นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) พิจารณาเห็นชอบให้ธุรกิจรับจ้างก่อสร้างบ้าน ธุรกิจรับสร้างบ้าน ให้เป็นธุรกิจควบคุม ว่า ตนเข้าใจว่า เป็นสัญญาควบคุม หมายถึงว่า ต่อไปนี้สัญญารับก่อสร้าง รับเหมาทั่วไปจะต้องถูกกำหนดเป็นข้อความที่มีสาระสำคัญตามที่ สคบ.กำหนด
ยกตัวอย่างโดยเฉพาะประเด็นในเรื่องของระยะเวลานับ 1 และสิ้นสุดที่มีผลตามสัญญาต้องชัดเจน เพราะที่ผ่านมา สัญญาของบริษัทรับสร้างบ้านมันยังคลุมเครือ ขาดความชัดเจน ขณะที่สัญญาควบคุมที่ว่าไม่ระบุข้อความ อาจส่งผลกระทบต่อการยกเลิกสัญญา เช่น ถ้าไม่ชำระค่างวดก่อสร้างภายใน 7 วัน ผู้รับจ้างสามารถบอกเลิกสัญญารับจ้างได้ ข้อความดังกล่าว สคบ.มองว่า สาระสำคัญจะต้องพิมพ์ข้อความหนาๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไปบีบผู้ประกอบการ แต่เป็นเพียงการปรามผู้ประกอบการที่เข้าข่ายขี้โกงเท่านั้น
ขณะที่ประเด็นการรับจ้าง ควรจะต้องระบุว่า ราคารวมภาษีแล้ว ซึ่งเหตุมีลูกค้าร้องเรียนบอกขายบ้านในราคานี้ แต่พอเวลาทำสัญญาผู้บริโภคต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งในสัญญาควรจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า ราคาบ้านหลังนี้รวมภาษีแล้วหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมักผลักภาระโดยไม่ยอมแจ้งหรือลงรายละเอียดให้ชัดเจน ส่วนการที่ สคบ.ออกมาเช่นนั้น ตนมองว่าถ้าหากพบผู้ประกอบการเข้าข่ายในลักษณะเช่นนี้ สคบ.จะสามารถบังคับใช้ได้หมดหรือไม่ ที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่สามารถเห็นผู้กระทำความผิดแต่ก็ไม่สามารถตามเอาผิดกับผู้ประกอบการขี้โกงได้เลย ดังนั้น ในตัวสัญญาตนอยากให้ สคบ.ร่างสัญญามาถามผู้บริโภค ผู้ประกอบการเสียก่อน ว่ามันตรงกับปัญหาจริงหรือไม่ ถ้าสมมุติผู้บริโภคไม่ได้ร้องเรียน สคบ. แล้ว สคบ.จะสามารถดำเนินการเองได้หรือไม่ ซึ่ง สคบ.เองจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าเจอปัญหาจะต้องจัดการได้จริง บังคับใช้ได้จริง ตรงนี้ก็จะสามารถกำจัดพวกผู้ประกอบการขี้โกงออกไปนอกระบบได้เช่นกัน ด้านนายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่าตนในฐานะนายกสมาคมฯ มีมุมองว่า น่าจะมองทุกด้านเพื่อปฏิบัติให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยสมาคมฯ เองไม่ขัดข้องพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอยู่แล้ว และได้สั่งการให้มีการประสานงานไปยัง สคบ.เพื่อมานั่งคุยตกลงในประเด็นว่าจุดไหนจะสามารถทำได้บ้าง ซึ่งตนยังมองต่อไปว่า ในการที่จะเข้ามาควบคุมธุรกิจรับสร้างบ้านควรน่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค พันธมิตรทางการค้าเสียก่อน ถึงจะสรุปได้ว่า จะต้องมีการปรับเงื่อนไขอะไรบ้าง นอกจากนี้ นายวิสิฐษ์ ยังกล่าวว่า ต้องยอมรับปัจจุบันนี้มีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหลายสถานะ ที่อยู่ในสมาคมฯ เราก็มีการควบคุมกันเอง ซึ่งการที่ภาครัฐจะเข้ามาควบคุมธุรกิจนี้ เราไม่ขอขัดข้อง แต่เราเห็นด้วยที่จะให้เข้ามาควบคุมพวกบริษัทขี้โกงกับผู้บริโภค โดย สคบ.เองควรจะต้องรอบคอบในการที่จะใช้สัญญาควบคุม โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ที่ไม่ได้อยู่ในสังกัด องค์กร หรือ "สมาคม" ปัจจุบันนี้ ธุรกิจรับสร้างบ้านมีกลไกควบคุมอยู่แล้ว สำหรับ การที่ สคบ.มองเหมารวมผู้ประกอบการธุรกิจรับสร้างบ้านทั้งหมดในมุมมองไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ย่อมส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ แต่ในข้อเท็จจริงผู้ประกอบการมีหลายระดับ หลายมาตรฐาน แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่เข้าข่ายก็มี แต่มีส่วนน้อยเท่านั้น โดยสมาคมฯ ตั้งข้อสังเกตจากกรณีที่ สคบ.ได้แถลงออกมา 4 ข้อ โดยเฉพาะประเด็นผู้รับเหมาทิ้งงาน 2.ก่อสร้างล่าช้า 3.การใช้วัสดุก่อสร้างไม่มคุณภาพ และ 4การก่อสร้างไม่เป็นไปตามรูปแบบในสัญญา ซึ่งทั้ง 4 ข้อนั้น ถือว่า ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับตัวสัญญามากนัก เพราะทุกขั้นตอนมันอยู่ในความพึงพอใจของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม จากการที่ สคบ.ออกมา4ข้อที่มีผู้บริโภคร้องเรียนนั้น ต้องยอมรับว่า มันไม่ได้เป็นประเด็นจากตัวสัญญาที่มาของสาระสัญญา แต่มันเป็นปัญหาผู้บริโภคกับผู้ประกอบการ ถึงแม้ว่าจะทำสัญญาควบคุมเข้มข้นอย่างไร ปัญหานี้ก็คงเกิดขึ้น แต่จะทำอย่างไรที่จะกำจัดพวกผู้ประกอบการไม่ดีออกจากไปสู่ระบบ หากว่า ภาครัฐจะรวมธุรกิจรับสร้างบ้านทั้งหมดในการควบคุม ก็ควรจะพิจารณาให้รอบคอบ เพราะไม่เช่นนั้น มันจะส่งผลเสียต่อธุรกิจโดยรวม
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง