นโยบายปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บรรจุอยู่ในแผนโรดแมปของรัฐบาล คสช. ที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในสังคม และเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐ แต่จะเกิดประโยชน์แท้จริงหรือไม่ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้

จากนี้ อีก 1 ปีครึ่ง รัฐบาล คสช. คาดหวังให้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีผลบังคับใช้ เป้าหมายของการปัดฝุ่นร่างกฎหมายนี้ เพื่อปิดช่องโหว่ระบบจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่ยังมีข้อจำกัดด้านฐานภาษี ทำให้รัฐเก็บรายได้ส่วนนี้ได้ไม่เต็มที่ โดยแต่ละปีจัดเก็บภาษีเพียง 24,000 ล้านบาทเท่านั้น

การปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นหนทางเพิ่มรายได้ที่แน่นอน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน แทนการปล่อยทิ้งร้าง เบื้องต้น เพดานการเก็บภาษีใหม่ หากเป็นที่ดินเกษตรกรรม ปรับเป็นไม่เกิน 0.5% , ที่ดินอยู่อาศัย เก็บไม่เกิน 1% ที่ดินทั่วไป เช่น ให้เช่าเชิงพาณิชย์ เก็บไม่เกิน 4% กรณีเป็นที่ดินรกร้าง เก็บไม่เกิน 0.5% หากปล่อยให้รกร้างต่อเนื่องทุก 3 ปี จะปรับภาษีขึ้นเท่าตัว แต่ไม่เกิน 4% นักวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า การปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ดิน จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะภาษีที่จัดเก็บ จะช่วยลดปัญหานายทุนเก็งกำไรที่ดินลงได้ แต่ข้อกังวลของกฏหมายฉบับนี้ ก็คือ บทเฉพาะการที่จะนำมาใช้ในทางปฏิบัติในการประเมินราคาที่ดิน เพื่อกำหนดอัตราการจ่ายภาษี
ขณะที่สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่า โครงสร้างภาษีที่ดินแบบใหม่ จะกระจายการถือครองที่ดินและกระตุ้นการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ เพราะกฏหมาย มีผลครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งผู้มีรายได้น้อยและนายทุน สุดท้ายจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่มีผลให้ราคาที่ดินดีดตัวสูงขึ้น เชื่อว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ การกว้านซื้อหรือถือครองที่ดินจำนวนมากของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะน้อยลง เพราะต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้น และลดความร้อนแรงในการแข่งขันของภาคอสังหาริมทรัพย์ จากการที่ผู้พัฒนาโครงการ จำเป็นต้องบริหารจัดการที่ดินที่มีอยู่ในมือให้คุ้มค่ามากที่สุด ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะบังคับใช้เมื่อใด เพราะยังรอการพิจารณาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และการประเมินที่ดินบางแปลง เพื่อนำมาคำนวณอัตราภาษีที่จะจัดเก็บในอัตราใหม่ โดยกระทรวงการคลัง จะเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคม 2558

ขอบคุณข้อมูลจาก : voicetv

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter