ทายาท “ล่ำซำ” พา “เมืองไทย” สู่เส้นชัย
2 ทายาทตระกูลล่ำซำ สาระและนวลพรรณ เดินหน้าเต็มสูบดันธุรกิจภายใต้แบรนด์ “เมืองไทย” เติบโตรุดหน้า เริ่มจาก “เมืองไทยประกันชีวิต” ชูผลิตภัณฑ์หลากหลาย เข้าถึงง่าย เพิ่มส่วนแบ่งตลาดไทย พร้อมกับเข้าชิมลางตลาดอาเซียน ขณะที่ “เมืองไทยประกันภัย” ตั้งเป้าก้าวติดอันดับ 1 ใน 3 ของธุรกิจประกันภัยในประเทศ
สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต เผยว่า บริษัทพยายามรักษาการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยมีอัตราที่มากกว่าตลาด ซึ่งเติบโตราว 13-14% ต่อปี คาดตลาดประกันชีวิตในเมืองไทยยังโตต่อได้อีกมากในอนาคตเพราะปัจจุบันมูลค่าเบี้ยรวมประกันชีวิตในธุรกิจในประเทศไทยไม่ถึง 4% ของจีดีพี ขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียอยู่ที่ 5-7% และสัดส่วนกรมธรรม์ในไทยมีเพียง 35% ของประชากรทั้งหมด เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นสูงเกือบ 100%
ในขณะเดียวกัน บริษัทมองหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดเพื่อนบ้านอาเซียน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้กำลังเติบโตสูง ด้วยแรงหนุนจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี รูปแบบการลงทุนจะขึ้นอยู่กับกฎหมายประเทศนั้นๆ อาจเป็นทั้งการร่วมทุนตั้งบริษัทใหม่ การตั้งสำนักงานตัวแทน หรือซื้อบริษัทท้องถิ่นที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม สาระมองว่า การร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเพราะจะทำให้เข้าถึงตลาดนั้นได้ง่ายขึ้น
ล่าสุด เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา เมืองไทยฯ ได้เป็นบริษัทประกันไทยรายแรกที่เข้าไปเปิดสำนักงานผู้แทน ณ นครย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในพื้นที่เดียวกัยธนาคารกสิกรไทย
ตลาดประกันชีวิตในอาเซียนมีผู้ประกอบการค่อนข้างมาก อย่างเช่นเมียนมาร์มีประมาณ 12 ราย กัมพูชา 6-7 ราย และฟิลิปปินส์มีนับ 100 ราย ไม่รวมบริษัทต่างชาติที่เข้าไปก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สาระก็มั่นใจกับการขยายเครือข่ายออกไปในภูมิภาคนี้ เนื่องจาก เมืองไทยฯ เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งและตลอดเวลา 64 ปีได้สั่งสมประสบการณ์ โนว์ฮาว และการออกแบบผลิตประกันชีวิตที่หลากหลาย เชื่อว่าสามารถตอบสนองความต้องการของคนท้องถิ่นได้ ซึ่งมีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่คล้ายกับคนไทย
สถิติจากสมาคมประกันชีวิตไทยระบุว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมของทั้งอุตสาหกรรมใน 11 เดือนแรกของปี 2557 มีมูลค่าทั้งหมดราว 4.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.37% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2556 โดยเมืองไทยฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในอันดับ 2 ที่ 15.21% ตามหลัง บจก. เอ.ไอ.เอ ซึ่งมี 22.52% ขณะที่อันดับ 3 คือ บมจ.ไทยประกันชีวิต 12.28% ขณะที่ตลาดเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ในช่วงดังกล่าวมีมูลค่า 1.57 แสนล้านบาท โต 15.44% จากช่วงเดียวกันปี 2556 โดยเมืองไทยฯ ครองอันดับ 1 ด้วยแชร์ 20.85% ตามด้วย เอ.ไอ.เอ 15.52% และ กรุงเทพประกันชีวิต 11.87%
สาระกล่าวว่า บริษัทก้าวขึ้นเป็นเจ้าตลาดของเบี้ยประกันชีวิตหน้าใหม่ตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากผลจากการทำงานหนักของเขาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากการรีแบรนด์แบบเบ็ดเสร็จจนถึงกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ไลฟ์สไตล์เข้ามาช่วยขับเคลื่อน จนทำให้สัดส่วนการตลาดประกันชีวิตโดยรวมของเมืองไทยฯ พุ่งจากอันดับ 8 เมื่อทศวรรษก่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 2
“Next step คือเป็น Asean company ถ้าเป็นแล้ว ทำไมจะไม่เป็น Asian company” ซีอีโอ เมืองไทยฯ กล่าว
ขณะที่ นวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI) กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะขึ้นอยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของตลาดประกันภัยในอนาคตอันใกล้ จากปัจจุบันติดอยู่ 1 ใน 4 ในแง่ส่วนแบ่งการตลาดเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทุกประเภทจาก 64 บริษัท ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2557 ด้วยจำนวนเบี้ยประกันภัยรับ 8.27 พันล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 4.86% ซึ่งปีเดียวกันนั้น บริษัทมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ราว 17% สวนทางกับอัตราการเติบโตทั้งตลาดไม่มีการเติบโต
ส่วน วรรณพร ล่ำซำ ลูกคนกลาง กลับเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างไป ด้วยการเลือกศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมุ่งมั่นในเส้นทางของภูมิสถาปนิกมาตั้งแต่จบการศึกษา ในปี 2540 ได้ก่อตั้งบริษัท พี แลนด์สเคป จำกัด จนได้รับการยอมรับในวงการสถาปนิก ตั้งแต่งานออกแบบภูมิสถาปัตย์ให้กับโรงแรม The Trident Hilton Gurgaon ในอินเดีย ซึ่งเป็นการรับงานออกแบบโรงแรมในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ได้กลายเป็นใบเบิกทางไปสู่โครงการอื่นๆ เช่น โรงแรมในเครือ Hilton-Conrad, JW Marriott, Park Hyatt ทั่วโลก จากวันแรกที่มีพนักงานเพียง 3 คน มาเป็น 100 กว่าคนในวันนี้ เพื่อรับผิดชอบโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 67 โครงการ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในด้านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม
“ที่ผ่านมาเราโตเร็วเกินไป ตอนนี้เราอยากหยุดการเติบโต ทำองค์ความรู้ให้ชัด สร้างความแข็งแรงภายใน หลังจากปรับแล้ว ในปี 2560 เราจะเติบโตแบบยั่งยืนและมั่นคง” วรรณพรยอมรับว่า ธุรกิจเดินมาไกลกว่าที่คาดหวังแล้ว จึงไม่ต้องการสิ่งใดมากกว่าความยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก : Forbes Thailand
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com
Facebook : TerraBKK Facebook
Google+ : TerraBKK Google+
Twitter : TerraBKK Twitter
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.