นายดุสิตพัฒน์ เสงี่ยมศักดิกร ผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านที่เสียหายจากการเช่าซื้อ พื้นที่ศูนย์การค้าอิน สแควร์ ย่านจตุจักร เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้นำชาวบ้านที่ได้รับความเสียหายจากการเช่าซื้อพื้นที่ในศูนย์การค้าดังกล่าว จำนวน 96 ราย ซึ่งมีความเสียหาย 1,500 ล้านบาท เพื่อเข้าร้องเรียนต่อผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ถึงกรณีที่ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าฯ ที่มีนางจุไรรัตน์ อีโบโนเธริ์น กับพวกเป็นผู้บริหารโครงการ

เนื่องจากล่าสุดผู้เช่าพื้นที่อิน สแควร์ ได้ถูกนางโสภา ศิรมณีรัตน์ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด อ้างว่าเป็นผู้บริหารชุดใหม่ของโครงการฯให้ผู้เช่าออกจากพื้นที่ พร้อมระบุว่าได้ซื้อโครงการจากผู้บริหารชุดเดิมแล้ว และจะไม่รับผิดชอบค่าเสียหายใดๆ ทั้งกับผู้เช่ากับผู้บริหารชุดเดิมอีกต่อไป จึงได้ร้องเรียนให้ร.ฟ.ท.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน นายดุสิตพัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนลงทุนและพัฒนาศูนย์การค้าอิน สแควร์เดิมนั้น บริษัท อินสแควร์ฯ เป็นผู้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับร.ฟ.ท.จำนวน 7.93 ไร่ เพื่อสร้างโครงการมูลค่า 546 ล้านบาท มีสัญญาเช่า 30 ปี โดยจ่ายผลตอบแทนเป็นค่าเช่าที่ดินเพื่อสิ่งปลูกสร้างอาคารและค่าเช่าที่ดินเพื่อจัดหาผลประโยชน์ให้กับร.ฟ.ท.ประมาณ 300 ล้านบาท และเมื่อโครงการสิ้นสุดสัญญาจะตกเป็นทรัพย์สินของรัฐต่อไป

“แต่จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บริหาร อิน สแควร์ ได้มีการก่อสร้างโครงการผิดแบบ โดยได้ยื่นขออนุมัติแบบจากร.ฟ.ท. จะก่อสร้างเป็นอาคารพลาซ่า 2 ชั้น อาคารที่พักอาศัย(คอนโดฯ)สูง 16 ชั้น ขนาดพื้นที่ 17,000 ตร.ม. มูลค่า 546 ล้านบาท แต่ผู้ดำเนินโครงการกลับมีการแก้ไขแบบพลาซ่า หรือศูนย์การค้าเป็น 8 ชั้น และคอนโดฯสูง 16 ชั้น รวมขนาดพื้นที่กว่า 80,000 ตร.ม. ทำให้มูลค่าโครงการฯเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3,000 ล้านบาท ก่อนที่จะทำเรื่องขออนุมัติการแก้ไขแบบย้อนหลังมาที่ร.ฟ.ท.ในภายหลัง ซึ่งร.ฟ.ท.ไม่สามารถอนุมัติแบบให้ได้ เพราะมีการเปลี่ยนโครงการจากพลาซ่าขนาดเล็กเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่เท่าศูนย์การค้าเซ็นทรัลฯ จะต้องดำเนินการพ.ร.บ.ร่วมทุนปี’35 ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของร.ฟ.ท.ทำให้โครงการคาราคาซังอยู่ในขณะนี้”
นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการอนุมัติแบบจากร.ฟ.ท.นั้น ได้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มผู้บริหารอิน สแควร์ โดยมีการเปลี่ยนผู้ร่วมทุนและผู้บริหารชุดใหม่หลายชุด จนกระทั่งล่าสุดได้นำกลุ่มบริษัท ดีดี มอลล์ จำกัด เข้ามาและอ้างว่า ได้เข้าซื้อโครงการนี้จากกลุ่มเดิมแล้ว ยิ่งทำให้ผิดเงื่อนไขการเช่าที่ของร.ฟ.ท.ที่ห้ามการเช่าซื้อหรือเซ้งต่อ ในส่วนของการเยียวยาผู้เช่าโครงการอิน สแควร์ นั้น ร.ฟ.ท.ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพราะจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถระบุสถานะที่แท้จริงได้ว่า โครงการนี้ใครเป็นเจ้าของที่แท้จริงและไม่สามารถบอกได้ว่า จะเปิดโครงการได้หรือไม่ เนื่องจากมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง มีกล่าวกล่าวหาว่า ผู้บริหารโครงการมีการเงินลงทุนที่กู้จากธนาคารอิสลาม จำนวน 1,700 ล้านบาท แบบผิดประเภท และที่สำคัญยังติดขัดข้อกฎหมายอยู่

ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์แนวหน้า Photo credit by : smeleader.com

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter