'เศรษฐกิจไทย' ในสายตาโลกก้าวให้ข้าม ผ่านสิ่งท้าทายให้ได้
องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดทำรายงาน Trade Policy Review สำหรับประเทศไทยในฐานะสมาชิกWTO โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและพันธกรณีของสมาชิก และไม่มีนัยทางกฎหมายว่า มาตรการที่กล่าวถึงในรายงานสอดคล้องกับความตกลงในกรอบ WTO หรือไม่
สำหรับรายงานที่เผยแพร่เมื่อ 24 พ.ย.2563ที่ผ่านมามีสาระสำคัญ ที่กล่าวถึงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานข้อมูลปี 2562 พบว่า ประเทศไทยช่วง 5 ปี (2558-2562) โดยมีอัตราขยายตัวเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 3.4% ปัจจัยหลักๆมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก และยังมีโครงสร้างของภาคบริการซึ่งรวมถึงการก่อสร้าง ในสัดส่วนถึง 61% ต่อจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558ที่58% ขณะที่สัดส่วนจากภาคการผลิตและการเกษตรต่อจีดีพีมีแนวโน้มลดลง
นอกจากนี้พบว่าคนไทยมีรายได้เฉลี่ยปี 2562 อยู่ที่ 8,000 ดอลลาร์ ต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยที่ 240,000 บาท ซึ่งเป็นแรงขับให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศมีรายได้ปานกลางระดับบน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการดิ่งตัวทางเศรษฐกิจจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด ซึ่งเป็นผลทำให้การส่งออกหดตัว เช่นเดียวกับการลงทุนและการบริโภค แต่รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการพยุงสถานการณ์เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังของปี2562
ขณะที่ 2563 ไทยก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากจากโควิด-19 ที่ทำให้การค้าโลกหดตัว ซึ่งส่งผลต่อไทยในหลายด้านทั้งการส่งออกสินค้า ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักการขับเคลื่อนจีดีพีประเทศ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก กระทั่งผลกระทบต่อการจ้างงานอยู่ในภาวะเสี่ยง ต่อเนื่องไปถึงการบริโภค การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chains)และการลงทุนที่หดตัว นำไปสู่ความไม่แน่นอนของดีมานด์ในตลาด การจ้างงานและรายได้ประชาชนที่อยู่ในภาวะอ่อนแอ
จากปัญหาต่างๆ นำไปสู่การออกแพคเกจพยุงเศรษฐกิจ ที่คิดเป็นสัดส่วน 14% ของมูลค่าจีดีพี และหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจของไทยประเมินว่าปีนี้ จีดีพีจะติดลบที่ 8.1% เนื่องจากองค์ประกอบทางเศรษฐกิจต่างๆได้รับผลกระทบ และมีการประเมินอีกว่า การจ้างงาน 8.4 ล้านตำแหน่งอยู่ในภาวะเสี่ยง
ทั้้งนี้ ฐานะทางการคลังของไทยที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง ที่ 224.3 พันล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี 2562 ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทแข็งค่าและเป็นเเรงกดดันต่อขีดแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศแม้ว่า เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นปีจากการระบาดโควิดก็ตาม
“ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลไทยที่เคร่งครัดต่อสุขภาพทางการคลังช่วงที่ผ่านมา มีการออกกฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบทางการคลัง หรือ Fiscal Responsibility Act (FRA) ซึ่งเข้มงวดเรื่องเป้าหมายหนี้ การใช้งบประมาณ และการลงทุนต่างๆ”
ด้านการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI)ของไทยมีแต้มต่อจากสถานะการเป็นตัวเชื่อมสำคัญของอาเซียนและภูมิภาค ที่กลายป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนไทยออกไปนอกประเทศเพิ่มขึ้น และส่งให้ไทยอยู่ในฐานะเป็นผู้ส่งออกการลงทุนแห่งหนึ่ง
เนื้อหาในรายงานได้มองไปถึงสถานการณ์ข้างหน้าว่า เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ จากโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่มีข้อจำกัด ได้แก่ ระดับการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต่ำ และยังถมทับด้วยผลจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติและความตึงเครียดทางการเมืองที่ประเมินว่ามีผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย
ประเทศไทยยังเผชิญกับปัจจัยท้าทายว่าด้วย ประเด็นความไม่เท่าเทียมทั้งเรื่องรายได้ที่ไม่มีความไม่เสมอภาค ในช่วงไม่่กี่ปีที่ผ่านมา และซ้ำเติมด้วยปัญหาภาระทางการคลังว่าด้วยการใช้จ่ายสำหรับกลุ่มประชากรสูงอายุซึ่งจะเป็นปัญหาต่อโครงสร้างตลาดแรงงานในอนาคต
ปัจจัยท้าทายอีกประการคือ ความพยายามเพิ่มผลิตภาพ และขีดแข่งขัน ซึ่งต้องเพิ่มการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการเพิ่มการค้าและการลงทุนที่เสรี รวมถึงการดึงภาคบริการให้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจให้มากขึ้น
“ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยการนำไทยแลนด์ 4.0 ที่ว่าด้วยการองค์วามรู้ทางเทคโนโลยีมาเป็นพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม การยกระดับโครงสร้างทางกายภาพ”
ที่ผ่านมาไทยทำข้อตกลงการค้าเสรีในหลายกรอบ รวมถึงความพยายามปรับกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น พิธีการศุลกากร แต่ในทางกลับกันพบว่าด้านระเบียบเพื่อการลงทุน หรือการทำธุรกิจจากต่างประเทศกลับไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การเข้มงวดการถือหุ้นของต่างด้าวในธุรกิจต่าง ๆเช่น สื่อ เหมืองแร่ บริการทางการเงิน โทรคมนาคม ท่องเท่ี่ยวและขนส่ง เป็นต้น
ด้านการกำหนดอัตราภาษี ก็พบว่าการกำหนดภาษีของไทย (MFN tariff)มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยปี 2557 อัตราภาษีเฉลียอยู่ที่ 13.4% แต่ในปี2563 เพิ่มขึ้นเป็น 14.5% ส่วนการนำเข้าก็ยังมีเงื่อนไขต่างๆ เช่น การขอใบอนุญาต การกำหนดโคตาภาษีบางสินค้า
จากความท้าทายต่างๆ กำลังเป็นตัวเร่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเปลี่ยนผ่าน (transformation)แต่จะทำได้หรือไม่ การนำมุมมองจากภายนอกประเทศมาร่วมพิจารณาก็เป็นทางลัดที่จะช่วยให้เป้าหมายประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น