เส้นกั้นระหว่างข่าวกับ Reality Show
สัปดาห์ที่ผ่านมานับว่าร้อนแรงมากเลยทีเดียว สำหรับวงการสื่อกับคำถามเรื่องจรรยาบรรณและเรตติ้งที่เดินสวนทางกัน (แต่จากประสบการณ์ผู้เขียนที่เคยผลิตรายการให้กับหลายช่อง บางครั้งเรตติ้งก็ยังสำคัญน้อยไปกว่าการเมืองในบางสถานี ที่คำพูดของผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งคอยเป่าหูผู้บริหารระดับสูงของช่อง จนทำให้รายการมีเรตติ้งหลุดผังก็มีเหมือนกัน…ฮา) กลับมาที่เรื่องจรรยาบรรณสื่อที่ถูกถามหากันมากหลัง ผู้ต้องสงสัยในคดีที่หลายคนชักจะงงแล้วว่าตกลงมีคนผิดหรือไม่ กลายมาเป็นคนดังในสังคม ชนิดที่รับงานอีเวนต์ไม่เว้นวัน
เท่าที่ตามดูเรื่องนี้อยู่ห่าง ๆ ข่าวดังกล่าวมีสถานีที่ติดตามอย่างใกล้ชิดและทำงานแข่งกันชนิดผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ขณะเดียวกันยังนำเสนอประเด็นข่าวชนิดที่เด็กยุคใหม่ต้องร้อง “อิหยังวะ” จากการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่องจากสถานที่จริง จนกลายเป็นการทำข่าวในรูปแบบกึ่ง Reality Show ในระยะเวลายาวนานพอกับการออกอากาศละครหนึ่งเรื่อง จนทำให้คนดูรู้สึกผูกพันกับทุกตัวละครในเนื้อข่าว จะเห็นว่าเมื่อข่าวดำเนินเรื่องมาได้ระดับหนึ่ง บุคคลในข่าวจะกลายเป็นพระเอก นางเอก และผู้ร้าย แถมบางครั้งยังมีตัวตลกแถมมาอีก เรียกว่าครบรส ทำให้สคริปต์ข่าวดันสนุกกว่าละครหลังข่าวไปอีก
เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคดีของ โอ.เจ. ซิมป์สัน อดีตตัววิ่งของทีมบัฟฟาโล่ บิลล์ส และซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส นักอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมอดีตภรรยา และแฟนใหม่ของอดีตภรรยา เมื่อโอ.เจ. รับทราบว่าเขาตกเป็นผู้ต้องสงสัย เจ้าตัวกลับไม่ยอมมอบตัวแต่โดยดี แต่กลับให้เพื่อนขับรถพาหนี และกลายเป็นการถ่ายทอดสดการรายงานข่าวอันลือลั่น เพราะการหนีของโอ.เจ. นั้นระทึกเหมือนฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเลยทีเดียว
การหลบหนีของ โอ.เจ. เกิดขึ้นเมื่อเขาได้รับแจ้งจากทนายความให้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่โอ.เจ. ให้เพื่อนสนิท “อัล คาวลิ่งส์” ขับรถฟอร์ด บรองโก้ สีขาวไปตามฟรีเวย์ของลอสแอลเจลิสเพื่อหลบหนี เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเรื่องก็ขับรถไล่ล่า ขณะเดียวกันมีสถานีโทรทัศน์ 7 ช่องใช้เฮลิคอปเตอร์บินตามเพื่อถ่ายทอดสดอย่างใกล้ชิด
การถ่ายทอดสดกินเวลายาวนานถึง 2 ชั่วโมง ประเมินกันว่ามีผู้ชมสดในเวลานั้นถึง 95 ล้านคน เป็นการถ่ายทอดสดการรายงานข่าวที่สถานีใหญ่อย่าง NBC ยอมตัดสัญญานการแข่งขัน NBA Championship รอบที่ 5 ระหว่างฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ และนิวยอร์ค นิกส์ คิดดูแล้วกันว่า ข่าวนี้เด็ดดวงแค่ไหน
จะเห็นได้ว่าข่าวของ โอ.เจ. ซิมป์สัน มาในรูปแบบ Human Interest ส่วนหนึ่งเพราะโอ.เจ. เป็นคนที่ดังระดับประเทศ สถานีโทรทัศน์ต่างก็สู้กันสุดฤทธิ์ ด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ บินตามรถของ ฟอร์ด บรองโก้ ที่โอ.เจ. นั่งไป คดีนี้จึงถูกรายงานในทุกแง่ทุกมุม วิเคราะห์จนไม่เหลืออะไรให้วิเคราะห์
จนมาถึงวันฟังคำตัดสินของศาลในเดือนตุลาคมปี 2538 ที่พิจารณาโดยคณะลูกขุนซึ่งมีจำนวน 12 คน ประกอบไปด้วยคนผิวสี 8 คน คนขาว 1 คน สเปน 1 คน และคนเอเชีย 2 คน ซึ่งคณะลูกขุนที่ต้องนั่งฟังการต่อสู้กันระหว่าง ทนายความของโอ.เจ และ อัยการฝ่ายโจทก์ ได้ตัดสินในเดือนตุลาคมปี 2538 ว่า โอ.เจ. ไม่มีความผิดฐานฆาตกรรม และทำให้คดีนี้ กลายเป็นคดีที่ไม่สามารถหาฆาตกรที่แท้จริงได้มาจนถึงปัจจุบัน
เอาเรื่องโอ.เจ. ซิมป์สัน มาเล่าให้ฟังส่วนหนึ่งก็อยากให้เห็นบางมุมของความเป็นไปบนโลกใบนี้ค่ะว่าไม่ได้มีอะไรใหม่เลย ในอดีตสื่อต้องทำข่าวตามกระแสความสนใจของคนในสังคมอย่างไร ปัจจุบันก็ต้องทำเช่นนั้น ยิ่งคนดูเยอะ การทำข่าวก็ต้องยิ่งตอบสนองความต้องการของคนดูไปเรื่อย ๆ แต่จุดสุดท้ายแล้ว คนทำข่าวต้องมีเส้นบาง ๆ ที่กั้นเอาไว้ระหว่างความเป็นข่าว กับ Reality Show เพราะถ้าวันใด กองบรรณาธิการ หรือผู้บริหารช่องบอกให้ทำข่าวเป็น Reality Show วันนั้นความเป็นนักข่าวของคุณก็หมดความน่าเชื่อไปในทันที
SOURCE : tonkit360.com