สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แถลงแผนดำเนินงานในปี 2558 เพื่อเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้เติบโตต่อไปได้ในช่วงสภาวะวิกฤติ ที่สถานการณ์ทางการท่องเที่ยวของไทย ยังไม่ฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และเตรียมพร้อมในการเข้าสู่การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยนำเสนอมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นตลาดเข้าสู่ที่ประชุม กรอ. และเร่งดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดทำโครงการ Digital Economy for Tourism, โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านการท่องเที่ยว, โครงการ Halal Tourism และโครงการพัฒนาเครือข่ายภูมิภาคทั่วประเทศ

บ่ายวันนี้ ที่โรงแรมเซนทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) นำโดยนายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารสภาฯ จัดงานอวยพรปีใหม่ และแถลงข่าวดัชนีความเชื่อมั่น สถานการณ์การท่องเที่ยวไทย พร้อมทั้งแถลงแผนการดำเนินงานในปี 2558 โดยมีนางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ว่าการการท่องเที่ยวประเทศไทย อธิบดีกรมการท่องเที่ยว และผู้บริหารในวงการท่องเที่ยว เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธาน สทท. ได้ชี้แจงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2557 และคาดการณ์ไตรมาสที่ 1 ปี 2558 ซึ่ง สทท. ร่วมกับ ททท. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมดำเนินการ รวมทั้งชี้แจงสถานการณ์การท่องเที่ยว และคาดการณ์การท่องเที่ยวไทยในปี 2558 โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งสำรวจก่อนเทศกาลปีใหม่ มีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับปกติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ประกอบกับปัจจัยบวกของช่วงเทศกาลท่องเที่ยว แต่ยังกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศที่ยังชะลอตัว รวมทั้งมีภาวะการแข่งขันสูงเพิ่มขึ้น ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวไทยโดยรวมในปี 2557 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 24.71 ล้านคน ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 6.93 และคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่ 1/2558 มีประมาณ 7.55 ล้านคน โดยคาดว่าในปี 2558 หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใด ๆ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 28.36 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.77 จากปี 2557 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.29 ล้านล้านบาท ในประเทศ 800,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสำคัญคือการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีน ในขณะที่การหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2558 อย่างไรก็ตามในส่วนของภาคธุรกิจโรงแรม และธุรกิจบริษัทนำเที่ยวยังได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลดลงของนักท่องเที่ยวบางประเทศ เช่น รัสเซีย

ประธาน สทท. กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์ในปี 2558 ที่ยังมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ การเมือง อุบัติภัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับมีการ เปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของสังคมโลกซึ่งรวมถึงการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่เราจะต้องเร่งขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้มีขีดความสามารถในการสร้างการเติบโตทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สทท. จึงกำหนดจัดทำโครงการสำคัญ 4 โครงการ ได้แก่

1. โครงการ Digital Economy for Tourism ที่จะร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ SIPA เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถนำไปใช้พัฒนาการดำเนินงานและการตลาด ได้กว้างขวางรวดเร็วยิ่งขึ้น

2. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามความสนใจเฉพาะ (Special Interested Tourism) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความงาม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวกลุ่มประเทศมุสลิม (Halal Tourism)

3. โครงการกำหนดมาตรฐานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งรัดการดำเนินการดังกล่าวให้ทันกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อให้แรงงานไทยมีโอกาสเข้าสู่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งในไทยและในอาเซียนให้ได้มากที่สุด

4. โครงการพัฒนาเครือข่ายสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย  ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อระดมความรู้ ความเชี่ยวชาญจากผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาค สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยร่วมกันทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ประธาน สทท. ยังกล่าวต่อว่า เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในภาพรวมที่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมดำเนินการ สทท. ได้นำเสนอมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวไทยปี 2558 โดยขอการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านที่ประชุม กรอ. ใน 3 เรื่องคือ 1. การพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว ที่ขอให้ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมดำเนินการในทุกพื้นที่2. การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวในตลาดที่มีการเติบโตสูง โดยมุ่งเน้นกลุ่มคุณภาพ 3. การให้วีซ่าประเภทเข้าออกหลายครั้ง (Multiple Entry Visa) แก่นักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางซ้ำ (Repeat Visitor)