ธนาคารกลางรัสเซีย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 17% จาก 10.5% มีผลทันทีวันนี้ พร้อมทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน (repo rate)เป็น 18% จาก 11.5% เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามรับมือกับค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงอย่างมากและความเสี่ยงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยหลังจากธนาคารกลางรัสเซีย ประกาศขึ้นดอกเบี้ยไม่นาน เงินรูเบิล ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 62.50ต่อดอลลาร์ ทั้งนี้ หลังจากรัสเซีย ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐ และนาโต้ ประกอบกับการตกต่ำของราคาน้ำมันโลก ส่งผลให้ค่าเงินรูเบิลร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และกระแสเงินทุนไหลออกมากกว่า140,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา

หวั่นวิกฤติหนี้'รัสเซีย'ซ้ำเติมท่องเที่ยวไทย
"นักเศรษฐศาสตร์" มองราคาน้ำมัน ฉุดเศรษฐกิจ "รัสเซีย" เผชิญภาวะชะงักงัน ทั้งเงินรูเบิลอ่อนดันเงินเฟ้อพุ่ง ขณะที่ทุนสำรองฯลดต่อเนื่อง โอกาสเบี้ยวหนี้สูง ส่อกระทบท่องเที่ยวไทย เชื่อผลกระทบด้านอื่นน้อย เหตุการค้าระหว่างกันไม่มาก ทั้งธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องมีน้อย
ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับลดลง ทำให้รายได้ของผู้ส่งออกน้ำมันลดลงตามไปด้วย หนึ่งในนั้นคือรัสเซีย ซึ่งเวลานี้ดูเหมือนหนี้ต่างประเทศจะมีค่อนข้างมาก ในขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าเงินรูเบิลที่อ่อนค่าลงไปกว่า 30% เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา โดยในปีหน้ารัสเซีย จะมีดีลครบกำหนดชำระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งตลาดเงินเกรงว่ารัสเซียอาจเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ (Default) ขึ้นได้ นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังเผชิญกับภาวะชะงักงัน และมีเงินเฟ้อในระดับค่อนข้างสูง (Stagflation) ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินรูเบิลที่อ่อนตัวลงราว 30% ขณะที่เศรษฐกิจช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ขยายตัวไม่ถึง 1% สวนทางกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 8% “เวลานี้เศรษฐกิจรัสเซียโตได้ไม่ถึง 1% ทั้งที่ปกติควรจะโต 3-4% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงด้วย โดยรัสเซียถือเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เวลานี้ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงไปแล้วราว 30% จากปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนตัวลงในระดับเดียวกันด้วย”นายเชาว์กล่าว

ข่าววันที่ 11 ธันวาคม 2557 "ทุนสำรองรัสเซียน้อยกว่าหนี้"
อีกประเด็นที่ต้องจับตาดู คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียเองลดลงมาต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์ เทียบกับหนี้ต่างประเทศที่มีกว่า 6.8 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้รัสเซียมีความเสี่ยงที่อาจผิดนัดชำระหนี้ได้เช่นกัน สำหรับผลกระทบจากปัญหารัสเซียที่มีต่อไทย ไม่น่ารุนแรงเท่ากับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศยุโรป เนื่องจากประเทศไทย มีสัดส่วนการค้าขายกับรัสเซียค่อนข้างน้อย และมีธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกันน้อยด้วยเช่นกัน

หวั่นกระทบท่องเที่ยวไทย
ส่วนผลกระทบที่มีบ้างคงเป็นในด้านการท่องเที่ยว เพราะรัสเซียถือเป็นนักท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะพัทยา การที่เศรษฐกิจรัสเซียชะลอลงจึงมีผลบ้าง ซึ่งผลกระทบนี้ก็เริ่มเห็นบ้างแล้วในรอบปีนี้ ด้านนายกำพล อดิเรกสมบัติ หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ถ้ารัสเซียต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจริง คงมีผลต่อเศรษฐกิจไทยอยู่บ้าง ผ่านการท่องเที่ยว เนื่องจากชาวรัสเซียถือเป็นนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด “ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย มีต้นทุนที่แพงขึ้น ซึ่งถ้ารัสเซียต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ และทำให้ค่าเงินรูเบิลอ่อนค่าลงไปอีก ผลกระทบก็คงจะมีบ้าง โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านก็มักเห็นข่าวบริษัททัวร์ของรัสเซียขาดทุนต้องปิดกิจการ และลอยแพนักท่องเที่ยวในต่างประเทศกันบ้าง”นายกำพลกล่าว

ผลกระทบการค้าไม่มาก
ส่วนผลกระทบในด้านการค้าและการส่งออกนั้น คิดว่าผลกระทบในส่วนนี้ไม่น่าจะมากนัก เพราะสัดส่วนการค้าขายระหว่างไทยกับรัสเซียไม่ได้สูงมาก แต่ต้องติดตามดูว่ากลุ่มประเทศที่ส่งออกไปรัสเซียมากๆ จะได้รับผลกระทบนี้มากน้อยแค่ไหนด้วย ขณะที่ นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีตนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย ดังนั้นหากเศรษฐกิจรัสเซียเกิดปัญหาขึ้นจริง อาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวด้วย “ช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย ซึ่งถ้ารัสเซียเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจขึ้น อาจส่งผลต่อภาพรวมการท่องเที่ยวได้เช่นกัน อานิสงส์ในส่วนนี้ก็คงจะหายไป”นายสมประวิณกล่าว สำหรับ นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ ไทย กล่าวว่า ปัญหาหลักของรัสเซียที่เผชิญในเวลานี้ คือ ราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ซึ่งรัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหลัก ทำให้ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวบ้าง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแม้รัสเซียจะเผชิญปัญหาจริง ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทยยังค่อนข้างน้อย “ราคาน้ำมันที่ลดลงคนได้ประโยชน์ คือ ผู้นำเข้า แน่นอนว่าผู้เสียประโยชน์ก็ คือ ผู้ส่งออก ซึ่งรัสเซียเขาก็คงได้รับผลกระทบจากตรงนี้ เห็นได้จากค่าเงินที่อ่อนตัวลงไปมาก”นางสาวอุสรากล่าว

เผยยุโรปส่อโดนผลกระทบ
สำหรับผลกระทบในด้านการค้านั้น แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจรัสเซียอาจทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปได้รับผลกระทบบ้างในด้านการค้าขาย แต่ปัจจุบันประเทศไทยเองมีการค้าขายกลับกลุ่มประเทศยุโรปลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดมีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรปประมาณ 9% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ใกล้เคียงกับการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) ส่วนผลกระทบในเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายนั้น คิดว่าผลกระทบไม่น่าจะมีมากเช่นกัน เพราะปัจจุบันผู้ลงทุนที่เข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เขาแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ กับกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ นางสาวอุสรา กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การที่ราคาน้ำมันลดลงเศรษฐกิจจึงได้ประโยชน์จากส่วนนี้ด้วย ดังนั้นโดยภาพรวมจึงคิดว่าผลกระทบที่มีต่อการลงทุนในประเทศมีค่อนข้างน้อย “เวลานี้จะเห็นว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มแยกกัน ไม่ได้ไปทิศทางเดียวเหมือนแต่ก่อน เพราะนักลงทุนดูรายละเอียดมากขึ้น กรณีนี้ก็เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก”นางสาวอุสรากล่าว ส่วนผลกระทบในด้านการท่องเที่ยว อาจมีบ้างแต่นักท่องเที่ยวหลักของไทยยังเป็นกลุ่มชาวจีน และชาวเอเชีย ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศเหล่านี้มีมากขึ้น และชดเชยกลุ่มนักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่อาจหายไปได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : bangkokbiznews

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter