ถึงนาทีนี้จะมีความชัดเจนในระดับสำคัญ กับการออกมายืนยันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า บมจ.การบินไทยจะไม่เกิดภาวะล้มละลายตามกระแสข่าวลือ ขณะที่ท่าทีล่าสุดของ ผู้บริหาร บมจ. การบินไทย ก็ประกาศแผนฟื้นฟูองค์กรภายในระยะเวลา 2 ปี ก่อนนำบมจ.การบินไทยกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนอีกครั้ง


ทั้งนี้ถ้าจะพิจารณาข้อมูลสำคัญประกอบ กับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันต่อสาธารณะถึงความมั่นคงในสถานะรัฐวิสาหกิจของบมจ.การบินไทย ก็ต้องไปเริ่มต้นที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลัก 5 อันดับแรก ซึ่งตามข้อมูลที่ปรากฏในสรุปข้อสนเทศบริษัทจดทะเบียน ณ วันที่ 11 มีนาคม 2557 ประกอบด้วย
1.กระทรวงการคลัง จำนวนหุ้น 1.114 พันล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 51.03
2.กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง โดย บลจ. เอ็มเอฟซี จำนวนหุ้น 165 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.56
3.กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำนวนหุ้น 165 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.56
4.บริษัทไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด จำนวนหุ้น 77 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.56
5.กองทุนรวมออมสิน จำนวนหุ้น 46 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.13

จากโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลักของบมจ.การบินไทย ซึ่งประกอบไปด้วยกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินของรัฐ ก็ชัดเจนในระดับสำคัญว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาครัฐจะปล่อยให้ สถานะของ บมจ.การบินไทย เดินไปสู่จุดล้มละลายได้ ถ้าเทียบเคียงกับสถานะทางการคลังประเทศในปัจจุบัน

อีกจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาประกอบ เพื่อไม่ให้ข่าวลือประเภทนี้ได้รับความเชื่อถือและถูกนำแพร่กระจายไปในโลกโซเชียลมีเดีย ก็คือ สถานะของบมจ.การบินไทย โดยเฉพาะมูลค่ารวมทรัพย์สินขององค์กร ที่ประกอบด้วย เงินสด, ยอดลูกหนี้, ตั๋วเงิน, ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งมีการสรุปแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ในรอบ 9 เดือนของปี 2557 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 3.10 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2556 ที่มีมูลค่ารวม 3.25 แสนล้านบาท
โดยในส่วนสินทรัพย์ของบมจ.การบินไทย ที่สนข.ทีนิวส์ตรวจสอบจากรายงานงบการเงิน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 พบว่า ปัจจุบัน การบินไทย มีเครื่องบินที่ใช้ดำเนินงานจำนวน 104 ลำ ประกอบด้วย
1.เครื่องบินบริษัทฯ จำนวน 36 ลำ
2.เครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางเงิน อีกจำนวน 36 ลำ
3.เครื่องบินเช่าดำเนินงาน จำนวน 32 ลำ
ไม่นับรวม เครื่องบินรอการขาย จำนวน 23 ลำ ที่มีมูลค่าสุทธิตามบัญชีจำนวน 8.94 พันล้านบาท และมูลค่าของอุปกรณ์การบินหมุนเวียน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องยนต์เครื่องบิน และอะไหล่การบินหมุนเวียนอื่นๆ
นอกจากนั้น บมจ.การบินไทย ยังมีสินทรัพย์ประเภทอาคารและอุปกรณ์, อาคารบนพื้นที่เช่า ในสนามบินสุวรรณภูมิ และ สนามบินดอนเมือง รวมถึงยังมีที่ดินในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด มีมูลค่าตามราคาประเมินทรัพย์สินของทางราชการ รวมเป็นเงิน 4.22 พันล้านบาท
ส่วนยอดหนี้สินของบมจ.การบินไทย พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 บมจ.การบินไทย มีหนี้คงค้างรวม 2.625 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ที่ 2.629 แสนล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับมูลค่าทรัพย์สินของบมจ.การบินไทยแล้ว ยอดหนี้สินของบมจ.การบินไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำสินทรัพย์รวมกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท
จากมูลค่าความมั่นคงองค์กรในรูปสินทรัพย์ของ บมจ.การบินไทย สนข.ทีนิวส์จะนำท่านผู้ชมไปดูข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการบินไทยมีสถานะว่าด้วยผลการดำเนินการเป็นอย่างไร ถึงทำให้เกิดกระแสข่าวลือถึงขั้นทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาสำทับเรื่องนี้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ที่ บมจ.การบินไทยจะเกิดกรณีเหตุล้มลาย
เริ่มจากยอดขายซึ่งถือเป็นรายได้หลักของบมจ.การบินไทย ปรากฏว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่ารวม 1.38 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลประกอบการในอัตราลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่มีมูลค่า 1.54 แสนล้านบาท
แต่ขณะเดียวกันในรอบ 9 เดือนของปี 2557 บมจ.การบินไทย ก็ยังมีรายได้จากส่วนอื่นๆ อาทิ กำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน, รายได้จากการให้บริการของฝ่ายซ่อมบำรุงอากาศยาน, รายได้จากค่าธรรมเนียมสนามบิน, รายได้ค่าปรับอื่นๆ ฯลฯ อีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีตัวเลขเพียง 3.1 พันล้านบาท ส่งผลให้รายได้รวมของบมจ.การบินไทย ในรอบ 9 เดือนของปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.49 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2556 ที่ 1.58 แสนล้านบาท ประมาณ 9 พันล้านบาท
ขณะที่ภาพรวมของผลประกอบการของ บมจ.การบินไทยในรอบ 9 เดือนปี 2557 พบว่า มีผลขาดทุนสุทธิแล้ว 9.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2556 ที่ 6.35 พันล้านบาท ถึง 2.86 พันล้านบาท ซึ่งผู้บริหาร บมจ.การบินไทย ระบุว่า เป็นผลมาจากการขาดทุนด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และการแข่งขันของสายการบินภายในประเทศ ส่งผลให้ปริมาณผู้ใช้บริการทั้งในและต่างประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือ ต่ำกว่าคาดการณ์
จากข้อมูลที่สนข.ทีนิวส์ไล่เรียงมาเป็นเบื้องต้น ต้องย้ำข้อเท็จจริงว่า ด้วยสถานะของสินทรัพย์และโครงสร้างการถือหุ้นของบมจ.การบินไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อบ่งชี้ถึงเหตุที่จะนำบมจ.การบินไทยไปสู่สถานะล้มละลายอย่างแน่นอน
แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยสภาพผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและกระแสข่าวลือต่อกิจการ บมจ.การบินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประการสำคัญเมื่อพูดถึงสภาพการขาดทุนของบมจ.การบินไทย ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ ก็ต้องย้อนไปถึงชุดข้อมูลที่สนข.ทีนิวส์ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้า เพื่อชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหนึ่งที่มีผลโดยตรงต่อการทำให้บมจ.การบินไทย เกิดภาวะสั่นคลอนทางบัญชีการเงิน ถูกตั้งคำถามว่าเป็นผลมาจากการเข้าแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า ในช่วงปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่การบินไทยเองประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ด้วยตัวเลขติดลบถึง 2.13 หมื่นล้านบาท เพราะการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราภาษี
แต่ปรากฎว่าพอปี 2552 บมจ.การบินไทยกลับมามีรายได้เป็นผลกำไร 7.34พันล้านบาท และ เพิ่มเป็น 1.53 หมื่นล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งแม้จะแรงมีสวิงกลับไปติดลบกว่าหมื่นล้านบาทในปี 2554 แต่ปี 2555 รายได้การบินไทยก็กลับมาเป็นบวกอีกครั้งถึง กว่า 6 พันล้านบาท แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงปี 2556 ปรากฏว่าผลประกอบการของการบินไทย กลับไหลรูดลงไปติดลบอีกครั้งถึงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้จุดที่ต้องพิจารณาก็คือ ช่วงระยะเวลาที่ผลประกอบการของบมจ.การบินไทย พลิกฟื้นจากภาวะขาดทุนอย่างหนักในปี 2551 ที่ 2.13 หมื่นล้านบาท มาเป็นกำไรในปี 2552 จนถึงปี 2555 เป็นยุคที่บมจ.การบินไทย อยู่ภายใต้การบริหารของ นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันท์ ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นดีดีการบินไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 ก่อนถูกบอร์ด บมจ.การบินไทย ใช้อำนาจลงมติสั่งเลิกจ้าง นายปิยะสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 ก่อนครบอายุสัญญาจ้าง ทั้งที่ผลการทำงานนายปิยะสวัสดิ์ในขณะนั้น ได้คะแนนประเมินผลการทำงานสูงถึง 4.3 จากคะแนนเต็ม 5 แล้วผลักดันให้ นายสรจักร เกษมสุวรรณ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยเข้าไปทำหน้าที่แทน
ซึ่งผลก็ปรากฏว่าเพียงปีเดียว ที่นายสรจักรได้รับโอกาสให้เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ บมจ.การบินไทย ผลประกอบการของการบินไทยในช่วงปี 2556 กลับมามีสภาพขาดทุนอย่างหนักถึงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ด้วยข้ออ้างเรื่องภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและบันทึกขาดทุนด้อยค่าเครื่องบิน ซึ่งเป็นผลมาจากการคิดมูลค่าทางธุรกิจของเครื่องบินที่จอดไว้โดยไม่ได้ใช้งาน ก่อนท้ายสุดนายสรจักรจะตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งดีดีการบินไทยโดยอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ
อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะด้วยปัจจัยภายนอกใดๆ ที่ทำให้บมจ.การบินไทยต้องเดินมาการประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก แต่หลักใหญ่ใจความปัจจัยภายใน บมจ.การบินไทยเอง ก็มีจุดให้ต้องพิจารณาปรับแก้ไขเพื่อความอยู่รอดขององค์กรเช่นกัน
โดยล่าสุด คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก็มีมติเห็นชอบต่อแผนฟื้นฟูบมจ.การบินไทย ใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
1. การปรับเส้นทางบิน โดยการจัดแบ่งกลุ่มเส้นทางการบินเป็น 3 กลุ่ม คือ เส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอน และขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อนและใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือนในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง ส่วนเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลง และให้ฟื้นฟูกลับมาภายใน 6 - 12 เดือน
ขณะที่เส้นทางที่พอมีกำไรให้เร่งพัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นการเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อมิให้ขาดช่วง โดยเฉพาะในกรณีที่ 2 กลุ่มแรกเริ่มหยุดการบินและลดจำนวนเที่ยวบิน จะต้องมีการดำเนินเพื่อมิให้ผู้โดยสารไม่ได้รับผลกระทบ
2. การปรับแผนการตลาด โดยเน้นการปรับกลยุทธ์ในการขายตั๋วให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์ และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้มากขึ้น
3. แผนการขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำเพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบิน จึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสม ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวาง หรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ
4. ปรับโครงสร้างอัตรากำลัง โดยตามแผนจะปรับลดพนักงานจากปัจจุบัน 2.5 หมื่นคน จำนวน 5 พันคนให้เหลือ 2 หมื่นคน ส่วนการกำหนดช่วงเวลาก็จะเป็นไปตามหลักการที่สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออกของพนักงานเอง ซึ่งในรอบปี 2556 พบว่า บมจ.การบินไทย มีภาระรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในหมวดผลประโยชน์พนักงาน เป็นมูลค่าประมาณ 3.31 หมื่นล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในหมวดของนักบินและลูกเรือ ประมาณ 6.01 พันล้านบาท
5. ปรับปรุงพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย (Non -Core) เช่น กิจการโรงแรม กิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น โดยจะต้องไปพิจารณาว่าส่วนใดจะโอนออกไป หรือขายกิจการทิ้ง ซึ่งจะมีการนำไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบิน คนร.ได้พิจารณาสั่งการให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไป เพื่อผ่อนคลายกระแสการเงินของบมจ.การบินไทยให้เป็นไปโดยเหมาะสม โดยปัจจุบัน บมจ.การบินไทยมีภาระผูกพันในการซื้อ เครื่องบิน A320-200 จำนวน 5 ลำ A350-900 XWB จำนวน 4 ลำ และ B777-300ER จำนวน 3 ลำ คิดเป็นยอดเงินที่ต้องทยอยชำระในช่วง 1-5 ปีรวม 35,429 ล้านบาท
นอกจากนั้น บมจ.การบินไทย ยังมีภาระผูกพันสัญญาการเช่าเครื่องบิน อีกจำนวน 46 ลำ ตามสัญญาเช่าดำเนินงานในช่วงเวลา 1-5 ปี และ เกิน 5 ปี โดยลำสุดท้ายที่มีกำหนดรับมอบในปี 2573 เป็นจำนวนเงิน 4,657 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.51 แสนล้านบาท
ขณะที่ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า แผนปฏิรูปการบินไทยดังกล่าวจะจัดทำเป็นแผนระยะ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2559 และเชื่อมั่นว่าจากแผนปฏิรูปฟื้นฟูครั้งนี้จะช่วยให้ทำให้การบริหาร บมจ.การบินไทยในปี 2558 สามารถหยุดขาดทุนได้อย่างแน่นอน ก่อนจะนำพาองค์กรกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืนอีกครั้งในปี 2560

(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

บอร์ดTHAIไฟเขียวเลิก3เส้นทางขาดทุน นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการปรับลดเที่ยวบินที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน เพิ่มอีก 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ-มาดริด, กรุงเทพ-มอสโคว, และภูเก็ต-โซล มีผลตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.58 หลังจากยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์กไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา


ขอบคุณข้อมูลจาก : tnews.co.th

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter