จัดพอร์ต ‘กระจายเสี่ยง’ รับมือ ‘สินทรัพย์โลก’ ผันผวน
ประเด็นความ “กังวล” ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในอังกฤษ ซึ่งทำให้ “รัฐบาลอังกฤษ” อาจตัดสินใจกลับมา “ปิดเมือง” อีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด บวกกับความยืดเยื้อในการออกนโยบายเยียวยาเศรษฐกิจของสภาคองเกรส
ส่งผลให้ “ตลาดการเงิน" เกิดความ "ปั่นป่วน" ครั้งใหญ่ โดยมีแรงเทขายในทุกสินทรัพย์การลงทุนไม่ว่าจะเป็น หุ้น ทองคำ และน้ำมัน ในขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทันที
ท่ามกลางความผันผวนของสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ “ผู้จัดการกองทุน” แนะนำให้นักลงทุน “กระจายการลงทุน” หรือ Asset Allocation” อย่างเหมาะสม เพื่อสอดรับกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้
ขณะเดียวกันภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ “สินทรัพย์เสี่ยง” ยังคงมี “ความน่าสนใจ” ในระยะถัดไปอยู่ เพราะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีสำหรับการลงทุนในระยะยาวสู่โลก New Normal ได้ แม้สินทรัพย์เสี่ยงจะมีแรงเทขายออกมาก็ตาม แต่ในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลงก็ถือเป็น “โอกาส” ทยอยเข้าลงทุนได้ด้วย
“ธีรนาถ รุจิเมธาภาส” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด แนะนำว่า แม้ตลาดหุ้นจะมีความผันผวนในช่วงนี้ แต่ในระยะยาวแล้ว “ยังมีอนาคต” ในระยะ 6 เดือนถึง12 เดือนข้างหน้า ภายใต้ความหวังการพัฒนาวัคซีนรักษาโควิด-19 น่าจะเกิดขึ้นชัดเจนในปีหน้าหรือ 12 เดือนข้างหน้านี้ ทำให้ในจังหวะที่ตลาดปรับฐานลงมา ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทยอยเข้าลงทุนในระยะยาวตามความเสี่ยงของผู้ลงทุนแต่ละคนเอง
ทั้งนี้ การจัดพอร์ตลงทุน หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรจะเริ่มต้นมีสัดส่วนลงทุนหุ้น 20% และทยอยเพิ่มสัดส่วนลงทุนได้ตามความเสี่ยง หากรับความเสี่ยงสูงได้ควรมีสัดส่วนหุ้นเกิน 50% ของพอร์ต และควรมีทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ
สำหรับหุ้นไทย เน้นเลือกหุ้นรายตัวไม่เกิน 15 ตัว ตามกลยุทธ์ของกองทุนเปิด ทิสโก้ สแตรทิจิก ฟันด์ (TSF) เป็นกองทุนหุ้นที่เหมาะสมกับสภาพตลาดในปัจจุบัน ส่วนหุ้นต่างประเทศ เน้นเลือกกลุ่มเซคเตอร์ที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 อย่างกลุ่มหุ้นไบโอเทค เฮลธ์แคร์เทค และโกลเบิลเทค ตามกลยุทธ์กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล เทคโนโลยี อิควิตี้ (TISTECH)
นอกจากนี้สัดส่วนลงทุนที่เหลือยังคงมีการลงทุนในตราสารหนี้ไว้รักษาเสถียรภาพของพอร์ตลงทุนไม่ให้ผันผวนและการลงทุนในรีท สร้างผลตอบแทนและมีปันผลระดับ4%ต่อปี
ทั้งนี้รูปแบบการจัดพอร์ตดังกล่าวในระดับความเสี่ยงต่ำ สัดส่วนหุ้น20% สามารถสร้างผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย2-3%ต่อปีก็ยังดีกว่าผลตอบแทนในเงินฝากหรือตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว และในระดับความเสี่ยงสูง สัดส่วนหุ้น50% ขึ้นไป สามารถสร้างผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย5% ขึ้นไปต่อปี
“นาวิน อินทรสมบัติ” รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กสิกรไทย แนะนำจัดพอร์ต “เน้นปกป้องเงินลงทุนและมุ่งสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นบางส่วน” สามารถจัดพอร์ตได้ตาม “กองทุนเปิดเค ฟิต เเอลโลเคชั่น M ( K-FITM) ” เป็นกองทุนผสมหลากหลายสินทรัพย์ ที่มีเป้าหมายผลตอบแทน 5.5% ต่อปี เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงต่ำ
โดยพอร์ตดังกล่าวแบ่งสัดส่วนการลงทุน เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 29 %, หุ้นไทย 25% , หุ้นต่างประเทศ 25% (หุ้นต่างประเทศจีน 5% หุ้นเอเชีย 4.5% หุ้นญี่ปุ่น4.5% หุ้นสหรัฐ4% หุ้นยุโรป4% หุ้นอินเดีย ), สินทรัพย์ทางเลือก 10% (ทองคำ5% อินฟราฟันด์3% อสังหาฯ2%) ,ตราสารหนี้11% (ตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว 9% ตราสารหนี้ต่างประเทศ2%)
“สมชัย อมรธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) แนะนำว่า การจัดพอร์ตลงทุนหลังจากนี้ ยังเป็นหุ้น54% เน้นหุ้นต่างประเทศ 30% โดยเฉพาะ หุ้นจีนยังสนใจในระยะถัดไป หุ้นไทย24 % ที่เหลือเป็นตราสารหนี้ 38% หุ้น 54% ทองคำ 3% กองทุนอสังหาฯและรีท 5% สามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวระดับที่ดี 5-7%ต่อปี อย่างเช่นรูปแบบการลงทุนของกองทุนเปิดกรุงไทยมีทรัพย์ (KTMEE-A) และยังคงมีสไตล์การลงทุนแบบ Aggressive ที่เปิดโอกาสรับความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น
SOURCE : www.bangkokbiznews.com