การเคหะแห่งชาติพุ่งเป้าพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2568 ให้สอดรับกับนโยบายของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่อง 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ในด้านที่ 5 สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม พัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้รองรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกมิติ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกายได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเมืองและฟื้นฟูเมืองที่มีแผนการพัฒนาที่แตกต่างกันตามสภาพอาคารที่อยู่อาศัยและที่ตั้งโครงการการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการอยู่อาศัย ภายใต้แนวคิด “สร้างบ้านที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Housing for all)” ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาโครงการรองรับทุกกลุ่มเป้าหมาย ด้วยการออกแบบเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนทั้งมวล ตามแนวคิด Universal Design และการนำหลักเกณฑ์การออกแบบบ้านและชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Eco Friendly โดยการเคหะแห่งชาติพัฒนาเกณฑ์ NHA Eco –Village ตามมาตรฐาน LEED for Home, LEED for Neighborhood Development และเกณฑ์ Green Mark for Residential Building มาใช้ในการออกแบบวางผังโครงการ การใช้วัสดุในการก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการใช้พลังงานในอาคาร ลดการปล่อยของเสียออกสู่ธรรมชาติ รวมถึงการศึกษาการออกแบบที่อยู่อาศัยให้สามารถรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภัยพิบัติ (Resilience Housing) ที่เกิดจากปัญหาอุทกภัย สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 เป็นต้น

นอกจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนแล้ว การเคหะแห่งชาติยังจัดให้มีการบริหารชุมชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย โดยยึดหลักชุมชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาชุมชนของตนเอง ส่งเสริมให้ดำเนินการจัดตั้งองค์กร/กลุ่มต่าง ๆ บนพื้นฐานของความต้องการของชุมชน ตามโครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart and Sustainable Community: SSC) ให้ครอบคลุมทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติเศรษฐกิจ มิติการมีส่วนร่วม มิติสุขภาพ และมิติสิ่งแวดล้อม พร้อมประสานความร่วมมือจากองค์กรภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในระดับชุมชน ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการเป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

ส่วนด้านการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการได้สิทธิเช่าหรือซื้อในโครงการที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการอย่างชัดเจน กรณีอาคารเช่า ได้แก่ โครงการอาคารเช่าพักอาศัย การเคหะแห่งชาติจะให้สิทธิเช่า 1 คนต่อ 1 ห้อง/สัญญา, ห้ามมิให้นำห้องเช่าไปให้เช่าช่วง หากตรวจสอบพบภายหลังจะยกเลิกสิทธิทันที ส่วน โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองชุมชนดินแดง ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินงานพัฒนาโครงการแล้ว 2 อาคาร คือ อาคารแปลง G และอาคาร D1 ซึ่งการเคหะแห่งชาติจะให้สิทธิเช่ากับผู้อยู่อาศัยเดิม 1 คนต่อ 1 ห้อง/สัญญา พร้อมจัดทำทะเบียนประวัติของผู้ได้สิทธิเช่า/ผู้อยู่อาศัย พร้อมภาพถ่าย และส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบห้องพักอาศัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังประชาสัมพันธ์ให้ผู้อยู่อาศัยช่วยกันสอดส่องดูแล หากตรวจสอบพบการนำไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อ การเคหะแห่งชาติจะดำเนินการยกเลิกสัญญาทันที กรณีโครงการเพื่อขาย จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ซื้อและความสามารถในการชำระของลูกค้า รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงที่อยู่อาศัย เนื่องจากประชาชนบางกลุ่มอาจมีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การเคหะแห่งชาติจึงได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่จะช่วยให้ประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติได้มีที่อยู่อาศัย ซึ่งโครงการสินเชื่อฯ ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านที่อยู่อาศัยตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในทุกมิติมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางและนโยบายของรัฐบาลในการสร้างโอกาสการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560- 2579) และในปี 2568 การเคหะแห่งชาติยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้มีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”