เหตุการณ์โรคโควิดระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศ กอรปกับการผ่อนปรนมาตรการต่างๆของประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างสมดุล “หยุดโควิดแต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทุกสำนักต่างฟันธงเป็นเสียงเดียวกัน “ไทยเจอโควิดรอบ2แน่นอน และจะรุนแรงกว่ารอบ1”!!!

แม้ว่าจะไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 78 วันแล้ว กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)หัวเรือนใหญ่ในการป้องกัน ควบคุมและรักษาโรค มีความพร้อมและแผนรับมืออย่างไร

สถานการณ์ตอนนี้แม้ประเทศไทยจะไม่เจอผู้ติดเชื้อภายในประเทศ แต่ยังถือว่าประเทศไทยมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยในประเทศได้ เพราะการไม่มีรายงาน ไม่ได้แปลว่าไม่มีผู้ป่วย เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19ทั่วโลกที่มีการรายงานนั้นต่ำกว่าผู้ติดเชื้อจริง 10 เท่า

อย่างเช่น ประเทศเวียดนามที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง 90 วัน ที่สุดแล้วก็กลับมาเจอการระบาดอีกครั้ง ซึ่งยังไม่รู้จุดรูรั่ว แต่อาจเกิดขึ้นจากการมีผู้ติดเชื้อหลงเหลืออยู่ในประเทศ หรือการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ แม้จะมีสถานที่กักกันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ แต่ก็อาจจะมีช่องโหว่ และมีการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย

“ประเทศไทยจะเจอผู้ป่วยใหม่อีกครั้งแน่นอน โอกาสค่อนข้างสูง แต่หวังว่าจะไม่เป็นการระบาด ถ้าระบาดก็วงจำกัด ไม่เป็นวงกว้างขวางมากเกินไป จะสามารถคุมโรคได้ในเวลาสั้น เพราะเป้าหมายของการดำเนินการ ไม่ใช่การไม่เจอผู้ป่วยในประเทศเลย แต่คือถ้าเจอต้องจำกัดวงของการแพร่ระบาดไม่ให้วงกว้าง” นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าว

 

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คุมสถานการณ์โรคโควิดได้เร็วและไม่เกิดการแพร่ระบาดวงกว้าง นพ.ธนรักษ์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับการค้นหาเจอผู้ป่วยได้เร็ว เข้าไปสอบสวนโรคเร็ว ติดตามคนสัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้เร็ว ครอบคลุมทุกคนและนำเข้ามาอยู่ในสถานกักกันทั้งหมด ถ้าทำได้ก็จะคุมโรคได้สูงมาก รวมถึง ประชาชนในพื้นที่ที่เจอผู้ป่วยให้ความร่วมมือแค่ไหน ถ้าร่วมมือดีประเทศไทยก็จะเจอผู้ป่วยแต่ไม่มีการระบาด

การเฝ้าระวังและตรวจเจอผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วนั้น มุ่งใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.การสกัดเชื้อนำเข้าจากต่างประเทศ ใน“สถานที่กักกัน”ประเภทต่างๆจนครบ 14 วัน ตั้งแต่ช่องทางด่านผ่านเข้าประเทศทั้งท่าอากาศยาน ด่านบกและด่านท่าเรือ และ2.การเจอผู้ติดเชื้อภายในประเทศ ตรงส่วนนี้กลไกลสำคัญที่จะค้นได้เจออยู่ที่ “สถานพยาบาล”และ”คนป่วย”เป็นสำคัญ

โดยคนป่วยเมื่อมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอชัดเจน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้ไปเข้ารับการตรวจรักษา ขณะเดียวกัน สถานพยาบาล ต้องคงมาตรการในค้นหาผู้ติดเชื้อให้เข้มข้นเช่นเดิม โดยเฉพาะใน 3 กลุ่มตามข้อกำหนด คือ ผู้ป่วยปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการ และผู้ป่วยทางเดินหายใจเป็นกลุ่มก้อน

การจำกัดวงของการแพร่ระบาดไม่ให้โควิดแพร่วงกว้าง ในส่วนของภาครัฐมีการเตรียมการเต็มที่ ให้สามารถตอบโต้สถานการณ์ได้ทันท่วงที โดยมีการเพิ่มหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติอต่อในทุกจังหวัด ให้สามารถสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสได้โดยเร็ว

ที่สำคัญ จะดำเนินการจำกัดวงของโรคโควิดให้อยู่ในพื้นที่นั้นและสั่งปิดสถานที่เสี่ยงเฉพาะแห่งที่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคพิจารณาว่าจำเป็นเท่านั้น “จะไม่มีการปิดสถานที่ประเภทเดียวกันแบบเหมาเข่งทั่วประเทศ” ซ้ำรอยการดำเนินการในระลอกแรก

นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังเชิงรุก ด้วยการส่งรถพระราชทานตรวจเชื้อชีวนิรภัยเข้าไป เพื่อเก็บตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19ด้วย ซึ่งสามารถตรวจได้ถึงวันละราว 1,000 ตัวอย่าง เช่น การตรวจให้กับคนที่มีประวัติไปห้างสรรพสินค้าเดียวกับทหารอียิปต์ติดเชื้อในจ.ระยอง ซึ่งสามารถตรวจได้ 6,501 ราย ระหว่างวันที่ 14-19 ก.ค. 2563 เป็นการสร้างความมั่นใจว่าในพื้นที่นั้นๆมีผู้ติดเชื้อรายอื่นอีกหรือไม่

สำหรับแผนรองรับในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ข้อมูลช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รพ.มีเตียง ไอ.ซี.ยู. 571 เตียง ห้องแยกสำหรับอาการหนัก 11,206 เตียง เตียงทั่วไปอีก 10,349 เตียง อุปกรณ์เวชภัณฑ์ เช่น หน้ากาก N95 เตรียมความพร้อมไว้ 1.12 ล้านกว่าชิ้น ชุดป้องกันอันตรายระดับสูงเมดิคัลเกรด หรือชุด PPE มี 5.11 แสนกว่าชุด โดย 3.5 แสนชุดกระจายทุก รพ. อีก 1.5 แสนชุดเตรียมที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อกระจายในกรณีฉุกเฉิน และมีเครื่องช่วยหายใจที่ว่าง 1.1 หมื่นเครื่อง

ยา โดยยาฟาวิพิราเวียร์ที่รักษาโดยเฉพาะ มีสำรองไว้กว่า 3 แสนเม็ด ส่วนยาชนิดอื่น ได้แก่ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน 395,802 เม็ด คลอโรควิน 673,222 เม็ด ดารุนาเวียร์ 25,390 เม็ด โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ 38,360 เม็ด ริโทนาเวียร์ 24,158 เม็ด และอะซิโทรมัยซิน 5,707 เม็ด

แม้แผนเตรียมรับมือจะพร้อมเพียงใด แต่ก็เป็นเพียงแผนตั้งรับ มาตรการเชิงรุกที่สำคัญที่สุด คือ “การป้องกัน” ซึ่ง ระดับบุคคล จะต้องคงมาตรการป้องกันส่วนบุคคลทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการไปในสถานที่แออัด และกินร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว และระดับองค์กร ให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เหลื่อมเวลาการทำงาน มาตรการคัดกรอง ให้ผู้ที่ป่วยทางเดินหายใจหยุดอยู่บ้าน จัดพื้นที่ให้พนักงานนั่งทำงานห่างกัน รักษาระยะห่าง 2 เมตร และต้องพิจารณาแนวทางระบายอากาศให้มีการหมุนเวียน กรณีเป็นพื้นที่ปิด เพราะสถานที่อากาศไม่ถ่ายเทเสี่ยงแพร่โรคมากกว่าพื้นที่โล่ง 19 เท่า

คนไทยพร้อมร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคมากเพียงพอแล้วหรือไม่ ในเมื่อผลสำรวจล่าสุดพบว่า “พฤติกรรมป้องกันของคนไทยเริ่มลดลงจาก 90% เหลือ 79%”!!!!

SOURCE : www.bangkokbiznews.com