคามประชาชน
- ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
- ยุบสภา
ชั่วโมงนี้เสียงคนรุ่นใหม่เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เด็กคืออนาคตของชาติฉันใด การรับฟังเสียงของพวกเขาก็สำคัญฉันนั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีวาทกรรมบางชุดที่กล่าวถึงการเข้าไปยุ่งเรื่องการเมืองของเยาวชน เช่นการไม่รู้จักการเมืองดีพอ การฟังข้อมูลด้านเดียว โดนล้างสมอง แม้กระทั่งไปม็อบเพราะกระแส เราจึงชวนคนเยาวชนมาพูดคุยถึงความเข้าใจการเมืองของคนรุ่นใหม่ รวมถึงข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นหลักจุดร่วมในการออกมาเคลื่อนไหวว่าพวกเขามองเรื่องนี้เป็นอย่างไร
- ให้มันจบที่รุ่นเรา
"เราโกรธ และทนไม่ได้แล้ว"
เสียงยืนยันจาก วิมลรัตน์ เยาวชนวัย 23 ปี เธอเล่าว่าการไปชุมนุมเมื่อ 16 สิงหาที่ผ่านมาเป็นการร่วมชุมนุมครั้งที่สอง หลังจากที่ไปร่วมครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม โดยก่อนหน้านี้ประมาณ 3 ปีที่แล้วเธอไม่สนใจการเมืองมากนัก ได้แต่มองแบบผ่านๆ ด้วยสายตาที่คิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว
“ตอนนั้นยังไม่รู้จักฝั่งซ้าย ฝั่งขวาเลย รวมถึงม็อบทั้งหลาย เสื้อเหลือง เสื้อแดงก็รู้จักแค่ว่า มันรุนแรง มันน่ากลัว ประเทศสงบสุขได้เราก็ดีใจ”
จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอหันมาสนใจเรื่องการเมืองคือการเล่นโซเชียลมีเดียแล้วได้อ่านข้อมูลบางประเภท จึงเกิดการตั้งคำถามแล้วหาข้อมูลอ่านเรื่อยๆ โดยเธอยังคงย้ำตลอดว่า ตอนนี้เธอก็ไม่ได้รู้ลึกเรื่องการเมืองเท่าคนอื่นๆ มากนัก มีอะไรสงสัยก็ส่งข้อความถามเพื่อน หรือหาข้อมูลอ่านต่อ ลองผิดลองถูก ไม่มีใครรู้เรื่องตั้งแต่เกิด
“หลังจากโดนเบิกเนตร ทำให้รู้ว่าบ้านเมืองสงบ แต่ปัญหายังซุกใต้พรมอีกเพียบ มันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะเป็นแล้ว มันถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง เราไปในที่ที่มีคนอุดมการณ์เดียวกัน มันให้รู้สึกว่าเสียงเรามีค่า แม้จะเป็นแต่เสียงของเยาวชน แต่เราก็สิทธิเสรีภาพในการพูด”
เธอเล่าต่อว่าทุกครั้งที่ไปม็อบ แม้จะเพิ่งไปมาเพียง 2 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็ทำให้เธอรู้สึกฮึกเหิม แต่ก็ยอมรับด้วยเช่นกันว่าที่ไม่มีที่ไหนไม่มีปัญหา แต่การยอมให้เราพูดถึงปัญหานั่นคือสิ่งสำคัญในประเทศประชาธิปไตย
ไม่ต่างจาก เบลล่า ที่เล่าว่าเหตุผลที่ทำให้ไปร่วมการชุมนุมคืออยากเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในครั้งนี้เพราะการชุมนุมมันคือแสดงออกถึงสิทธิทางประชาธิปไตยที่เมื่อเราไม่ได้รับความยุติธรรมอะไรในหลายๆ เรื่องสวัสดิการที่เลวร้าย และการทำงานของรัฐบาลที่เป็นเผด็จการอย่างโจ่งแจ้ง
“เราออกมาประกาศถึงจุดยืนที่เรามีและต้องการเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของการชุมนุมครั้งนี้”
อีกด้านหนึ่งการชุมนุมที่เกิดขึ้นก็ปลุกให้บางคนตื่น! เช่นเดียวกับ บุศรินทร์ มือใหม่เรียนรู้การเมือง เล่าว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้เธอเริ่มตั้งคำถามต่อการชุมนุม และการทำงานของรัฐบาล แม้เธอจะไม่ได้เข้าร่วมม็อบใดเลยสักครั้ง แต่ก็ตามข่าวอยู่ตลอด และอยากรู้ข้อมูลว่ามันเกิดอะไรขึ้น
“เราเริ่มส่งไลน์ถามเพื่อนว่า อยากหาข้อมูลเรื่อง 14 ตุลาได้จากช่องทางไหนบ้าง เพราะจากกระแสข่าวทำให้เราอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
SOURCE : www.bangkokbiznews.com