“หม่อมอุ๋ย” ร่วมวงสศช.เขย่า“ดอกเบี้ย”
ธปท.ชี้ควรใช้นโยบายการคลังอัดฉีดเศรษฐกิจ “หม่อมอุ๋ย” เห็นด้วยกับ สศช.กดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ออกอาการปลื้มเห็นภาคก่อสร้างขยับดีขึ้น แม้ลงทุนรัฐวิสาหกิจติดลบ ขณะที่ ธปท.ยืนยัน นโยบายการคลังมีน้ำหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าลดดอกเบี้ย แต่ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายล่าช้า ขณะที่คนไม่ใช้เงิน-เอกชนไม่ลงทุนเพราะไม่มั่นใจสถานการณ์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รู้สึกพอใจที่เห็นตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 ขยายตัวได้ 2.3% และทั้งปี 2557 จีดีพีขยายตัว 0.7% ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมา โดยเฉพาะได้เห็นว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ภาคธุรกิจก่อสร้างที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอื่นขยายตัวได้ต่อไป จึงให้ สศช.ตามดูต่อว่าในเดือน ม.ค.2558 หากธุรกิจก่อสร้างยังขยายตัวต่อเนื่องจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะแรงงานต่างจังหวัดจะได้มีงานทำ สำหรับภาคเกษตร ซึ่งครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ตัวเลขในไตรมาสที่ 4 หดตัว 1.6% เนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรตกลงทุกชนิด ตกลงจากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยางพารา
ส่วนที่ สศช.เสนอให้ด้านนโยบายการเงินมีการขับเคลื่อน เนื่องจากมองว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงไปและเงินเฟ้อในปีนี้อาจอยู่ในระดับ 0-1% ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของ สศช. อย่างไรก็ตาม คนของ สศช.ก็นั่งอยู่ในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ควรจะไปผลักดันตามที่ สศช.มีความเห็นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานภาวะเศรษฐกิจของ สศช.ระบุว่า ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 สาขาก่อสร้างขยายตัว 3.7% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่หดตัว 2.7% และเป็นไตรมาสแรกที่มีการขยายตัวหลังจากที่หดตัวมาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 5 ไตรมาส โดยการก่อสร้างอาคารเพื่อที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ขยายตัวดี ขณะที่การก่อสร้างภาครัฐขยายตัว 5.1% ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัว 1.9% ในไตรมาสที่ 3 โดยการก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัว 9% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ที่หดตัว 2.8% แต่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจยังคงลดลง
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธปท.กล่าวถึงตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ซึ่งขยายตัว 0.7% ว่าเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่ ธปท.ประมาณไว้ แต่ตัวเลขการใช้จ่ายของภาคเอกชน และการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ต่ำกว่า ธปท.ประเมินไว้ หลักๆมาจากรายได้เกษตรกร ซึ่งขยายตัวติดลบติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว ขณะที่ปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยรายได้ของเกษตรกรคิดเป็นมูลค่า 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ถ้าคิดเป็นจำนวนคนจะอยู่ที่ 1 ใน 3 ของประชากร หรือ 35% ส่วนนี้รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือปรับโครงสร้างทางการผลิตของภาคเกษตรโดยเร็วเพื่อเพิ่มรายได้ ขณะที่ผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ยังไม่เห็นชัดว่าทำให้การใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยส่วนนี้ต้องขอเวลาอีกระยะในการติดตาม
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ใจของประชาชนว่ามีความมั่นใจในเศรษฐกิจหรือยัง ขณะที่มีปัญหาเรื่องหนี้เดิมที่มีอยู่สูงทำให้ระมัดระวังในการใช้จ่าย และไม่ต้องการกู้เงินใหม่เพื่อใช้จ่าย แต่ในอนาคตหากเริ่มเห็นเศรษฐกิจดีขึ้นต่อเนื่อง เชื่อว่าการใช้จ่ายจะกลับมาดีขึ้นชัดเจน โดยสิ่งที่สร้างความมั่นใจ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะเป็นเงินที่ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยตรง ถ้าเงินลงไปเร็วและเห็นความคืบหน้าของโครงการชัดเจน จะทำให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่ายและการลงทุน โดยขณะนี้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐล่าช้ากว่าที่ ธปท.ประมาณการไว้ไม่มาก
“น้ำหนักการกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ที่นโยบายการคลัง เพราะเมื่อเงินเข้าไปในระบบจะหมุนเร็วทันที ในขณะที่นโยบายการเงินแม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย คนกู้จะดูสถานะของตัวเอง และภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในครึ่งปีแรกปีนี้ ไม่ใช่ว่า ธปท.ไม่มีความเป็นห่วง เราก็เป็นห่วง แต่การลดลงของเงินเฟ้อเป็นไปตามต้นทุนราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่นโยบายการเงินเป็นส่วนกำลังซื้อ และผ่อนปรนเพียงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ณ เดือน ก.พ.58 ยังอยู่ที่ ติดลบ 0.68%”
โฆษก ธปท.กล่าวต่อว่า ธปท.มีความเข้าใจดีว่า ทุกฝ่ายมีความเป็นห่วงเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวน แต่ถ้าดูเฉพาะเงินทุนไม่น่าเป็นห่วงมากนัก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร 310 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่มีเงินเข้ามาลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) และการเกินดุลการค้า ซึ่ง ธปท.ติดตามดูทั้งเงินทุนเคลื่อนย้าย และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม และตรงกับความต้องการที่ได้หารือกับหอการค้าไทย ซึ่งต้องการให้ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทและการแข่งขันของเอกชนในระยะยาว ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในโลกนั้น ธนาคารกลางจะเน้นดูแลเสถียรภาพและการขยายตัวของเศรษฐกิจของตัวเองก่อน ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยลงเพื่อแก้ปัญหาภายในของประเทศนั้นๆ ซึ่งแต่ละประเทศมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางประเทศเศรษฐกิจขาลง ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน หรือมีปัญหาความผันผวนของค่าเงิน.
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.