นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยถึงสถิติการร้องเรียนช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาอสังหาริมทรัพย์มากสุดจำนวน 723 ราย รองลงมาเป็นเรื่องรถยนต์ 705 ราย และอันดับ 3 ร้องเรียนผู้ประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว 699 ราย โดยเรื่องเกี่ยวกับอสังหาฯ ยังคงเป็นงานก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลาในสัญญา หรือไม่ได้คุณภาพตามที่ผู้บริโภคต้องการ
ทั้งนี้ แบ่งเป็นการร่องเรียนบ้านจัดสรรมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ มีการชำรุดหลังปลูกสร้าง โดยมียอดผู้ร้องเรียน 33 ราย บ้านร้าว บ้านทรุด ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านระดับราคา 1-3 ล้านบาท จำนวน 26 ราย ก่อสร้างไม่เสร็จ จำนวน 24 ราย ไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุไว้ จำนวน 23 ราย และไม่จัดทำสาธารณูปโภคในโครงการ จำนวน 18 ราย จากยอดผู้ร้องเรียนทั้งหมด 200 ราย
ส่วนทาวน์เฮ้าส์ และอาคารพาณิชย์ ร้องเรียน มากที่สุดในเรื่องของการไม่ปลูกสร้าง 50 ราย มีการชำรุดหลังปลูกสร้าง 11 ราย ไม่คืนเงินมัดจำ/ค่าจอง 9 ราย และไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 9 ราย ขณะที่คอนโดมิเนียม ร้องเรียนกรณีไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา 80 ราย ก่อสร้างไม่เสร็จ 79 ราย ไม่ดำเนินการตามที่โฆษณา 30 ราย กู้ไม่ผ่าน กู้ได้ไม่เต็มจำนวน 25 ราย และมีการชำรุดหลังปลูกสร้าง 21 ราย
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลัง 2 ปี (ปี 2555-2556) พบว่า เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญาส่งมอบมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2555 มีจำนวน 33 ราย และ ปี 2556 มีจำนวน 52 ราย
สำหรับตลาดต่างจังหวัด พบว่าปัญหาไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์โครงการให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ จากเมื่อก่อนจะมีผู้ร้องเรียนเพียง 1-2 ราย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ราย โดยสคบ. ได้ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัดในการรับเรื่องร้องเรียน พร้อมทั้งมีมาตรการเฝ้าระวัง เน้นไปที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา สงขลา และชลบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก