Green Festival
ช่วงสิ้นปีแบบนี้เป็นมักช่วงที่รู้สึกสดชื่นรื่นเริงใจ เพราะนอกจากจะมีวันหยุดยาวแล้ว ทุกพื้นที่ยังเต็มไปด้วยแสงสีที่สวยงามของการจัดงานเทศกาล มีองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ดึงดูดใจ เช่น การแสดงดนตรี การแสดงศิลปะ การจัดแสดงสินค้า หรือกิจกรรมที่มีส่วนร่วมของผู้เข้าชม เพื่อกระตุ้นให้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก งานเทศกาลมักจะจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณี พร้อมกับความคาดหวังผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวย่อมก่อให้เกิดการขายสินค้าและบริการ และการสร้างงานชั่วคราวให้กับชุมชน ปัญหาที่ตามมาหลังจากการจัดงานเทศกาลย่อมหนีไม่พ้นเรื่องมลภาวะจากพาหนะและขยะหลังจบงาน ภาพเต็นท์ร้าง ขยะจากอาหาร กระป๋องเปล่า และขวดพลาสติกที่เกลื่อนพื้นที่มักปรากฎให้เห็นในทุกปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลเท่ากับเรื่องการจัดการกับขยะเหล่านั้น
จะดีกว่าไหม?
หากมีการวางแผนเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ก่อนเริ่มจนจบงาน ซึ่งควรเป็นความร่วมมือร่วมใจกันของทั้งผู้จัดงาน ผู้เช่าพื้นที่ในการขายสินค้าและบริการ รวมถึงผู้เข้าร่วมงานด้วย
How to plan a green festival
สถานที่จัดงาน
หากยังไม่มีการกำหนดสถานที่จัดงาน ควรเลือกสถานที่ ๆ มีขนส่งสาธารณะผ่านหลายประเภทที่สุด ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์, BTS, MRT แต่หากสถานที่จัดงานมีการกำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ก็ควรจัดให้มี พาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือไบโอดีเซล รับ-ส่ง ผู้เข้าร่วมงานจากจุดที่ใกล้ขนส่งสาธารณะมากที่สุด เพื่อกระตุ้นให้คนเลือกใช้วิธีการเดินทางที่ลดการใช้พลังงาน รวมถึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้โดยแสดงแผนที่ เส้นทางให้ผู้เข้าร่วมทราบ
วัสดุจัดบู๊ทและนิทรรศการ
พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการนั้น โครงสร้างส่วนใหญ่ที่ใช้มักจะเป็นโครงสร้างเหล็กแบบโมดูลลาร์ ที่สามารถถอดประกอบละนำกลับมาใช้ใหม่ได้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของการตกแต่ง Displays ในงาน รวมถึงการตกแต่งบู๊ทร้านค้า มักจะเป็นวัสดุชั่วคราวที่จบงานก็รื้อกลายเป็นขยะ ดังนั้นผู้จัดงานจึงควรมีการกำหนดนโยบายให้ใช้วัสดุที่ Re use หรือ Recycle ได้ ประกอบกับแผนงานที่ชัดเจนในกำจัดวัสดุเหล่านั้น และสนับสนุนให้ใช้วัสดุในพื้นที่ เพื่อลดคาร์บอนจากการขนส่งทางไกล
การใช้พลังงาน
หากสถานที่จัดงานเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการใช้แบตเตอรี่แบบใช้ครั้งเดียวหรือเครื่องปั่นไฟประเภทเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซล เนื่องจากก่อให้เกิดการปล่อยควันพิษและมลพิษทางเสียง สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างและอุปกรณ์ทางเทคนิคได้ หรืออาจเพิ่มจุดกิจกรรมปั่นจักรยานตามจังหวะเพลงเพื่อใช้พลังงานกลในการชาร์จโทรศัพท์มือถือ
หากสถานที่จัดงานอยู่ภายในอาคารย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ แต่สามารถลดการใช้พลังงานได้โดยปรับการใช้ความเย็นในอาคารให้เหมาะสม ลดการใช้พลังงานและค่าใช้จ่าย ควรใช้หลอดไฟประหยัดพลังงานและใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติ (ไม่ใช่แสงประดิษฐ์) ทุกตำแหน่งที่เป็นไปได้ และปิดไฟที่ไม่ใช่ไฟฉุกเฉินทั้งหมดในพื้นที่ว่าง
การลงทะเบียน
ลดขนาดแบบฟอร์มการลงทะเบียนกระดาษ หรือใช้วิธีการลงทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และเปลี่ยนจากการแจกแผ่นพับ เป็นการ scan รับข้อมูลทาง QR code หากมีการแจกถุงหรือของขวัญอื่นๆ ให้ใช้สินค้าที่ย่อยสลายได้ รีไซเคิลได้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านค้าจัดเตรียมสื่อส่งเสริมการขายด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การบริการอาหารและเครื่องดื่ม
กำหนดแผนจูงใจ เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ส่วนลดค่าธรรมเนียมบู๊ทขายอาหาร หรือมอบรางวัล เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของร้านค้าหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น อาหารท้องถิ่น อาหารออร์แกนิก สนับสนุนอาหาร ผลไม้และผักตามฤดูกาลที่หาได้ในท้องถิ่น และใช้เครื่องดื่มยี่ห้อในประเทศหากเป็นไปได้
ส่งเสริมการใช้จาน ชาม ขวดและแก้วน้ำที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยจัดให้มีจุดบริการเติมน้ำดื่มฟรี ควรเลือกใช้แก้วที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มากกว่าพลาสติกรีไซเคิล อำนวยความสะดวกให้แก่ร้านค้าในการคัดแยกขยะเศษอาหารเพื่อนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือจัดตั้งถังปุ๋ยหมักในบริเวณร้านอาหารที่ทั้งผู้ขายและผู้บริโภคสามารถเห็นได้ชัด
การจัดการขยะ
การจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ มาจากการแยกขยะที่ถูกต้อง ซึ่งนอกจากการจัดตั้งถังแยกขยะให้เพียงพอแล้วนั้น ควรมีพนักงานหรืออาสาสมัครประจำอยู่ในแต่ละจุด เพื่อช่วยแนะนำการแยกขยะด้วย เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ และควรมีถังแยกขยะอย่างน้อย 3 ประเภท ได้แก่ ถังขยะอินทรีย์(เศษอาหาร), ถังขยะรีไซเคิล และถังขยะทั่วไปหรือขยะกำพร้า(วัสดุที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้) ซึ่งบางกิจกรรมอาจต้องเพิ่มถังขยะเฉพาะอีกประเภท คือ ถังขยะอันตราย
การแยกขยะ 4 ประเภท
ตัวอย่างการแยกขยะในงานกาชาด ปี 2022 โดยมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำประจำอยู่ทุกจุด ปัญหาใหญ่ ของการจัดการขยะในปัจจุบัน คือ การปนเปื้อนของเศษอาหารกับขยะประเภทอื่น โดยเฉพาะขยะรีไซเคิล ดังนั้นการให้ผู้เข้าร่วมงานมีส่วนร่วมในกระบวนการลดปริมาณขยะ จึงเป็นการส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ตัวอย่างงานที่เป็น Green Festival ซึ่งทำได้ดีมาตลอดหลายปี คือ Thailand Coffee Fest. งานใหญ่ประจำปีที่ The Cloud ร่วมกับ สมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ‘กาแฟ’ ซึ่งในปี 2024 นี้ก็เป็นปีที่ 9 แล้ว งานจัดต่อเนื่องกัน 4 วัน มีผู้ร่วมงานประมาณ 20,000+ คนต่อวัน และมีร้านค้ามากกว่า 200+ ร้าน ซึ่งปีนี้ทีมผู้จัดงานมีแนวความคิดที่จะสร้างให้เป็น Carbon Neutral Event หรืออีเว้นต์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากงานนับได้เท่ากับศูนย์ โดยการคำนวนคาร์บอนเครดิตทุกการใช้พลังงาน รวมถึงบันทึกวิธีการเดินทางมาสถานที่จัดงานของผู้เข้าร่วมงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อนำข้อมูลไปคำนวณการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยต่อไป ซึ่งในปีนี้ จะมีการติดตั้ง Dashboard แสดงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในงานแบบเรียลไทม์ด้วย ข้อมูลบนบอร์ดจะเชื่อมโยงกับข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมงานกรอกเข้ามา ทำให้ผู้เข้าร่วมงานรู้ได้ทันทีเลยว่าการเดินทางด้วยรถส่วนตัว 1 ครั้ง สร้าง Carbon Footprint ขนาดไหน และปลายทางของขยะมากมายในงานจะกำจัดอย่างไรให้ถูกวิธีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด
การออกแบบ แผนผัง และดีไซน์งานนั้น ทางผู้จัดได้ทำแบบสอบถามไปยังเกษตรกรถึงเรื่องของโครงสร้าง และดีไซน์องค์ประกอบของงานว่าหลังจบงานแล้ว สามารถจะเอาอะไรไปใช้ต่อได้บ้าง ทำให้งานดีไซน์ภายใน Thailand Coffee Fest 2024 จะใช้วัสดุที่จะนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรเพื่อใช้งานในลำดับต่อไป เช่น ผ้าขาวบาง ท่อน้ำ ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้เกิด Zero Waste ที่เริ่มคิดตั้งแต่ต้นทาง
ตัวอย่างการเลือกใช้วัสดุในการตกแต่ง Displays ในปี 2022 เป็นการตกแต่งด้วยกระดานดำแบบมีขาตั้ง ซึ่งหลังจากจบงานแล้วสามารถแจกจ่ายให้นำไปใช้ในร้านกาแฟ หรือร้านอาหารต่อ
ปี 2023 เลือกใช้วัสดุตกแต่งด้วยตาข่าย PVC เรียงรายห้อยลงมาจากเพดาน ซึ่งสามารถมอบให้ชาวสวนกาแฟนำไปใช้้โพรเซสกาแฟต่อได้
นอกจากนี้ในส่วนที่เป็นโซนขายอาหารภายในงานจะมีจุดทิ้งขยะกระจายอยู่บริเวณรอบ ๆ พื้นที่ พร้อมทีมงานที่คอยให้คำแนะนำในการแยกขยะ และจัดส่งไปกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าครับ
โดย นาย ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด