Data Storyteller: อาชีพแห่งอนาคตเมื่อโลกเต็มไปด้วยข้อมูล
ในปัจจุบันที่ ‘ข้อมูล’ มีค่ามากกว่าทอง จะเห็นว่าเราต้องกรอกข้อมูลในทุกที่ที่เราไป ในบางบริการเราต้องยินยอมให้หน่วยงานหรือองค์กรนำข้อมูลของเราไปใช้งานพัฒนาต่อ ฟังดูแล้วน่าเบื่อ ในขณะที่หลายคนก็กังวลถึงความปลอดภัยของข้อมูล
แต่ก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลเปรียบเสมือนเชื้อเพลิง ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้เราสามารถวิเคราะห์ คิดค้น หรือแม้กระทั่งแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อเสียของการมีข้อมูลเยอะดูจะเป็นเรื่องของระบบการจัดการเพื่อให้ข้อมูลนั้นอยู่กันอย่างเป็นระเบียบ เพื่อที่จะถูกนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจ เราจึงถอดบทเรียนของคุณกุ๊งกิ๊ง - ธนิสรา เรืองเดช CEO & Co- Founder จาก Punchup กลุ่มคนที่เชื่อว่าถ้าใส่ส่วนผสมของ data + story + design อย่างพอเหมาะเข้าด้วยกันแล้ว เรื่องที่ยากและเยอะจะก็กลายเป็นเรื่องสนุกๆ ไปได้ทันที
Data สารอาหารหลักแห่งอนาคต
ส่วนประกอบแรกและเป็นหัวใจหลักของ Data Storyteller ก็คือ ‘ข้อมูล’ ยิ่งโลกและเทคโนโลยีเดินไปข้างหน้ามากเท่าไร ข้อมูลก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น และมนุษย์ก็ใช้ประโยชน์จากข้อมูลมากขึ้นเช่นกัน เพราะการเริ่มต้นด้วยการใช้ข้อมูลจะทำให้งานสื่อสารของเรามีความน่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ และที่สำคัญคือสร้างเอกลักษณ์ของงานให้โดดเด่นออกมาจากงานของคนอื่น เพราะสามารถเริ่มจากการนำข้อมูลในมุมที่คนอื่นนึกไม่ถึงมาใช้ หรือแม้กระทั่งเราเป็นคนเก็บข้อมูลด้วยตัวเอง
Story ต้องสร้างเรื่องเพราะข้อมูลพูดไม่เก่ง
ข้อมูลอาจจะเหมือนเพื่อนของเราที่เรียนเก่งมาก แต่อาจจะไม่ได้เป็นคนเจ๊าะแจ๊ะที่ถนัดในการสื่อสารเท่าไร การอ่านชีทสรุปก่อนสอบของเพื่อนคนนี้ก็เหมือนยาขมคุณภาพดี แต่รสชาติอาจไม่ถูกปากนัก ทักษะการเล่าเรื่องจึงเหมือนเครื่องปรุงให้ข้อมูลกลายเป็นอาหารอร่อยและทานง่ายสำหรับทุกคนด้วยการเชื่อมโยง จับประเด็น และการร้อยเรียงให้น่าดึงดูดตั้งแต่แค่แรกเห็นไปจนถึงคำสุดท้าย
Design แต่งจานให้น่าชิม
วัตถุดิบดี คนปรุงอร่อย ก็เหลือตกแต่งจานให้สวยงาม เนื่องจากมนุษย์เราสามารถรับและเข้าใจสารต่างๆ ด้วย ‘ภาพ’ ได้ดีที่สุด การตกแต่งและออกแบบที่แปลงข้อมูลจากตัวอักษรหลายหน้าให้กลายเป็นภาพสวยงามช่วยทำให้ข้อมูลไม่น่าเบื่อ ชวนมอง และที่สำคัญคือทำให้ผู้ชมทุกคนเข้าใจได้ง่ายที่สุด
ใบสมัครเข้าวงการ
ไม่ต้องแปลกใจที่มองซ้ายมองขวาเราก็จะเห็น feeds เกี่ยวกับ Data Storyteller เต็มไปหมด เนื่องจากสายงานนี้เป็นที่ต้องการของตลาดในยุคดิจิทัล ความใหม่ของสายงานทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก ทำให้ยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญที่จบการเรียนในสายนี้โดยตรง ไม่มีหลักสูตรที่ตายตัว แต่เราได้ย่อยทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในสายนี้ไว้เป็น 4 ข้อง่ายๆ ดังนี้
1. Data Literacy ความเข้าใจในข้อมูล
เราต้องเข้าใจว่าข้อมูลที่เราจะต้องใช้นั้นเป็นข้อมูลอะไร ใช้วิธีการแบบไหนในการรวบรวม ใช้เครื่องมืออะไรในการจัดเก็บ ซึ่งเรียกอีกชื่อว่า ‘data science’ ซึ่งถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มจากตรงไหน เราขอแนะนำวิธีที่ง่ายที่สุดคือเก็บข้อมูลด้วยตัวเองด้วยการจดไดอารี่ แต่ลองเปลี่ยนจากการเขียนบรรยายเป็นการจดด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ แทน
2. Communication Skills ทักษะการสื่อสาร
สำหรับคนที่จบตรงสายอย่างนิเทศศาสตร์หรือการตลาดอาจจะไม่มีปัญหาเท่าไรนัก แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนมาตรงสายก็สามารถฝึกฝนทักษะเหล่านี้ได้ด้วยการลองตั้งคำถาม ค้นคว้า แล้วฝึกการจับประเด็นให้แม่นยำ
3. Design
ทักษะการออกแบบเป็นอีกทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ด้วยตัวเอง คุณอาจจะลองหาข้อมูลสักชุดมาลองย่อยด้วยการวาดด้วยมือเพื่อเป็นการฝึกปรือก็ได้
4. Digital literacy
การรู้เท่าทันในโลกดิจิทัลเป็นทักษะสุดท้ายที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นทักษะของโลกอนาคต การเข้าใจและใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์จะทำให้คุณรู้จักเครื่องมือและวิธีการใช้ในการจัดการกับข้อมูลได้อย่างดี
Future is coming
จะเห็นได้ว่า Data Storyteller เป็นเรื่องที่ใหม่และต้องการทักษะหรือความสามารถที่ข้ามสายกันไปมา การที่เราจะเรียนรู้ทุกทักษะเพื่อตอบสนองทุกความต้องการอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควร สิ่งที่สามารถทดแทนได้คือการทำงานเป็นทีม เพราะการทำงานเป็นทีมสามารถเพิ่มขีดจำกัดของความเป็นไปได้อีกมากมาย เพราะสุดท้ายแล้วการจัดการข้อมูลได้อย่างแม่นยำ ก็อาจจะใกล้เคียงกับการที่เราจะรู้อนาคตมากที่สุด
________________________________________
เรียบเรียงโดย เมธัส ไกรฤกษ์
SOURCE : tcdc
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.