ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รอความหวังรัฐบาลชุดใหม่ ผลักดันเศรษฐกิจให้เดินหน้าสานนโยบายเดิม มั่นใจเศรษฐกิจเติบโต แนะทบทวนการจัดเก็บภาษีอสังหาริมทรัพย์ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะภาษีที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งภาษีการโอน ภาษีสาธารณูปโภค ควรจัดเก็บแบบคิดรวม ชี้แยกจัดเก็บสร้างปัญหาการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน นายอิสระ บุญยัง ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรและกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ราบรื่นมากขึ้น ขณะที่ปัญหาซึ่งภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคเอกชนกังวลกันมาก คือ ปัญหาการจัดสรร และเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปี 2558 น่าจะหมดไปภายหลังได้รัฐบาลใหม่ ทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ แม้จะมีปัจจัยลบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นอุปสรรคบ้างก็ตาม “ส่วนข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะมีผลต่อตลาดอสังหาฯ ในทิศทางใดนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อตลาดโดยรวม เพราะตลาดจะขยายตัวได้ดีเมื่อเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนที่ดี แม้จะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ แต่ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นยังไม่มีข้อเสนอใดๆ ให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งในส่วนของสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรเองก็ไม่ได้เตรียมยื่นเรื่องขอความช่วยเหลือในส่วนใดเป็นพิเศษเช่นกัน” นายอิสระ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าขณะนี้ตลาดไม่ได้มีความต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการใดมากระตุ้นภาคอสังหาฯ เพราะเมื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปด้วยดี ตลาดอสังหาฯ ก็จะขยายตัวไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการใดเข้ามากระตุ้นตลาดในขณะนี้ นอกจากนี้ยังอยากเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ว่า ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เสียภาษี เพราะล่าสุด กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา และอนุมัติร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 หากจะมีการเสนอ พ.ร.บ.ใหม่ก็ควรจะมีการนำ พ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันเข้ามาพิจารณาร่วมกันในคราวเดียว หากมีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว รัฐบาลควรมีการทบทวนโครงสร้างการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ ให้ครอบคลุมในทุกส่วน เช่น การทบทวนการจัดเก็บภาษีการโอน และค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมถึงการจัดเก็บภาษีอสังหาฯ ของท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องไปด้วย นอกจากนี้ ควรนำภาษีระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรม และโครงการจัดสรรมาทบทวน และวางระบบการจัดเก็บใหม่ โดยให้มีการจัดเก็บแบบคิดรวม ไม่ควรแยกกันจัดเก็บเพื่อตัด หรือลดการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อนออกไป นายอิสระ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า กระทรวงการคลังจะเสนอให้ คสช. พิจารณานั้น มีการแบ่งประเภทของที่ดิน ตลอดจนถึงการใช้ประโยชน์ของที่ดินดังกล่าว เพื่อกำหนดอัตราจัดเก็บภาษี ทั้งนี้ที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ในกลุ่มที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.5% ของราคาประเมิน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.1% ของราคาประเมิน ที่ดินเพื่อการเกษตร ให้จัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกิน 0.05% ของราคาประเมิน "ส่วนที่ดินว่างเปล่า และไม่ได้ทำประโยชน์ให้สมควรแก่สภาพที่ดิน ให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05% ของราคาประเมิน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า ที่ดินว่างเปล่าดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์เป็นเวลาติดต่อกันนั้นให้เพิ่มภาษีอีกหนึ่งเท่าในทุกๆ 3 ปี แต่จำนวนภาษีที่เสียต้องไม่เกิน 2% ของราคาประเมิน" นายอิสระ กล่าว ที่มา : หนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ