ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันอาหารได้รายงานสถานะอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยใน 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.) ว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าผลไม้สดเพิ่มขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่า 17,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.79% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าแอปเปิ้ลสด จากประเทศจีน มากกว่า 50% ที่เหลือนำเข้าผลไม้อื่นๆ จากสหรัฐฯ นิวซีแลนด์ รองลงมาเป็นองุ่นสด ซึ่งนำเข้าจากจีน เปรู อินเดีย และออสเตรเลีย, ส้ม นำเข้าจากจีน ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ โดยคนไทยมีแนวโน้มบริโภคผลไม้นำเข้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากราคาผลไม้จากต่างประเทศลดลงจากอดีตมาก และสามารถซื้อได้ทั่วไป ส่งผลให้ผลไม้ในประเทศมีคู่แข่ง และประสบปัญหาล้นตลาด ในบางช่วงที่ผลผลิตออกมามากอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมการนำเข้าวัตถุดิบ และอาหารของไทยทุกชนิด ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่ามีมูลค่ารวม 322,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณนำเข้า 11.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 29.60% และโดยเฉพาะเดือนล่าสุด ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่า มีมูลค่านำเข้าวัตถุดิบ และอาหารทั้งสิ้น 45,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.83% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อแปรรูป โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำมีมูลค่ามากที่สุดถึง 73,105 ล้านบาท คิดเป็น 22% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด
ด้านมูลค่าส่งออกอาหาร 8 เดือนแรกของปีนี้ของประเทศไทย มีมูลค่ารวม 695,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ปริมาณส่งออก 24.55 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และโดยเฉพาะในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีมูลค่าส่งออก 110,510 ล้านบาท โดยการส่งออก 8 เดือนแรกของปีนี้ สินค้าในกลุ่มเนื้อไก่แปรรูป เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 50,189 ล้านบาท เนื่องจากญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมานำเข้าไก่สดจากไทย
นอกจากนั้น ผลสำรวจยังพบอีกว่า ภาวะการค้าอาหารของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ที่จะร่วมกันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่าประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าอาหารไปยังอาเซียน 5.79 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8% โดยมีมูลค่ารวม 151,649 ล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าสินค้าอาหารจากสมาชิกอาเซียนรวม 1.66 ล้านตัน มูลค่า 51,785.44 ล้านบาท อยู่ในฐานะเกินดุลการค้า
ทั้งนี้ สถาบันอาหารยังระบุอีกว่า เมื่อพิจารณาในตลาดอาเซียน จะพบว่าในขณะนี้อุตสาหกรรมการผลิตอาหารในประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ กัมพูชา พม่า ลาว และเวียดนาม ยังอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารแปรรูปจากไทยจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการของไทย จะต้องหาแนวทางการทำธุรกิจที่ยั่งยืนในอนาคต เพราะขณะนี้นักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงในด้านอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ต่างก็ขยายการลงทุนเข้าสู่ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม เนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความพร้อมในด้านการเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้นหากประเทศไทย ไม่พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตอาจสูญเสียตลาดส่งออกไปยัง 4 ประเทศดังกล่าว