พิษโควิด-19 เล่นงานท่องเที่ยวไทยเสียหายหนัก โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ตัวเลขเป็น “ศูนย์” มาตั้งแต่เดือน เม.ย. หลังรัฐบาลใช้ยาแรงประกาศล็อกดาวน์ ห้ามเครื่องบินพาณิชย์เข้าออกประเทศ หวังควบคุมโรคระบาด

ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว ที่รายได้หดหายแบบแทบไม่ทันได้ตั้งตัว จนหลายรายถึงกับแบกภาระไม่ไหว ต้องยอมยกธงขาว ตัดสินใจปิดกิจการเลิกจ้างพนักงาน ส่วนที่ไปต่อต้องพยายามรัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายกันแบบสุดๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด

ในระหว่างที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาไม่ได้ ทุกคนต้องหันกลับมาโฟกัสตลาดในประเทศ “ไทยเที่ยวไทย” เป็นหลัก ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น คนไทยแพ็คกระเป๋าออกมาเที่ยวในประเทศกันคึกคัก แต่ส่วนใหญ่ยังเน้นการเดินทางในระยะใกล้ๆ ที่สามารถขับรถไปได้

ซึ่งภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อน มีซอฟท์โลนเข้าไปช่วยเติมสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดหนี้ พักหนี้ ให้ภาคธุรกิจ ขณะที่ ครม. ได้อนุมัติงบประมาณ 2.24 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยว ผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่

โครงการ “เที่ยวปันสุข” เพื่อตอบแทนบุคลากรแนวหน้าในการรับมือโควิด-19 ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยรัฐจะสนับสนุนงบดูงาน อบรมสัมมนาผ่านบริษัทท่องเที่ยวในประเทศ คนละ 2,000 บาท

 

และโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยรัฐจะช่วยออกค่าห้องพักในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน คนละไม่เกิน 5 ห้อง หรือ 5 คืน ทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ พร้อมแจกคูปองค่าอาหาร/ท่องเที่ยว สูงสุด 900 บาท/วัน นอกจากนี้ ยังได้รับเงินคืนค่าเครื่องบินอีกคนละไม่เกิน 1,000 บาท โดยเปิดให้จองห้องพักมาตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา

แม้ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว แต่กลับไม่คึกคักเท่าที่ควร จำนวนผู้ใช้สิทธิยังน้อย มียอดจองห้องพักราวๆ 6.9 แสนสิทธิเท่านั้น จากโควต้าทั้งหมด 5 ล้านสิทธิ และขอเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินไม่ถึง 4 พันสิทธิ จากโควต้า 2 ล้านสิทธิ

จึงเป็นที่มาให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจร วันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) เบื้องต้นจะขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยเพิ่มสิทธิค่าห้องพักจาก 5 วัน หรือ 5 ห้อง เป็น 10 วัน หรือ 10 ห้อง และเพิ่มเงินคืนค่าตั๋วเครื่องบินเป็น 2,000 บาท

สุดท้ายแล้วต้องรอดูว่า ครม. จะเคาะอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะถ้าเป็นไปตามที่ ศบศ. เสนอดูยังไม่จูงใจเท่าไหร่ แม้จำนวนวันจะเพิ่มขึ้น แต่ส่วนลดค่าห้องพักยังเท่าเดิม นอกจากนี้ เหลือเวลาใช้สิทธิไม่มากประมาณ 2 เดือนเท่านั้น โดยจะสิ้นสุดในเดือน ต.ค. นี้ ยังไม่แน่ใจว่า ครม. จะต่ออายุมาตรการออกไปตามที่เอกชนเสนอให้ขยายการใช้สิทธิไปถึงสิ้นปีเป็นอย่างน้อย

แม้มาตรการที่ออกมาฟังดูแล้วเป็นข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงแรม สายการบิน ที่จะมีรายได้มากขึ้น ช่วยต่อลมหายใจ ประคับประคองธุรกิจไปได้บ้าง แต่ก็คงไม่หวือหวา เพราะกระแสตอบรับไม่ดีเท่าไหร่ จึงไม่แปลกที่ราคาหุ้นในกลุ่มแทบไม่ขยับ แม้รัฐเตรียมขยายสิทธิเพิ่ม

หากไล่ดูยอดจองห้องพัก พบว่า บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ซึ่งขณะนี้โรงแรมในเครือกลับมาเปิดให้บริการแล้วราว 70% มียอดจองห้องพักจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเข้ามา 14,500 คืน หรือ คิดเป็นรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท

ส่วนบริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW ที่กลับมาเปิดบริการเกือบ 100% มียอดจองห้องพักเข้ามาใกล้เคียงกันประมาณ 17,000 คืน คิดเป็นรายได้ราวๆ 30 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่ได้มากมายเทียบกับช่วงปกติ แต่ก็ดีกว่าไม่มีรายได้เข้ามาเลย เหมือนก่อนหน้านี้ที่ปิดไปหลายเดือน ถือว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น จุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ได้ผ่านไปแล้ว ผลประกอบการครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวจากครึ่งปีแรก 

หากเทียบฟอร์มในกลุ่มโรงแรมด้วยกันแล้ว บริษัทที่มีรายได้จากธุรกิจอาหารเข้ามาช่วย อย่างบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT และ CENTEL ดูจะมีภาษีดีกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจโรงแรม 100% อย่าง ERW เพราะธุรกิจอาหารฟื้นตัวได้เร็วกว่าโรงแรม

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปีนี้คงไม่ใช่ปีที่ดีของหุ้นโรงแรมจากผลประกอบการที่ขาดทุนหนัก บรรดากูรูสำนักต่างๆ จึงยังไม่ให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มนี้ เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง แต่เชื่อว่าถ้าคนไทยออกมาเที่ยวกันมากขึ้น ไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ มีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันได้จริง สปอตไลท์จะต้องส่องกลับมาอีกครั้งแน่นอน

SOURCE : www.bangkokbiznews.com