พ่อแม่อย่ารังแกฉัน! อย่าให้ปัญหาผู้ใหญ่ทำให้เด็กมีปม
เรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเกินกว่าที่เด็กจะต้องมารู้และเข้าใจ เมื่อเด็กโตขึ้น หากเด็กสามารถเข้าใจ ยอมรับได้ และทนอยู่กับสภาพนั้นได้ก็ถือเป็นเรื่องโชคดี แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะตั้งรับกับคำถามที่คนรอบข้างพากันรุมถามในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อ ยิ่งปัญหานั้นเป็นปัญหาของ “พ่อแม่” ที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบไปด้วย ผลที่ตามมากับเด็กก็คือ ทำให้เด็กโตมากลายเป็นคนมีปม
ในกรณีที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองเป็นคนดังของสังคม หากมีปัญหาระหว่างผู้ใหญ่เกิดขึ้น เด็กคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม ขณะเดียวกันผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงเลยว่าเด็กจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อถูกนำมาออกสื่อ จนกลายเป็นเหยื่อให้พ่อแม่ทำร้ายโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้นแล้ว สมควรหรือไม่ที่จะสร้างบาดแผลให้กับเด็ก เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นอาจกลายเป็นปัญหาทางสภาพจิตใจให้กับเด็กอย่างที่สุด
ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรคำนึงถึงสิทธิของเด็กให้มาก และไม่ควรที่จะไปละเมิดสิทธิของเด็กอย่างเด็ดขาด ในการนำเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาของผู้ใหญ่ และการนำเด็กมาออกสื่อยิ่งไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่มีทางรู้ได้ว่าเด็กจะต้องเผชิญหน้ากับสังคมอย่างไร
สิทธิเด็กที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องรู้
แม้จะเป็นเพียงเด็ก แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เด็กก็เป็นสมาชิกในสังคมเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ดังนั้นแล้ว เด็กควรจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เรียกว่า “สิทธิเด็ก” ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้กำหนดสิทธิเด็กไว้ 4 ประการ
สิทธิที่จะมีชีวิตรอด
เป็นสิทธิที่เด็กจะได้ตั้งแต่แรกเกิด คือ จะต้องได้รับการจดทะเบียนเกิดเพื่อเป็นประชากรของประเทศ ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ผู้ปกครองของตน พร้อมทั้งได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสที่จะเติบโตและพัฒนาต่อไป
สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง
เมื่อเด็กมีชีวิตรอด สิ่งต่อมาที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องให้ก็คือการปกป้องคุ้มครองชีวิตของเด็ก จากการใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ คุ้มครองเรื่องการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การทำงานที่อันตราย การขัดขวางการศึกษา รวมถึงเด็กมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม
สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา
พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องให้โอกาสเด็กในการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนา ตามกฎหมายเด็กต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี โดยต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพ ให้เด็กสามารถเติบโตเพื่อพึ่งพาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ พัฒนาความสามารถทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต่อยอดสู่ทักษะเฉพาะ ที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต
สิทธิที่จะมีส่วนร่วม
แม้จะยังเด็ก แต่เด็กก็คือสมาชิกคนหนึ่งในสังคมเช่นกัน เด็กจึงมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว ทั้งการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี การมีบทบาทในเรื่องต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่จะต้องจัดให้ตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็ก และไม่ควรกีดกันการแสดงออก พร้อมกับรับฟังในความคิดของเด็กด้วย
ศักยภาพของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในการเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กควรต้องมีให้แก่เด็ก คือ
Basic care คือ การเลี้ยงดูขั้นพื้นฐานหรือการดูแลในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นหลักปฏิบัติการดูแลขั้นพื้นฐานทางด้านร่างกาย หรือปัจจัย 4 ในการดำเนินชีวิตที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต้องเตรียมพร้อมให้กับเด็ก
Ensuring safety คือ การสร้างหลักประกันว่าเด็กจะปลอดภัย พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องปกป้องคุ้มครองเด็กให้ปลอดภัยจากอันตรายหรือการถูกทำร้าย ไม่ว่าจะเกิดจากคนในครอบครัว คนแปลกหน้า หรือแม้แต่ตัวเด็กเอง ที่อาจเกิดขึ้นจากความไร้เดียงสา ความไม่รู้ของเด็ก ซึ่งยังไม่สามารถจะรับผิดชอบตัวเองได้เอง
Emotional warmth คือ ความอบอุ่นทางอารมณ์ พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้กับเด็ก ดูแลให้เด็กมั่นใจว่าได้รับการตอบสนองต่อความจำเป็นพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี อบรมสั่งสอน ปลูกฝังทัศนคติที่ดี เพื่อที่เด็กจะได้เติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่มีปัญหาสภาพจิตใจ หรือที่เรียกว่า “ขาดความอบอุ่น”
Stimulation คือ การกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการทางความคิดของเด็กด้วยการกระตุ้นการคิด ให้กำลังใจและให้โอกาสทางสังคม ให้การศึกษาเพื่อให้เด็กนำไปพัฒนาต่อ
Guidance and Boundaries คือ การให้คำแนะนำและขอบเขต เป็นหน้าที่สำคัญของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องช่วยให้เด็กสามารถปรับอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้ ด้วยการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ในการแสดงพฤติกรรม ควบคุมอารมณ์ และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมกับผู้อื่นได้อย่างอัตโนมัติ ให้เด็กสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสังคม
Stability คือ ความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติต่อเด็กอย่างเสมอต้นเสมอปลาย การช่วยให้สิ่งแวดล้อมในครอบครัวมั่นคง เพียงพอที่เด็กจะสามารถพัฒนาและดำรงไว้ซึ่งความผูกพันที่มั่นคงต่อผู้ดูแลหลักเพื่อพัฒนาการที่เหมาะสม
จะเห็นได้ว่า การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพได้นั้น เป็นสิ่งที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองกำหนดขั้นพื้นฐานให้ ฉะนั้น การทำร้ายร่างกายและจิตใจไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม การทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติ การปล่อยให้เด็กต้องตกอยู่ในสภาวะอันตรายไม่ว่าจะจากบุคคล สังคม หรือสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิเด็ก และการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก จะทำเด็กเติบโตขึ้นมาอย่างมีปัญหา กลายเป็นปมที่ฝังใจไปจนโต เสมือนรอบเปื้อนที่ไม่สามารถล้างออกได้
หากต้องการให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในสังคม พ่อ แม่ ผู้ปกครองก็ต้องมองให้รอบด้าน จะคิดจะทำอะไรต้องนึกถึงจิตใจลูกเป็นหลัก ซึ่งถ้าเด็กได้รับการดูแลส่วนนี้อย่างสมบูรณ์ ก็ยากเหลือเกินที่จะช่วยชีวิตของเด็กคนหนึ่งสดใสได้
ข้อมูลจาก มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก