กฟผ.เพิ่มงบลงทุนจาก 3.9หมื่นล้านบาท เป็น 4.2 หมื่นล้านบาท โดยขยายระบบส่ง สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุ นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการลงทุนในปี 2558 ของกฟผ.ว่า สำหรับวงเงินการลงทุนคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาทจากเดิมที่ตั้งไว้จะอยู่ที่ 3.9 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีหลายโครงการที่จะเร่งให้เร็วขึ้นเพื่อรองรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนโดยเฉพาะระบบส่ง รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุ ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวจำนวน 1หมื่นล้านบาทจะเป็นการนำเงินจากการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์

“ครม.ได้อนุมัติให้กฟผ.ตั้งอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์เมื่อ 2 ธ.ค.57 โดยให้นำโรงไฟฟ้าพระนครเหนือที่มีรายได้แน่นอนมาจัดตั้งวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทก็จะรอให้คลังเสนอครม.อนุมัติดำเนินการในรายละเอียดอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาเพื่อทำการขายหน่วยลงทุนได้ราวเดือน เม.ย58นี้ โดยวงเงิน 1 หมื่นล้านบาทจะนำมาลงทุนปีนี้และอีก 1 หมื่นล้านบาทจะนำไว้ใช้ลงทุนปี 2559 “ผู้ว่ากฟผ.กล่าว นายสุนชัยกล่าวว่า ปีนี้ กฟผ.จะเน้นปรับปรุงโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการสร้างขึ้นใหม่มาทดแทนโดยเฉพาะในเขตรอบนอกกรุงเทพมหานคร ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยจะมีการดำเนินการสร้างทดแทนและรวมถึงระบบส่งรองรับให้เร็วขึ้นจากแผนเพื่อที่จะดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครที่การใช้ไฟฟ้ามีสูง ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาได้ ส่วนกรณีการเจรจาเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP) และรายเล็ก(SPP) นั้นทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการ(เรกูเลเตอร์)กำลังพิจารณาอยู่ โดยหลักการเนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP) เดิมนั้นมีการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนทำให้ PDP ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำมีพลังงานทดแทนที่สามารถพึ่งได้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 34% จากเดิม 25% โดยมีการรับซื้อไฟจาก SPP 3,500 เมกะวัตต์ตั้งแต่ปี 2553 และจะทยอยเข้าระบบปี 2559 และยังมีการซื้อไฟจาก IPP รอบที่ผ่านมาอีก 5,000 เมกะวัตต์ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ถือเป็นไฟส่วนเกินที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามีการชะลอตัว “ กฟผ.พยายามที่จะเกลี่ยการซื้อไฟให้เข้าระบบในอัตราที่เหมาะสมในแต่ละปี การเลื่อนซื้อไฟหากมีสัญญาซื้อขายไฟแล้วกับเอกชนยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เราก็ต้องมาดูในส่วนของกฟผ.เองด้วยว่าจะเลื่อนอะไรได้บ้างที่เห็นขณะนี้ก็มีโรงไฟฟ้าวังน้อยหน่วยที่ 1-2 ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อ.เทพา จ.สงขลานั้นคงไม่จำเป็นต้องเลื่อนเพราะตามแผนฯก็อยู่ถึงปี 2564 ยังอีกนาน “นายสุนชัยกล่าว

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : th.aectourismthai.com

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย

สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มเติมได้ที่ : www.TerraBKK.com

Facebook : TerraBKK Facebook

Google+ : TerraBKK Google+

Twitter : TerraBKK Twitter