'ทักษะที่จำเป็น' ต่อทำงานในโลกหลังยุคโควิด
โลกของการทำงานในยุคหลังโควิด-19 สังคมนิวนอร์มอลที่เดินหน้าเข้าสู่การใช้ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้คนทำงานต้องเรียนรู้ 9 ทักษะสำคัญที่ตอบโจทย์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรองรับดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นขององค์กรต่างๆ ในอนาคตอันใกล้
วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้นทำให้หลายภาคส่วนยอมรับว่า หลังจากนี้โลกจะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การดูแลสุขภาพ การเดินทาง และการทำงาน ทั้งนี้วิกฤติโควิดยังไม่สิ้นสุดและคงใช้เวลาอีกนานที่จะกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้ 100% หรือบางอย่างอาจไม่มีทางกลับมาเหมือนเดิมอีกแล้วก็เป็นได้
จริงๆ แล้วก่อนเกิดโควิดได้มีการพูดถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่และการเกิดดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่ทำให้หลายธุรกิจและอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงอาชีพบางอย่างจะเปลี่ยนไปหรืออาจสูญหายไป
นิวนอร์มอล ที่เราเห็นช่วงนี้ คือ การที่สังคมเราเข้าสู่การใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ช่วงที่คนเริ่มเวิร์คฟรอมโฮม ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการประชุมออนไลน์มากขึ้น การทำงานร่วมกันระยะไกล รวมถึงพฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ การชำระเงินผ่านมือถือ ตลอดจนการใช้แอพพลิเคชั่นหรือเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ มากขึ้น กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้ดิจิทัล ดิสรัปชั่นเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่คิด
เรามีการพูดกันว่ามหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอน ต้องเปิดสาขาใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องพัฒนาคนที่จะออกมาทำงานในอนาคตให้ทำงานในอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ เด็กรุ่นใหม่อาจต้องมีทักษะหลายด้านมากขึ้น นอกจากต้องเก่งเทคโนโลยี อาจต้องมีความรู้ด้านเอไอ หรือต้องเขียนโปรแกรมได้ แต่นั่นคือทักษะสำหรับการเตรียมคนรุ่นใหม่ให้ประเทศแข่งขันได้ ขณะเดียวกันผู้คนวัยทำงานปัจจุบัน จำเป็นต้องปรับทักษะของตัวเองเพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
Bernard Marr ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เขียนบทความลงในเว็บไซต์ของนิตยสารฟอร์บส ระบุถึงทักษะที่คนทำงานควรมีในโลกยุคหลังโควิด (ซึ่งจริงๆ เริ่มนับตั้งแต่วันนี้แล้ว) ว่าควรจะมี 9 ด้าน คือ 1.ต้องปรับตัวได้และมีความยืดหยุ่น ทั้งนี้รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงจากเดิม การทำงานสายอาชีพเดิมตลอดชีวิตจะมีน้อยลง ดังนั้นคนทำงานต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา
2.ต้องเข้าใจเทคโนโลยี วิกฤติโควิดเป็นตัวเร่งทำให้หน่วยงานต่างๆ ทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น และอาจต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง เอไอ, บิ๊กดาต้า หรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์มาใช้งาน ดังนั้นคนทำงานไม่ว่าอยู่ตำแหน่งใดก็จำเป็นจะต้องเข้าใจและทำงานโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างคล่องแคล่ว
3.ต้องมีความสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง คนทำงานอาจต้องร่วมกันคิดหาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่มีความต้องการในโลกยุคหลังโควิด
4.ต้องมีทักษะใช้ข้อมูล ยุคอุตสาหกรรม 4.0 องค์กรที่มีข้อมูลและสามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์หรือ คาดการณ์เรื่องต่างๆ เช่น ความต้องการลูกค้า จะทำให้สามารถแข่งขันได้ คนทำงานจำเป็นต้องรู้จัก วิธีใช้ข้อมูลและเน้นสร้างวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลในองค์กร
5.ต้องคิดเชิงวิเคราะห์ได้ โลกดิจิทัลทำให้มีข้อมูลไหลเข้ามากมาย รวมถึงข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย คนทำงานจำเป็นต้องมีความสามารถวิเคราะห์แยกแยะ ข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ที่อยู่โลกอินเทอร์เน็ตได้ และเลือกสิ่งที่มีประโยชน์มาใช้ในการทำงาน
6.ต้องมีทักษะเชิงดิจิทัลและการเขียนโปรแกรม การทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ขององค์กรจำเป็นจะต้องมีบุคลากรที่มีทักษะการใช้งานเทคโนโลยีที่ดี ซึ่งอาจรวมไปถึงการเขียนโปรแกรม การทำเว็บ หรือแม้แต่การทำการตลาดออนไลน์
7.ต้องมีความเป็นผู้นำ องค์กรในยุคใหม่จะเป็นแนวราบมากขึ้น ไม่มีลำดับขั้นที่ซับซ้อนแบบเดิม บางครั้งคนทำงานอาจต้องทำงานคนเดียวที่บ้านหรือนอกสถานที่ หรืออาจทำงานในทีมเล็กๆ ดังนั้นทุกคนต้องมีความรับผิดชอบและมีความเป็นผู้นำในการตัดสินใจ รวมถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย
8.ต้องฉลาดทางอารมณ์ ในสถานการณ์การทำงานที่ไม่แน่นอนในโลกที่เปลี่ยนไป คนทำงานจะต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ ร่วมสร้างขวัญกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมงานทุกคน
9.ต้องพร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต การทำงานในยุคใหม่ต้องการคนทำงานที่มีทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา ซึ่งต้องพร้อมเรียนรู้วิชาใหม่ๆ ที่อาจจำเป็นต่อการทำงานในอนาคต ซึ่งการเรียนรู้ในยุคใหม่นอกจากการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมแล้ว อาจต้องมีทักษะการเรียนออนไลน์ด้วย
ทักษะที่กล่าวมาทั้งหมดนอกจากจะมีประโยชน์ต่อทุกคนในการทำงานยุคปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อองค์กรที่จะต้องพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต
SOURCE : www.bangkokbiznews.com