ลูกจ้างเอกชนเซ็งโบนัสหด-เงินเดือนขึ้นน้อย ปริญญาเอกหายาก-ค่าจ้างพุ่ง
เผยผลสำรวจบริษัทเอกชน 14 กลุ่มอุตสาหกรรม ปีนี้เจ๊กอั้กโบนัสหด-เงินเดือนปรับขึ้นน้อยในระดับปวช.-ปวส. ป.ตรี และป.โท ขณะที่ปริญญาเอกเงินเดือนพุ่งทะลุกราฟเกือบ 50% โดยกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์จ่ายค่าจ้างมากสุด
นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบัน เสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา "สำรวจค่าจ้าง และสวัสดิการ ปี 2557/2558"ที่ ส.อ.ท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดขึ้นว่า จากการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่าง เดือนมี.ค.-พ.ค.2557 เกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ และผู้มีประสบการณ์ จำแนกตามสาขา
มีสถานประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 147 แห่ง จำแนกเป็น 14 กลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามวุฒิโดยเฉลี่ยรวม พบว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ/ปวช. มีเงินเดือน 9,485 บาท ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง/ปวส.มีเงินเดือน 10,477 บาท ระดับปริญญาตรี 14,148 บาท ระดับปริญญาโท 20,403 บาท และปริญญาเอก 38,470 บาท
"เมื่อจำแนกตามสาขาวิชา พบว่าระดับปวช. มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาช่างเทคนิค 9,530 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 9,194 บาท ระดับปวส. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาเกษตรศาสตร์ 10,581 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 10,330 บาท ระดับปริญญาตรีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 16,492 บาท ต่ำสุดสาขาคหกรรมศาสตร์ 13,037 บาท ระดับปริญญาโทค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดสาขาเทคโนโลยีอาหาร 22,729 บาท ต่ำสุดสาขามนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/อักษรศาสตร์ 18,400 บาท ระดับปริญญาเอกค่าจ้างสูงสุดบัญชี/การเงิน 40,250 บาท
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่าปวช. ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 10,035 บาท ระดับปวส. สูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียม 11,530 บาท ระดับปริญญาตรี สูงสุดกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน 15,975 บาท ระดับปริญญาโท สูงสุดกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ 22,617 บาท ระดับปริญญาเอก ไม่มีข้อมูล
นายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดย ปวช.ปรับเพิ่ม 0.08% ปวส. 0.03% ปริญญาตรี 0.12% ปริญญาโท 6.43% ปริญญาเอก 47.29 % เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าที่ผ่านมาได้มีการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงอยู่แล้ว
ผลสำรวจพบว่าการจ่ายโบนัสประจำปี 2556 มีสถานประกอบการจ่ายโบนัส 134 แห่ง จากทั้งหมด 147 แห่ง คิดเป็น 91.16% เฉลี่ย 2.6 เดือน สูงสุด 11 เดือน และใน ปี 2557 มีสถานประกอบการคาดว่าจะจ่ายโบนัส เฉลี่ย 2.5 เดือน สูงสุด 8.8 เดือน ขณะที่อัตราการเข้าออกของพนักงานเฉลี่ยอยู่ที่ 17.77% จากสาเหตุค่าตอบแทนและสวัสดิการ
ที่มา : นสพ.ข่าวสด
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.