4 ทศวรรษ จาก‘ม็อบ14ตุลา16’ ถึง‘ม็อบ63’ จุดร่วมที่หายไป
หา"จุดร่วมที่หายไป" ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ม็บ14ต.ค.2563จะต้องนำมาพิจารณา ดพราะไม่เช่นนั้นอาจต้องเผชิญสภาวะแนวร่วมถดถอยเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
แม้จะล่วงเลยกว่า 4 ทศวรรษ นับจากเเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สัญลักษณ์เดือนตุลา” ยังคงถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นและเงื่อนไขในการปลุกระดมมวลชนและการรวมกลุ่มทางการเมือง แทบทุกยุคทุกสมัย
ไม่ต่างไปจาก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และ กลุ่มเยาวชนปลดแอก รวมถึงกลุ่มแนวร่วมที่ถือเอาเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” ยึดพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นจุดนัดหมายชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ต.ค.นี้
ท่าทีล่าสุดจาก “อานนท์ นำภา” แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้จะยังคงใช้ยุทธวิธี “ประโคมโหมโรง” ปลุกแนวร่วมด้วย “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ซึ่งเขามั่นใจว่า การ “ขยับเพดาน” การต่อสู้แบบม้วนเดียวจบในครั้งนี้ จะถึงขั้นทำให้รัฐบาลรวมถึง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม "ต้องลาออก"
คงต้องจับตาว่า "บิ๊กเซอร์ไพรส์" ที่เขาบอกว่า เบิ้ม!กว่าเดิมจะเป็นอะไร
ทว่า ม็อบครั้งนี้ซึ่งต่อเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ถูกมองว่า เป็นจังหวะ “ก้าวพลาด” แทนที่จะ “ก้าวย่าง” เวลานี้ยังคงเผชิญสภาวะลำบากทั้งการไร้ผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นตัวหลอมรวมมวลชนเข้าด้วยกัน
ยิ่งนานวันยิ่งปรากฎภาพการชุมนุมที่มีแต่กลุ่มคนเสื้อแดง และม็อบนักศึกษาในธรรมศาสตร์ แต่ไร้เครือข่ายที่เคยประกาศตัวก่อนหน้านี้ ทั้งเครือข่ายจุฬาฯ และเครือข่ายรามคำแหง รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ม็อบเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ถูกมองว่าไม่ต่างอะไรกับม็อบจัดตั้ง
แม้แต่ตัว "อานนท์" เองก่อนหน้านี้ยังถึงขั้นเอ่ยปากว่า
"การชุมนุมวันที่ 14 ตุลา ถ้ามี อาจไม่มีศิลปินที่กล้าขึ้นเวทีมากนัก เวทีเราก็อาจจะไม่ใหญ่มากนัก และการจัดการก็อาจทุลักทุเลพอสมควร อาจจะมีแค่คนปราศรัยเป็นหลัก ความบรรเทิงอาจลดลงถึงอาจไม่มีเลย
แล้วเราจะยังจะมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมหรือไม่ หรือเราจะยอมแพ้ แล้วปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามชะตากรรมอย่างที่เขาต้องการ"
การพูดเช่นนี้แง่หนึ่งอาจมองได้ว่า เป็นเทคนิคในการปลุกระดมมมวลชนให้ออกมาร่วมต่อสู้อย่างล้นหลาม
แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจมองว่า การพูดเช่นนี้หมือนเป็นการส่งสัญญาณและยอมรับกลายๆแล้วว่า ขณะนี้แนวร่วมที่มีอยู่ลดน้อยถดถอยลง
อีกภาพที่ปรากฎชัดคือ การไร้ประเด็นร่วมในการต่อสู้ และการเล่นใหญ่ด้วยข้อเสนอทะลุเพดานตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนนี้เองที่อาจทำให้แนวร่วมเริ่ม “ตีตัวออกห่าง” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่นับตั้งแต่การเข้าเทคโอเวอร์ ของ “หญิงอ้อ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ภริยา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มมีมีสัญญาณแยกตัวออกจากม็อบ เพื่อลบครหาในเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” จากคนแดนไกล รวมทั้งกันตัวออกจากข้อเสนอที่สุดจัด “ทะลุเพดาน” และพุ่งเป้าไปที่แก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดทางรื้อระบบเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็น “ผลไม้พิษ” ที่ทำให้พรรคไร้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประเด็นสำคัญ
ฟากฝั่งรัฐบาลที่มีเสียง 250 ส.ว.อยู่ในมือ เหมือนจะรู้เกมตรงนี้ดี เห็นชัดจากกระแสข่าวที่ “บิ๊กตู่” ตั้งโต๊ะถกบิ๊กรัฐบาลหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ปักธงโหวตผ่านเฉพาะญัตติรัฐบาลและฝ่ายค้าน (เพื่อไทย) ในประเด็นการแก้ไขมาตรา 256 เปิดทางตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
แต่ไม่เอาด้วยกับการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ซึ่งเป็นฐานค้ำบัลลังก์รัฐบาล ไม่แตะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 ดังที่พรรคเพื่อไทยเคยหักดิบก้าวไกลมาแล้วก่อนหน้านี้
ไม่แน่ว่าประเด็นนี้อาจกลายเป็นอีกหนึ่ง "ดีลพิเศษ" ตามที่มีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้ก็ได้
ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” และ “คณะก้าวหน้า” แม้เวลานี้จะประกาศตัวเป็นแนวร่วมม็อบนักศึกษา แต่ที่ผ่านมาก็ไม่ได้แสดงบทบาทในฐานะแกนนำ หากแต่เป็นเพียงแนวร่วมอยู่หลังฉากเท่านั้น โดยเฉพาะประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคก้าวไกลรู้ดีอยู่แล้วว่าการตั้งส.ส.ร.เพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ย่อมส่งผลไปถึงการรื้อระบบเลือกตั้งซึ่งพรรคได้ประโยชน์ชนิดที่เรียกว่า "ส้มหล่น" ที่นอกเหนือจากส.ส.เขตแล้วยังกวาดส.ส.บัญชีรายชื่อมากที่สุดในสภา
จึงไม่แปลกที่ในช่วงที่ผ่านมาก้าวไกลจะอิงกระแสม็อบชูประเด็น "ปิดสวิชต์ส.ว." เป็นประเด็นสำคัญ
การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 ต.ค.นี้ จริงอยู่ที่การหยิบเอาเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” มาเป็นตัวปลุกกระแสม็อบ จะมีผลในแง่การแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง
แต่ต้องไม่ลืมว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้มีจุดร่วมที่ชัดเจนคือ การตัดอำนาจระบอบทหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย จนเป็ที่มาของ "13ขบถรัฐธรรมนูญ"
ผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้น นำมาสู่การลาออกของจอมพลถนอม กิตติขจร มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประชาชนต่าง ๆ จนถูกมองว่าเป็นยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน และเป็นครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20
ดังนั้นการชุมนุมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ม็อบจะต้องพิจรณาเพื่อถอดบทเรียนและหา"จุดร่วมที่หายไป" ให้ได้ มิเช่นนั้นอาจต้องเผชิญสภาวะแนวร่วมถดถอยเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
SOURCE : www.bangkokbiznews.com