พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่รางมาตรฐานขนาด 1.435 เมตร ระยะเร่งด่วน 3 ช่วง คือ 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด 2.กรุงเทพฯ-ระยอง และ 3.นครราชสีมา-หนองคาย ว่านอกจากจีนและญี่ปุ่นที่แสดงความสนใจแล้ว ยังมีเกาหลีใต้สนใจเช่นกัน โดยวันที่ 3 พฤศจิกายน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม คาดว่าน่าจะเป็นการแสดงความสนใจเข้าร่วม ส่วนจะให้ประเทศไหนดำเนินการนั้นต้องดูรูปแบบการลงทุนให้ชัดเจนก่อนเพราะ เบื้องต้นกำหนดไว้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (พีพีพี) และการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐกับรัฐ (จีทูจี) เป็นต้น คาดว่า หลังวันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น "ท่านทูตเกาหลีใต้ได้พบ ผมตั้งแต่อยู่ในตำแหน่งรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อสอบถามว่าเกาหลีใต้จะเข้ามามีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใดได้บ้าง รวมถึงโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ก็แสดงความสนใจด้วย" พล.อ.อ.ประจินกล่าว และขอยืนยันว่า จะพิจารณานโยบายของทุกโครงการให้ถูกต้องโปร่งใส ไม่มีปัญหาการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแน่นอน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า วันที่ 4 พฤศจิกายน จะประชุมสรุปรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ (แอ๊กชั่นแพลน) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งตามแผนยุทธศาสตร์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป อย่างไรก็ตาม ได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เรื่อง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2497 เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทางการบินหลายหน่วยงาน เกี่ยวข้องกับสนามบิน เส้นทางการบิน มาตรฐานตัวเครื่องบิน เป็นต้น รวมถึงเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมที่อาจกระทบต่อการบิน จัดทำเป็นมาตรการเกี่ยวกับบั้งไฟ โคมลอย และอากาศยานไร้คนขับ นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า การปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในปี 2558 เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถร่างกฎหมายเพื่อปฏิบัติและควบคุมก่อนคือ การปฏิบัติการของอากาศยานเพราะปัจจุบันมีสายการบินให้บริการเป็นจำนวนมาก ที่มา : นสพ.มติชน