เปิดแผนฟื้นฟูการบินไทย ความหวังพลิกวิกฤตขาดทุน เทกออฟทำกำไร
ทันทีที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย โดยเฉพาะการบินไทย ที่ถูกจับตามองจากทุกฝ่ายมากสุด เพราะยังไม่มั่นใจว่าแผนฟื้นฟูจะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วแนวทางที่กำหนดเหมาะสมขนาดไหน และพนักงานที่มีอยู่กว่า 2.5 หมื่นคนจะได้รับผลกระทบเพียงใด
- แผนฟื้นฟูหยุดขาดทุน
การจัดทำแผนฟื้นฟูของการบินไทยครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อหยุดการขาดทุน และหาวิธีการให้กลับมามีกำไรให้ได้ หลังจากที่ประสบปัญหาขาดทุนมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2556 ที่ขาดทุนประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และในปี 2557 แม้ผลการดำเนินงานทั้งปีจะยังไม่ออกมา แต่ผลประกอบรวม 3 ไตรมาสมีการขาดทุนประมาณ 9.1 พันล้านบาท คาดว่าทั้งปี 2557 จะขาดทุนไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท
แผนฟื้นฟูจึงเป็นความหวังของการบินไทยที่จะทำให้ผลการดำเนินงานกลับมาเป็นบวก โดยมีเนื้อหาหลักๆ 5 ประเด็น คือ 1.ปรับเส้นทางการบิน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.1 กลุ่มเส้นทางบินที่ขาดทุนอย่างแน่นอนและขาดทุนอย่างต่อเนื่องจะให้หยุดบินไปก่อน และใช้เวลา 6 เดือน 12 เดือน และ 18 เดือน ในการพิจารณาที่จะกลับมาฟื้นฟูการบินอีกครั้ง
1.2 กลุ่มเส้นทางที่ขาดทุนแต่มีแนวโน้มที่จะทำกำไรได้ ก็ให้พิจารณาปรับลดจำนวนเที่ยวบินลงและฟื้นฟูให้กลับมาภายใน 6-12 เดือน โดยกลุ่มนี้ยังถือเป็นกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าจะหยุดหรือไม่ เพราะอนาคตอาจมีศักยภาพจะใช้เวลาอีก 1 ไตรมาส ในการพิจารณาว่าจะหยุดหรือเดินหน้า
1.3 เส้นทางที่พอมีกำไรให้พัฒนาและเพิ่มการบริการ โดยเน้นเชื่อมต่อเส้นทางบินเพื่อไม่ให้ขาดช่วง แม้ว่าเป็นกลุ่มที่วันนี้ยังไม่มีกำไร แต่มีแนวโน้มทำกำไรได้ จะต้องไปปรับวิธีการดำเนินงานขายบัตรโดยสารให้ดีขึ้น และ 1.4 เส้นทางที่มีกำไร ซึ่งเปรียบเสมือนกำลังหลัก ส่วนนี้ต้องเพิ่มเที่ยวบิน เช่น ญี่ปุ่นและจีน เป็นต้น (กรณีของ 2 กลุ่มแรกที่มีการหยุดบินและลดจำนวนเที่ยวบินจะต้องดำเนินการเพื่อไม่ให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบ)
2.การปรับแผนการตลาดจะเน้นปรับกลยุทธ์ขายตั๋ว โดยให้เพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบออนไลน์และการจำหน่ายตั๋วเอง รวมทั้งการขยายเครือข่ายการขายตั๋วให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น 3.การขายทรัพย์สินและอากาศยานที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น ปลดระวางเครื่องบิน 22 ลำ เพราะมีการปรับลดและเลิกเส้นทางบินจึงต้องปรับลดจำนวนเครื่องบินให้เหมาะสม ดังนั้นเครื่องบินที่ไม่เหมาะสมหรือสิ้นเปลืองน้ำมันก็ต้องปลดระวางหรือดำเนินการขายทิ้ง เพื่อช่วยลดภาระด้านการซ่อมบำรุงและค่าจอดต่างๆ 4.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังคนจาก 2.5 หมื่นคน ให้เหลือ 2 หมื่นคน โดยยังไม่กำหนดช่วงเวลา ซึ่งจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการเกษียณก่อนกำหนดและแผนสมัครใจลาออก 5.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทย เช่น กิจการโรงแรม และกิจการขนส่งน้ำมัน เป็นต้น จะต้องไปพิจารณารายละเอียดว่าส่วนใดจะโอนออกไปหรือขายอีกครั้ง โดยมาตรการทั้ง 5 ข้อ ถือเป็นการหยุดเลือดของการบินไทยโดยตัดภาระที่ทำให้ติดลบมากออกไปก่อน ซึ่งในแผนนี้จะรวมถึงการลดการลงทุนลงด้วย เช่น เคยลงทุน 2 แสนล้านต่อปี ก็ต้องปรับลดลงเหลือ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนแผนการรับมอบเครื่องบินใหม่และการชำระหนี้เครื่องบินก็จะมีการเจรจาเพื่อขอยืดเวลาการรับมอบและการชำระหนี้ออกไปก่อน
-สหภาพค้านปลดพนักงาน
อย่างไรก็ตามเมื่อสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) ทราบข่าวแผนฟื้นฟูผ่าน คนร.แล้ว ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทันที โดยยืนยันว่าการบินไทยไม่สามารถปลดพนักงานได้ เพราะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนข้อเสนอที่จะปรับลดพนักงานลง 5 พันคน ทางสหภาพยังได้เข้าไปขอความชัดเจนจากฝ่ายบริหารการบินไทยเพิ่มเติมจนทราบว่า เรื่องปรับลดพนักงานเป็นแผนดำเนินการ 5 ปี แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกิดจากพนักงานที่เกษียณอายุประมาณ 500 คนต่อปี และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประมาณ 500 คนต่อปี รวมทั้ง 2 ส่วน ภายใน 5 ปี จะมีพนักงานลดลงตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันทางสหภาพได้เสนอให้ปรับลดพนักงานที่ว่าจ้างจากภายนอก (เอาต์ซอร์ส) โดยเฉพาะกลุ่มที่ประจำสำนักงานใหญ่การบินไทย คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 1 พันคน เพราะมองว่าปัญหาของการบินไทยส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับขยายโครงสร้างของฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีฝ่ายปฏิบัติ จึงว่าจ้างพนักงานเอาต์ซอร์สเข้ามาเสริมการทำงาน ในขณะที่พนักงานประจำไม่ทราบว่าได้ทำงานเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้น หากจะปรับลดพนักงานก็น่าจะปรับลดเอาต์ซอร์สก็จะช่วยลดต้นทุนภาระค่าใช้จ่ายลงได้ส่วนหนึ่ง
- เฮดจิ้งน้ำมันทำต้นทุนสูง
ขณะที่การประชุมระดับปลัดและหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่29มกราคม มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้สอบถามเกี่ยวกับการลดต้นทุนของสายการบินไทยเช่นเดียวกัน โดยมองว่าสาเหตุขาดทุนหลักเพราะสั่งซื้อน้ำมันล่วงหน้า (เฮดจิ้ง) จนกลายเป็นการบริหารต้นทุนที่ผิดพลาด เพราะเมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง ต้นทุนของการบินไทยไม่ลดลงตาม เนื่องจากยังใช้น้ำมันในราคาที่สูงอยู่นั่นเอง แต่ต้องยอมรับว่าวิธีการนี้สายการบินทั่วไปก็ใช้กัน เพราะจะส่งผลดีในช่วงที่ราคาน้ำมันสูง แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้ก็จะส่งผลให้ขาดทุนได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นการบริหารความเสี่ยงของแต่ละสายการบินอีกรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานต้อนรับหรือแอร์โฮสเตสของการบินไทย สามารถลาออกได้ตามความต้องการ โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุ 40-50 ปี ที่ต้องการพักผ่อนให้สามารถลาออกได้ โดยจะต้องไปกำหนดรูปแบบว่าจะช่วยเหลืออย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ให้เหมาะสมมากที่สุดต่อไป
- มั่นใจปีนี้หยุดขาดทุน
ขณะที่นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย ออกมาบอกว่า แผนฟื้นฟูการบินไทยเป็นแผน 2 ปีคือ ตั้งแต่ปี 2558-2559 โดยมั่นใจว่ามาถูกทางแน่ พร้อมกันนี้ยังได้วางเป้าหมายจะหยุดขาดทุนให้ได้ในปี 2558 นี้ จากนั้นปี 2560 จะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดดและยั่งยืน สำหรับการปรับลดพนักงาน 5,000 คน จะให้ความสำคัญเป็นลำดับรองลงไป เพราะจะให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการบริหารงานค่าใช้จ่ายด้านอื่นก่อน หากมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ถึงจะพิจารณาปรับลดพนักงาน
ส่วนขั้นตอนการปฏิรูปการบินไทยจะมี 3 ขั้นตอน 6 กลยุทธ์ ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกลดการขาดทุนให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยในปีนี้มีแผนยกเลิกเส้นทาง ลดความถี่เที่ยวบินที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องและไม่มีศักยภาพทำกำไรรวมประมาณ 10% ของเที่ยวบินทั้งหมด เช่น ยกเลิกเที่ยวภูเก็ต -กรุงโซล, กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ส่วนเที่ยวบินไปกลับสุราษฎร์ธานี อุดรธานี อุบลราชธานี จะลดความถี่ลงและให้สายการบินไทยสมายล์บินแทน โดยเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมาได้ประกาศยกเลิกเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-มาดริด, กรุงเทพฯ-มอสโก, กรุงเทพฯ-โจฮันเนสเบิร์ก โดยจะมีผลเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2558 เนื่องจากเส้นทางบินดังกล่าวอยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ ไม่มีศักยภาพและในระยะปานกลางก็ไม่มีศักยภาพ
เรื่องการขายสินทรัพย์จะพิจารณาขายเครื่องบินก่อนส่วนแรก 22 ลำ ภายในเดือนกรกฎาคม 2558 จากทั้งหมดที่มี 102 ลำ ส่วนทรัพย์สินอื่น เช่น บ้านพักและสำนักงานต่างประเทศ ก็ต้องประเมินอีกครั้ง ขณะที่ธุรกิจนอกเหนือจากการบิน เช่น หุ้นโรงแรม จะต้องพิจารณาอีกที ถ้าไม่สามารถบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพก็อาจต้องขาย ซึ่งจะจัดทำแผนบริหารเพื่อดูสินทรัพย์ว่าส่วนไหนมีศักยภาพ มีผลตอบแทนดีจะเก็บไว้ แต่ถ้าไม่ดีก็จะขายทิ้ง แต่เท่าที่ดูปีนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขายธุรกิจ
- รายได้ไม่ถึง 2 แสนล้าน
ขั้นตอนที่ 2 จะเร่งสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน โดยปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ บุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ในการหารายได้ทุกช่องทาง แต่ยังให้บริการเต็มรูปแบบ และขั้นตอนที่ 3 การขยายธุรกิจให้เติบโตและมีกำไรในระยะยาว โดยใช้จุดแข็งขององค์กรเป็นหลักในการเติบโต ขณะเดียวกันยอมรับว่าแผนเลื่อนการรับมอบเครื่องบิน เป็นหนึ่งในแผนช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กร ส่วนสภาพคล่องตอนนี้ยังไม่มีปัญหาและไม่จำเป็นต้องกู้ในปีนี้ แต่การขอสินเชื่อก็มีอยู่ในแผนการบริหารสภาพคล่องปกติ อย่างไรก็ตามปีนี้รายได้คงไม่ถึง 2 แสนล้านบาท
สำหรับ 6 กลยุทธ์ที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย การปรับปรุงเครือข่ายสายการบิน การปรับปรุงฝูงบิน เพิ่มประสิทธิภาพในการหารายได้ การปรับปรุงการปฏิบัติการและต้นทุน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย การปรับปรุงโครงสร้างองค์การ และการจัดการกลุ่มธุรกิจของบริษัทอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดธุรกิจหลักและธุรกิจสนับสนุนให้ชัดเจน
- เจาะกลุ่มลูกค้าหลัก
พร้อมกันนี้ดีดียังสั่งการให้ฝ่ายพาณิชย์เร่งจัดทำแผนการตลาดเพื่อดึงส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มลูกค้าหลัก5กลุ่ม เช่น กลุ่มลูกค้าข้าราชการ ลูกค้าบุคคล กลุ่มทัวร์ โดยให้ดึงส่วนแบ่งเพิ่มจากสายการบินอื่น ผ่านการทำตลาดในช่องทางซื้อต่างๆ รวมถึงทางเว็บไซต์ โดยกำหนดให้ทุกกลุ่มลูกค้าและทุกช่องทางการซื้อต้องมีตัวเลขเพิ่มขึ้นทั้งหมดในปี 2558 ขณะเดียวกันยังสั่งการให้เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ซ่อมเครื่องบินเพื่อรองรับแผนการเปิดซ่อมเครื่องบินของสายการบินอื่นรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นใน10ปีข้างหน้า เพราะในอนาคตจะมีเครื่องบินเข้ามาอยู่ในแถบประเทศไทยประมาณ 2,000 ลำ โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มรายได้จากการซ่อมเครื่องบินให้สูงขึ้น แบ่งเป็นเครื่องของการบินไทย 70% และเครื่องของสายการบินอื่น 30%
- เปิดเออร์ลี่รีไทร์พลัส
ฝั่งของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนฟื้นฟูของการบินไทยที่ยังสรุปไม่ได้มี 2 เรื่อง คือ 1.การปรับปรุงและพัฒนากิจการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของการบินไทยหรือ นอน คอร์ เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินในลักษณะใด ดังนั้น การบินไทยต้องไปพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่าธุรกิจในส่วนไหนบ้างที่ไม่เกิดประโยชน์ หรือเกิดผลกำไรขึ้นมา ซึ่งอาจจะใช้วิธีการขายหุ้นก็ได้ เช่น กรณีของโรงแรม ถ้าบอกว่าไม่เกี่ยวกับการบินก็ไม่ใช่ เพราะหากเกิดปัญหาต้องนำผู้โดยสารไปพักก็ต้องนำไปพักที่โรงแรม หรือธุรกิจท่อน้ำมัน เครื่องบินของการบินไทยก็ต้องเติมน้ำมัน เป็นต้น 2.การปรับโครงสร้างอัตรากำลังให้เหลือ 2 หมื่นคน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่การบินไทยจะต้องไปกำหนดรูปแบบให้ชัดเจน ซึ่งการปรับลดอัตรากำลังดังกล่าวไม่ใช่การปลดพนักงาน แต่เป็นการเปิดเกษียณอายุก่อนกำหนดแบบพิเศษหรือเออร์ลี่รีไทร์ พลัส จะให้ผลตอบแทนมากกว่าการเออร์ลี่รีไทร์ปกติ ส่วนรูปแบบจะเป็นอย่างไรก็ขอให้การบินไทยไปพิจารณาในรายละเอียดให้แล้วเสร็จ
...จากข้อมูลข้างต้นหลายฝ่ายต่างคาดหวังให้การบินไทยทะยานไปข้างหน้าอย่างราบรื่นแต่ยังอดห่วงไม่ได้เพราะตราบใดมีการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องแทรกแซงโอกาสจะนอนยาวไร้สติอยู่ในห้องไอซียูยังเกิดขึ้นได้เสมอ...
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : crewsociety.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : นสพ.มติชน
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com
Facebook : TerraBKK Facebook
Google+ : TerraBKK Google+
Twitter : TerraBKK Twitter
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.