PwC แนะไทยปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล-ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพิ่มศักยภาพการแข่งขันรับ AEC
PwC ชี้แนวทางปฏิรูปโครงสร้างภาษีของไทยไม่ชัดเจน แนะรัฐแจงรายละเอียด เพื่อให้ภาคเอกชนเตรียมรับมือ หนุนคงภาษีนิติบุคคลที่ 20% อย่างถาวร และปรับอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน จูงใจ ตปท. เข้ามาลงทุนหลังเปิดเออีซีปลายปี 58 ระบุขึ้น VAT เป็น 10% ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มรายได้รัฐ แต่อาจกระทบเศรษฐกิจช่วงสั้น เชื่อเมื่อประชาชนปรับตัวได้ การบริโภคจะกลับสู่ภาวะปกติ
นาย ถาวร รุจิวนารมย์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหาร สายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยในงานสัมมนา การเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพประจำปีครั้งที่ 16 ในหัวข้อ ‘ปรับโครงสร้างธุรกิจ–บริหารความเสี่ยงอย่างยั่งยืน รับมือปฏิรูปภาษีไทย’ ว่า “แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีของภาครัฐในปัจจุบันยังขาดความชัดเจนในเบื้องลึกว่า โครงสร้างการปฏิรูปเป็นเช่นไร เพื่ออะไร รวมทั้งรายละเอียดของกฎเกณฑ์ใหม่ จึงอยากเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อมูลและแนวทางปฏิบัติให้แก่ภาคธุรกิจและสาธารณชน เพื่อสามารถเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในปีภาษีถัดไป”
“สิ่งที่ภาครัฐต้องคำนึงในการปฏิรูปโครงสร้างภาษี คือ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การรักษาประโยชน์ในด้านสัดส่วนรายได้ภาษี ลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายรายได้ใหม่” นายถาวร กล่าว
อย่างไรก็ดี หากรัฐจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 ตนมองว่า การปฏิรูปภาษีนิติบุคคลแบบบูรณาการ ถือเป็นภารกิจหลักที่ต้องเร่งปฏิบัติ เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐคงอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ที่ 20% ของกำไรสุทธิจนถึงปี 2558 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดแบบชั่วคราว และอาจเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชนในระยะยาว หากในอนาคตมีการกลับมาใช้อัตราเดิมที่ 30% ของกำไรสุทธิ และส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เนื่องจากเป็นอัตราภาษีที่สูงกว่าหลายๆ ประเทศสมาชิก
“การเปิดเออีซี คือ การมีตลาดร่วมกันหรือ Common Market แต่ไม่ใช่การมีระบบภาษีร่วม ดังนั้นประเทศสมาชิก ยังคงต้องใช้นโยบายภาษีของตนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ สำหรับไทย อัตราภาษีนิติบุคคลที่ 20% ถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม แม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นมีมูลค่ามหาศาล ภาคเอกชนจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศและจูงใจให้เกิดการลงทุนเพิ่มในไทย เพราะเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนจะพบว่า อัตราภาษีดังกล่าว ต่ำสุดเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 17%”
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ภาครัฐควรต้องมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมให้มีการเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น รวมทั้ง สนับสนุนให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ โดยนอกจากการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลแล้ว ควรมีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคและล้าสมัยไปพร้อมๆกัน เช่น มาตรา 70 ตรี ในกรณีส่งสินค้าไปเก็บในต่างประเทศเพื่อรอจำหน่าย ซึ่งกรมสรรพากรถือว่ามีการจำหน่ายสินค้าแล้ว แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ได้เกิดการขาย เป็นต้น
“ไทยควรชูยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติให้เข้ามาตั้งสาขาในไทยให้ได้อย่างแท้จริง แม้ว่าปัจจุบันจะมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่ส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค หรือ (Regional Operating Headquarters: ROH) แต่ในทางปฎิบัติ ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่มาก และสำหรับกิจการที่เป็นศูนย์บริหารเงิน (Treasury Centre) ในปัจจุบัน ก็ยังไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาดูแลในประเด็นนี้ด้วย” นายถาวร กล่าว
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ภาครัฐควรพิจารณาก่อนการเปิดเออีซี คือ การหามาตรการต่างๆ เพื่อจำกัดการวางแผนภาษีและการเคลื่อนย้ายกำไร ที่เรียกว่า Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) ตัวอย่าง เช่น บริษัทข้ามชาติที่หาวิธีหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีในประเทศ โดยเคลื่อนย้ายกำไรไปยังประเทศที่ไม่มีขอบเขตทางภาษีแทน ส่งผลให้รายได้ที่รัฐพึงจัดเก็บได้ในอนาคตลดลง ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งหาวิธีการป้องกันและอุดช่องโหว่ทางภาษีนี้ด้วย
ในส่วนของหลักเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BoI) ที่มีการปรับปรุงล่าสุด โดยตัดกิจการที่การใช้แรงงาน มีมูลค่าเพิ่มต่ำ มีการใช้เทคโนโลยีน้อย หรือที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ออกจากบัญชีรายชื่อกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี และมีความชัดเจนกว่าในอดีต
นอกจากนี้ ภาษีอีกประเภทหนึ่งที่ควรปฏิรูปคือ โครงสร้างภาษี หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งในปัจจุบัน อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ของไทยมีหลายอัตรา โดยควรมีการหารือกันว่า จะปรับอัตราให้เหมือนกันหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการทำธุรกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ การเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกรมสรรพากรมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระผู้เสียภาษีเงินได้ที่จะไม่ต้องเสียภาษีในคราวเดียวเป็นเงินจำนวนมาก ขณะเดียวกันช่วยให้รัฐบาลมีรายได้เข้าคลังอย่างสม่ำเสมอ ลดการเลี่ยงเสียภาษีและลดภาระในการตรวจสอบหรือติดตามจัดเก็บภาษีย้อนหลัง โดยอัตราการจัดเก็บปัจจุบัน เช่น ค่าจ้างทำของหรืองานบริการ 3% ค่าขนส่ง 1% ค่าประกันภัย 1% ค่าโฆษณา 2% ค่านายหน้า 3% ค่ารางวัล การแข่งขัน ชิงโชค 5% ค่านักแสดง 5% และค่าเช่า 5% โดยผู้จ่ายมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายนำส่งสรรพากร
ส่วนแผนการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) นายถาวรมองว่า การปรับขึ้นเป็น 10% ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม เนื่องจากอัตราเดิมที่ 7% ถือเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ
นายถาวร กล่าวทิ้งท้ายว่า หากรัฐต้องการปฏิรูปภาษี เพื่อสร้างความเป็นธรรม ตนมองว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นภาษีที่เป็นธรรมที่สุด เพราะทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายในอัตราที่เท่ากัน จะมากหรือน้อยอยู่ที่การบริโภคของแต่ละบุคคล ซึ่งภาษีประเภทนี้ยังถือเป็นรายได้หลักของหลายประเทศ เพราะจัดเก็บได้ง่ายกว่า
“ในปีหน้าหลังจากที่ไทยปรับ VAT เชื่อว่า รายได้ภาษีน่าจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจน่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ผมเชื่อว่า เมื่อคนปรับตัวได้ การบริโภคก็น่าจะกลับมาเป็นเช่นเดิม”
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.