‘การเมือง’ กับ ‘เศรษฐกิจ’ บทเรียนที่ต้องศึกษา
"การเมือง" กับ "เศรษฐกิจ" เรื่องที่แยกจากกันไม่ออก แต่ละครั้งที่เกิดการชุมนุมประท้วง มักทิ้งรอยด่างพร้อยทางเศรษฐกิจไว้ ส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สำหรับครั้งนี้ต้องศึกษาบทเรียนจากอดีตและประมาทไม่ได้ หากลากยาว ไทยอาจตกขบวนการลงทุนรอบใหม่ทันที
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าความไม่สงบทาง “การเมือง” ภายในประเทศ โดยเฉพาะการ “ชุมนุมประท้วง” ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ หรือแม้แต่ความมั่นใจของผู้บริโภคและผู้ลงทุนในประเทศเอง หากพลิกดูประวัติการณ์การชุมนุมประท้วงในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา จะพบว่าแต่ละครั้งสร้างรอยด่างพร้อยทางเศรษฐกิจไว้มากมาย และยังเป็นส่วนสำคัญหนึ่ง ซึ่งทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ “เอฟดีไอ” ถดถอยลง สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่เติบโตต่อเนื่อง
ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงใหญ่ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกคือในปี 2551 เป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การชุมนุมในครั้งนี้มีเหตุการณ์สำคัญคือการปิดสนามบินนานาชาติ 2 แห่ง ช่วงเดือน พ.ย.2551 เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า และการเดินทางระหว่างประเทศ ยิ่งช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ การชุมนุมดังกล่าวจึงซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ชะลอตัวหนักขึ้น สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4 ปี 2551 ซึ่งเศรษฐกิจเวลานั้น “หดตัว” ถึง 4.3%
ครั้งที่สอง ในปี 2553 เป็นการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยการชุมนุมคราวนั้น ผู้ชุมนุมเริ่มปักหลักประท้วงบริเวณสี่แยกราชประสงค์ตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่งบริเวณดังกล่าวถือเป็น “ใจกลาง” เศรษฐกิจ เป็นแหล่งการค้า การท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย โดยเศรษฐกิจไทยช่วงเวลานั้น “เริ่มฟื้นตัว” ตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่สถานการณ์การชุมนุมดังกล่าวทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 2 ปี 2553 หดตัวถึง 3.6% และยังทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ลงทุนปรับตัวลดลง แม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ครั้งที่สาม ปี 2557 ซึ่งต่อเนื่องมาจากในปี 2556 โดยเป็นการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้เริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี ทำให้ไตรมาสดังกล่าวเศรษฐกิจ “หดตัว” 0.6% โดยการบริโภคและการลงทุนได้รับผลกระทบจากความกังวลในเรื่องการเมือง ขณะที่นักท่องเที่ยวหดตัวถึง 5.8% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกรอบ 9 ไตรมาส
สำหรับการชุมนุมครั้งนี้ หลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจคง “ไม่มาก” เท่ากับทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจเผชิญวิกฤติจากโรคโควิด-19 อยู่แล้ว อย่างน้อยก็คงไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะยังไงก็ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา อีกทั้งการชุมนุมยังเป็นเพียงช่วง “ตั้งเตา” เริ่มมีควันแต่ไฟยังไม่ถึงกับลุกโชน เพียงแต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะประมาทไม่ได้ เพราะถ้าเหตุการณ์ลากยาว ท่ามกลางสถานกาณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย “ไทย” อาจตกขบวนการลงทุนรอบใหม่ในทันที ยิ่งช่วงเวลานี้หลายประเทศอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะย้ายฐานการผลิตจาก “จีน” ไปประเทศต่างๆ แถบอาเซียน หากการเมืองในประเทศยังเป็นเช่นนี้ รายชื่อของประเทศไทยคงอยู่ท้ายขบวน!
SOURCE : www.bangkokbiznews.com