ภาคค้าปลีกเป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่มีพลังขับเคลื่อนมากที่สุด มีการพัฒนาและปรับตัวเข้ากับความนิยมและความคาดหวังของผู้บริโภคอยู่เสมอ ในปัจจุบัน ผู้บริโภคเลือกซื้อของออนไลน์แทนการซื้อที่ร้านมากขึ้น และคาดว่าแนวโน้มจะยังเป็นเช่นนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม บทบาทของร้านค้าที่มีหน้าร้านจะยังไม่หายไป แม้จะมีการเปลี่ยนแปลง การช้อปปิ้งแบบผสมผสาน (Hybrid Shopping) หรือการค้าปลีกที่ผสมผสานการซื้อขายแบบออนไลน์และหน้าร้าน (Phygital Retail) ได้กลายเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นในปี 2567 ด้วยการผสมผสานตั้งแต่ประสบการณ์ช้อปปิ้งออนไลน์เสมือนจริงของคนรุ่น Gen Z ไปจนถึงความต้องการของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่ยังชอบความสะดวกสบายของการช้อปปิ้งภายในร้าน

การค้าปลีกที่ผสมผสานอย่างไร้รอยต่อระหว่างการช้อปปิ้งออนไลน์กับหน้าร้าน (Phygital Retail) ทำให้ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าออนไลน์ เช็คว่ามีสินค้าในร้านหรือไม่ และซื้อผ่านช่องทางที่ตัวเองต้องการ แนวทางแบบผสมผสานนี้ยกระดับจากการซื้อขายแบบเดิมให้เป็นประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ตรงตามความชอบของลูกค้าแต่ละรายมากขึ้นและดึงดูดใจมากขึ้น นอกจากนี้ ด้วยข้อมูลการช้อปปิ้งที่เฉพาะตัวของลูกค้า ส่งผลให้แบรนด์สามารถพัฒนาการให้บริการและสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สอดคล้องกับผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุได้

จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น จอแบบอินเตอร์แอคทีฟ และเทคโนโลยีที่ทำให้ลูกค้าสามารถทดลองสินค้าแบบเสมือนจริง (AR Try-ons) นับเป็นการที่ผู้ค้าปลีกสามารถสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ลูกค้าประทับใจได้ นอกจากนี้ คิวอาร์โค้ด แอปพลิเคชันบนมือถือ และการเก็บข้อมูลตามเวลาจริง ยังช่วยให้แบรนด์สามารถเข้าใจในพฤติกรรมและความชอบของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้แบรนด์สามารถวางกลยุทธ์ด้าน Phygital Retail ให้ได้ผลสูงสุด  โดยผลการศึกษาในเดือนมีนาคม 2567 ของแมคคินซีย์ (McKinsey) ระบุว่าการปรับแต่งประสบการณ์การช้อปปิ้งให้ตรงตามความชอบของลูกค้าสามารถเพิ่มรายได้ถึง 15% และลดค่าใช้จ่ายในการหาลูกค้าลง 50% นอกจากนี้ยังส่งผลให้ร้านค้าปลีกสามารถเพิ่มอัตราการซื้อซ้ำของลูกค้า สร้างการรับรู้ถึงแบรนด์ และเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้นมาก

ความเข้าใจในความชอบของคนแต่ละรุ่นมีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้ค้าปลีกในการที่จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่การค้าปลีกแบบ Phygital Retail  คนรุ่นเก่ามักจะชอบประสบการณ์การช้อปปิ้งในร้านที่จับต้องสินค้าได้ แต่ก็มีความคุ้นเคยและเต็มใจมากขึ้นที่จะซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่ลูกค้ารุ่นใหม่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อศึกษาเกี่ยวกับสินค้า เปรียบเทียบราคา และสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งเฉพาะตัวมากขึ้น แต่ก็ยังชอบที่จะช้อปปิ้งหน้าร้านเช่นกัน ดังนั้น อนาคตของภาคธุรกิจค้าปลีกจึงขึ้นอยู่กับการผสมผสานวิธีซื้อขายแบบออนไลน์และออฟไลน์  แบรนด์ที่สามารถผสมผสานประสบการณ์ซื้อของออนไลน์เข้ากับการซื้อหน้าร้านได้จะสามารถดึงดูดและรักษาลูกค้าในวัยต่าง ๆ ไว้ได้มากที่สุด

ซีบีอาร์อีเชื่อว่าประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ไร้รอยต่อจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่  รายงานล่าสุดของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี (แนวโน้มตลาดค้าปลีกระดับโลก เดือนสิงหาคม 2567) ชี้ให้เห็นว่า การค้าออนไลน์นั้นยังคงเติบโตอย่างเนื่องในกลุ่มลูกค้าทุกช่วงวัยที่อาศัยอยู่ในตลาดหลัก ๆ  และเห็นได้ชัดว่าประเทศจีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ เป็นผู้นำในการปรับตัวเข้าสู่การค้าออนไลน์  นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ รายงานได้เน้นย้ำให้เห็นถึงการเติบโตของการค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z  ซึ่งมอร์นิ่งสตาร์ (Morning Star) คาดการณ์ว่าคนกลุ่ม Gen Z จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดในปี 2578

“ขณะที่การช้อปปิ้งออนไลน์ไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอลง ร้านค้าจริงก็ยังไม่ได้ถูกเพิกเฉย แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการช้อปปิ้ง แม้จะมีการคาดการณ์ถึงยุคสิ้นสุดของการซื้อสินค้าจากหน้าร้าน แต่การสำรวจของอี-มาร์เก็ตเตอร์ (eMarketer) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนกลุ่ม Gen Z ยังชอบซื้อของในร้านมากกว่าโดยเฉพาะหากเป็นการซื้อสินค้านั้นครั้งแรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภครุ่นใหม่ยังให้คุณค่ากับประสบการณ์การซื้อของในศูนย์การค้าที่สามารถจับต้องสินค้าได้” โชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เผย

เราเชื่อว่า ในยุคของ Phygital Retail หรือการค้าปลีกที่ผสมผสานโลกออนไลน์เข้ากับโลกจริง ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกต้องสรรสร้างสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าศูนย์การค้ายังมีความสามารถที่จะแข่งขันได้ในตลาดต่อไป

กลยุทธ์สำคัญของธุรกิจค้าปลีก ได้แก่:

1) เน้นการสร้างประสบการณ์: จัดกิจกรรม เวิร์คช้อป และร้านค้าป๊อปอัพที่มีความโดดเด่น ไม่ซ้ำใคร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำและดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย

2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เช่า: ส่งเสริมให้ความร่วมมือในกลุ่มร้านค้าปลีกที่เป็นผู้เช่าพื้นที่ เพื่อให้เกิดการนำเสนอสินค้าและบริการที่ช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ อย่างกว้างขวางขึ้นได้

3) ปรับเข้ากับความต้องการของผู้เช่าที่กำลังเปลี่ยนไป: เสนอเงื่อนไขการเช่าที่ยืดหยุ่น เช่น การเช่าระยะสั้นสำหรับพื้นที่ขายชั่วคราว (ป๊อปอัพ) และมีบริการส่วนกลางที่จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของผู้ค้าปลีก

ด้วยกลยุทธ์ข้างต้นนี้จะช่วยให้ผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกสามารถเปลี่ยนศูนย์การค้าให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คึกคัก ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการและความนิยมที่กำลังเปลี่ยนไปของผู้บริโภคทุกช่วงวัยในปัจจุบัน

ในอนาคต คาดว่าผู้พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์การช้อปปิ้งอันน่าดึงดูดใจ ที่ผสมผสานการค้าปลีก อาหาร ความบันเทิง และบริการเข้าด้วยกัน ความร่วมมือและการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระหว่างผู้ค้าปลีกจากธุรกิจที่หลากหลายจะเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยที่มีความสอดคล้องกันและน่าดึงดูดใจ  นอกจากนี้ การลงทุนเพิ่มขึ้นในการพัฒนาช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับโทรศัพท์มือถือ รวมถึงเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างโลกจริงและเสมือนจริงเข้าด้วยกัน (AR) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเป็นสิ่งสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในโลกค้าปลีกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป