เจาะเบื้องหลัง ‘โกดัก’ พลิกวิกฤติสู่บริษัทยาต้านโควิด
เจาะลึกเบื้องหลัง "โกดัก" ธุรกิจที่เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทที่คร่ำหวอดในตลาดฟิล์มและกล้องถ่ายรูป วันนี้กลับพลิกสถานการณ์การล้มละลาย ก้าวสู่บริษัทพัฒนาและผลิตยารักษาโรคโควิด-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) สร้างวิกฤติเศรษฐกิจไปทั่วโลก แต่กลายเป็นโอกาสให้กับโกดัก บริษัทสัญชาติอเมริกันที่ใครๆ ต่างรู้จักชื่อเสียงทางธุรกิจที่เคยผ่านการล้มละลาย และกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ในฐานะบริษัทร่วมมือกับรัฐบาลสหรัฐ เพื่อผลิตส่วนประกอบของยารักษาโรคโควิด
รัฐบาลสหรัฐได้ให้เงินกู้กับบริษัทอีสต์แมนโกดัก จำนวน 765 ล้านดอลลาร์ สำหรับเป็นเงินลงทุนในการพัฒนาและผลิตส่วนประกอบของยารักษาโรคโควิด-19 เพื่อให้สหรัฐมั่นใจว่ามียารักษาที่เพียงพอกับคนอเมริกัน และรับมือกับระบาดของไวรัส
จิม คอนติเนนซา ซีอีโอของโกดัก เปิดเผยว่า ธุรกิจในส่วนการผลิตยารักษาโรคนั้น มีสัดส่วนอยู่ประมาณ 30-40% ของธุรกิจโกดัก และอาจใช้เวลาในการก้าวไปถึงจุดการเพิ่มกำลังการผลิตยา
โกดัก ธุรกิจข้ามสายการผลิตจากวงการถ่ายภาพไปสู่การผลิตยา ซึ่งอาจถูกมองว่าเดินตามรอยเส้นทางของคู่แข่งสำคัญในอดีตอย่างบริษัท ฟูจิฟิล์ม โฮลดิ้งส์คอร์ปของญี่ปุ่น ทั้งสองเป็นบริษัทที่ขับเคี่ยวแข่งขันกันหนักในตลาดฟิล์มเมื่อศตวรรษที่ 20 แต่แล้วฟูจิก็สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มีความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์เทคโนโลยี และปรับตัวให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ได้ดีกว่าบริษัทคู่แข่งจากสหรัฐ
"โกดัก" เคยเป็นราชาแห่งวงการฟิล์มและกล้องถ่ายรูปในปี 2519 ซึ่งผูกขาดตลาดอุปกรณ์ภาพถ่ายในสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 90% ของฟิล์ม และ 85% ของยอดกล้องถ่ายภาพทั้งหมด โดยนิตยสารดิอีโคโนมิสต์ ชี้ว่า ในช่วงที่ทั่วโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจภาพถ่ายดิจิทัล โกดักได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีล่าช้า
แม้ว่าโกดักจะคิดค้นกล้องดิจิทัลตัวแรกได้ในปี 2518 แต่ในช่วงเวลานั้น ฟิล์มของโกดักเป็นเหมือนไข่ทองคำ ซึ่งกลับทำลายโอกาสที่นำพาประโยชน์มาให้ โดยที่ผู้บริหารโกดักเองก็ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้เข้ากับเทรนโลก นำไปสู่การยื่นล้มละลายต่อศาลภายใต้กฎหมายสหรัฐ บทที่11 ทำให้โกดักตกอยู่ในสภาพล้มละลายในเดือน ก.ย.2555
ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ในวงการถ่ายภาพต่างมุ่งไปสู่เทคโนโลยีการพิมพ์ และดิจิทัลด้วยความเร็วสูงเพื่อตอบสนองผู้บริโภค
หลังจากที่หยุดดำเนินธุรกิจได้ไม่นาน โกดักได้เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัล “โกดักคอยน์” (KodakCoin) เพื่อใช้ซื้อ-ขายภาพถ่ายภายใต้แพลตฟอร์ม “โกดักวัน” (KodakOne) ซึ่งจะช่วยบริหาร-จัดการลิขสิทธิ์ของช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น แต่การลงทุนเหล่านี้ดูเหมือนจุดไม่ติด
คอนติเนนซา มองว่า ภารกิจที่โกดักได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสหรัฐเพื่อผลิตยาต้านโควิด-19 ครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสในการอยู่รอด และกอบกู้ฐานะของบริษัทที่มีอายุถึง 131 ปี
เงินกู้ที่โกดักได้รับเป็นก้อนแรก อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการผลิตเพื่อป้องกันประเทศ โดยที่เงินกู้ดังกล่าวเป็นสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ และต้องชำระคืนให้ภายหลังเป็นระยะเวลา 25 ปี
โกดักเป็นบริษัททำงานเกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์มากกว่าร้อยปี และมีสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนเดิมจะช่วยให้การผลิตเกิดขึ้นในเวลารวดเร็ว โดยโกดักเตรียมที่จะขยายโรงงานในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา กับเมืองโรเชสเตอร์ รัฐนิวยอร์ก รวมถึงการจัดตั้งแผนกเวชภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ด้วย
หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2533 โกดักเคยร่วมในอุตสาหกรรมผลิตยาที่ใช้อย่างทั่วโลกอย่างแอสไพรินมาแล้ว ก่อนจะขายให้แกล็กโซสมิธไคลน์ บริษัทยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ด้วยมูลค่า 2.925 พันล้านดอลลาร์ในปี 2537
ซีอีโอโกดัก ยืนยันความตั้งใจว่า การผลิตส่วนประกอบยารักษาโควิด จะทำให้ปัญหาการขาดแคลนยารักษาโรคในสหรัฐผ่านพ้นไปวิกฤติการระบาดของไวรัสไปได้ ปัจจุบัน
สหรัฐเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในโลก 5,841,211 ราย และเสียชีวิตแล้ว 180,168 ราย
SOURCE : www.bangkokbiznews.com