ข่าวดี กพช.ประกาศ ค่าไฟฟ้าตลอดทั้งปีนี้ อยู่ที่ 3.79 บาทต่อหน่วย ลดลงจากปีที่แล้วที่เฉลี่ย 3.93 บาทต่อหน่วย เปิดรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตได้จากขยะอุตสาหกรรม เห็นชอบแผนแม่บทโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดปี 2558–2579 พร้อมวางแนวทางดำเนินการกับผู้ผลิตเอสพีพี โคเจน ที่จะหมดอายุเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม นายอารีพงศ์ ภูชะอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานถึงสถานการณ์พลังงานปีนี้ ประเทศไทยจะมีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2557 ที่เฉลี่ย 97 เหรียญฯ หรือลดลง 45% เป็นผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีนี้จะอยู่ที่ 3.79 บาทต่อหน่วย ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3.93 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้รายงานแผนการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยครึ่งปีแรก ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในพม่าจะหยุดซ่อมบำรุง 2 ช่วงคือ วันที่ 11-19 เม.ย. และวันที่ 20-27 เม.ย. ส่วนครึ่งปีหลัง แหล่งผลิตก๊าซฯเจดีเอในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย- มาเลเซีย จะหยุดซ่อมบำรุงเดือน มิ.ย. และ ก.ย. โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมแผนรองรับไว้พร้อมแล้ว ทั้งการจัดซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินในวันที่ 18 มี.ค. และขอความร่วมมือกับมาเลเซีย ให้จัดส่งก๊าซฯเพิ่ม และใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ดี เพราะราคาน้ำมันเตามีราคาถูกลง “ที่ประชุม ได้มีมติรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะอุตสาหกรรมในปริมาณ 50 เมกะวัตต์ เพื่อให้การจัดการขยะเป็นไปอย่างครบวงจร และครอบคลุมขยะทุกประเภท เพราะก่อนหน้านี้ขยะชุมชน ได้มีการส่งเสริมไปแล้ว และกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าพิเศษ จากขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนปี 2558-2562 และมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ไปพิจารณาให้ความเห็นชอบในรายละเอียด และให้แต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อออกหลักเกณฑ์และคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ” นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบผลิตพลังงานร่วม (โคเจเนเรชั่น) ในกลุ่มที่รับซื้อไฟฟ้ารอบก่อนปี 2550 ซึ่งจะทยอยสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 2560-2568 จำนวน 25 โครงการ เพราะมีความจำเป็นสำหรับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำ และเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพรวมการลงทุนของประเทศ แต่เพื่อให้เป็นภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าน้อยที่สุด จึงกำหนดให้เสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปริมาณที่จำเป็น โดยไม่เกิน 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งเดิม และในราคาไม่เกินอัตราค่าไฟฟ้า ในรูปแบบผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ไอพีพี) นายคุรุจิตกล่าวว่า กพช.ยังได้เห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด ของประเทศไทย ปี 2558-2579 เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ ให้สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้กระทรวงพลังงานประกาศเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง หรือฉลากเบอร์ 5 อีก 3 รายการ คือ เตาอบไฟฟ้า กระทะไฟฟ้าก้นตื้น และตู้น้ำเย็น ตู้น้ำร้อน-น้ำเย็นสำหรับบริโภค และมีมติขยายกำหนด การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร จากเดิมภายในปีนี้ เป็นภายในวันที่ 30 มิ.ย. 2559 เนื่องจากมีข้อจำกัดเกี่ยวกับระเบียบของหน่วยราชการ รวมทั้งให้ขยายเวลาในการออกระเบียบ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT-Bidding (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) จากเดิมที่ให้แล้วเสร็จวันที่ 30 ม.ค. เป็นวันที่ 27 ก.พ.นี้.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์