บอร์ด รฟท.ไฟเขียวใช้ที่ดินแปลงทองบางซื่อ 218 ไร่ สร้างคอมเพล็กซ์ครบวงจร โดยให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนรูปแบบ ส่วนแบ่งกำไร และระยะเวลา ส่วนปีหน้า รฟท.ยังขาดทุนอื้อเร่งตามเก็บค่าเช่าค้างจ่ายกว่า 2 พันล้านบาท นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ดรฟท.เห็นชอบให้นำที่ดินบริเวณใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ จำนวน 3 ผืน รวมทั้งสิ้น 218 ไร่ จากที่ดินทั้งหมดประมาณ 1,000 ไร่ มาพัฒนาเป็นคอมเพล็กซิตี้ จัดสร้างแบ่งโซนเป็นพื้นที่ศูนย์การค้า และโรงแรม เป็นต้น
ภายในสัปดาห์หน้าจะหารือกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับรายละเอียดและความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการและหากทำได้จะจัดทำ ในรูปแบบพ.ร.บ. ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดําเนินการในกิจการของรัฐ หรือพ.ร.บ.ร่วมทุน ได้หรือไม่อย่างไร "คงต้องใช้เวลาศึกษา รายละเอียดก่อนว่าจะลงทุนรูปแบบใด ตัวเลขรายได้กี่เปอร์เซ็นต์และจะให้เช่าพื้นที่กี่ปี เพราะจะต้องวิเคราะห์ตัวเลขทางการเงินให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร มีรายจ่าย จุดคุ้มทุนเท่าไร เพราะในอดีตยังไม่เคยมีการศึกษา การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวมาก่อน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบศึกษา" นายออมสินยังกล่าวถึงประมาณ การรายได้ของรฟท. ปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.2557-ก.ย.2558) ว่า รฟท.จะมีรายได้ประมาณ 13,000 ล้านบาท รายจ่ายประมาณ 17,278 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายค่าบำเหน็ญบำนาญ 4,361 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ 3,434 ล้านบาท สั่งให้ฝ่ายบริหารทรัพย์สินเร่งจัดเก็บค่าเช่าที่คงค้างที่สะสมถึง 2,000 ล้านบาทให้ได้ภายในปี 2558 ด้วย พร้อมสั่งให้ไปเร่งตรวจสอบ สัญญาการเช่าที่ดินใหม่ทั้งหมดเพื่อจัดเก็บรายได้ส่วนนี้ให้เต็มเม็ดเต็ม หน่วย คาดว่าหากทำได้ประมาณการรายได้ค่าเช่าที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,503 ล้านบาท ขณะเดียวกันแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องการเช่าที่ดินของ บริษัทปตท. โดยมีพล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และกรรมการเป็นประธานเจรจา โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ "เดิม นัดหารือเรื่องการเจรจาค่าเช่าที่ดินของบริษัทปตท. วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่เลื่อนการประชุมออกไปก่อน ซึ่งสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวสิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.2556 และมีผลการศึกษาออกมาว่าค่าตอบแทนที่การรถไฟฯ ควรจะได้อยู่ที่ 1,792 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี หรือปีละ 59.73 ล้านบาท แต่ทางบริษัทปตท.อาจขอต่อรอง ดังนั้น บอร์ดจึงได้ตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาเจรจาให้ได้ข้อสรุป" ส่วน การสรรหาผู้ว่าการรฟท.นั้น คาดว่าจะมีการเรียก ผู้สมัครทั้ง 4 คนมาแสดงวิสัยทัศน์สัปดาห์หน้า และได้ตัวว่าที่ผู้ว่าการรฟท.ภายในเดือนต.ค.นี้ ก่อนเจรจาเรื่องค่าตอบแทนกับกระทรวงการคลังต่อไป ที่มา ข่าวสดออนไลน์