PwC เผยไทยเป็นประเทศน่าลงทุนอันดับ 4 – ซีอีโออาเซียนไม่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยี -กังวลปัญหาการเมือง-คอร์รัปชัน
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2558 PwC เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียน มั่นใจสูงกว่าซีอีโอทั่วโลก เชื่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและรายได้ปี 2558 ดีกว่าปีก่อน หลังเปิดเออีซี ดันการค้า การลงทุนในภูมิภาคคึกคัก แถมเศรษฐกิจในประเทศหลักฟื้นตัว มั่นใจว่าธุรกิจมีโอกาสเติบโตมากกว่าอดีต ส่วนไทยผงาดขึ้นอันดับ 4 ตลาดน่าลงทุนนอกกลุ่ม BRIC แนะธุรกิจเร่งปรับตัวให้ทันเทคโนโลยี เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มมูลค่าให้กิจการ พร้อมชี้ปัญหาคอร์รัปชันและการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเป็นเรื่องใหญ่ของธุรกิจอาเซียนที่ต้องเร่งแก้ไข
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร PwC ประเทศไทย กล่าวถึงรายงานฉบับนี้ว่า เป็นมุมมองของซีอีโอต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและอาเซียน รวมถึงการเติบโตของรายได้ขององค์กรในอีก 12 เดือนข้างหน้า ครอบคลุมซีอีโอ 1,322 ราย ใน 77 ประเทศ โดยจำนวนผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจมากที่สุดมาจากเอเชียแปซิฟิก ตามมาด้วยยุโรปตะวันตก และลาตินอเมริกา
ซีอีโอโลก 39% คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น ความเข้มงวดของรัฐคือปัจจัยถ่วง
“จากผลสำรวจพบว่า 39% ของซีอีโอทั่วโลกคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 44% ส่วนซีอีโอ 17% มองว่าจะแย่ลง ปัจจัยความกังวัลนั้นหนีไม่พ้นความไม่สงบในตะวันออกกลาง ประเด็นที่สอง นโยบายทางการเงินแกนนำของโลกไม่สอดคล้องกัน ดูเหมือนว่าทิศทางของโลกมี 2 ทิศทาง ทางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ตรงข้ามกับยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งดูเหมือนจะอ่อนแออยู่ ทิศทางของเงินจึงไหลไปคนละทิศคนละทาง เงินดอลลาร์กับเงินบาทแข็งขึ้น ตรงข้ามกับเงินเยนและเงินยูโร ประเด็นที่สาม เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ขยายตัวช้าลง เป็นผลมาจากความกังวลในเศรษฐกิจจีนเป็นหลักที่มีการชะลอตัวในปีนี้”นายศิระกล่าว
ด้านความเชื่อมั่นของซีอีโอต่อรายได้ขององค์กรตัวเองภายใน 12 เดือนข้างหน้านั้น ผลสำรวจพบว่าอยู่ที่ 39% ไม่ต่างจากปีที่แล้ว ซีอีโอมองว่ารายได้ของตัวเองไม่เติบโตมากนัก ส่วนปัจจัยที่สร้างความกังวลมีอยู่ 4 เรื่อง หนึ่ง การเข้มงวดเกินไปจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล สอง การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ สาม ภาระหนี้และขาดดุลการค้า สุดท้าย ความวุ่นวายทางการเมือง รวมไปถึงปัญหาการสู้รบในตะวันออกกลาง
ด้านปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตไปได้ ซีอีโอทั่วโลกมองว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก เทคโนโลยี ซึ่งใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางตลาดและสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สอง พันธมิตรทางธุรกิจ และ สาม การบริหารความหลากหลายของบุคลากร
ในปี 2558 นี้ 58% ของซีอีโอมองว่าเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญ ธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง และต้องให้ทันโอกาสด้วย ส่วนกลยุทธ์ที่ซีอีโอจำนำมาใช้มาก คือ การพัฒนาเทคโนโลยีในมือถือและการทำงานบนอุปกรณ์ไร้สาย (mobile technology) การทำเหมืองข้อมูลและการวิเคราะห์ชั้นสูง (data mining and analysis) รวมถึงความปลอดภัยของเทคโนโลยีเอง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าด้วย
นอกจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีแล้ว ซีอีโอโลกมองว่าการมีพันธมิตรทางธุรกิจที่ดีจะสามารถช่วยในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่องค์กรตนเองไม่ถนัดได้ สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าขยายสู่ตลาดใหม่ได้มากขึ้น สุดท้ายปัจจัยการบริหารความหลากหลายของบุคลากร
“ซีอีโอทั้งหลายมองว่าการบริหารความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในบ้านเราเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมอาจจะยังไม่ท้าทาย เป็นเรื่องอายุ (ช่องว่างระหว่างวัย) มากกว่า และต้องยอมรับแล้วว่าบุคลากรที่เก่งนั้นมีความหลากหลาย 85% ของซีอีโอจึงเชื่อว่า การบริหารความหลากหลายได้จะทำให้ผลดำเนินการโดยรวมขององค์กรดีขึ้น” นายศิระกล่าว
ซีอีโออาเซียนยังไม่ให้ความสำคัญกับไอที เน้นขยายฐานลูกค้า
จากข้อมูลของอังค์ถัด(UNCTAD) ปีที่แล้ว มีการประเมิณขนาดจีดีพีของอาเซียนอยู่ที่ 4.7% มูลค่า 2.4 ล้านล้านเหรียญฯ ซึ่งในอาเซียนนี้ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่สุดคืออินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรกว่า 200 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจ 870,00 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับสอง 390,000 ล้านเหรียญฯ และอันดับสาม มาเลเซีย 310,00 ล้านเหรียญฯ
การสำรวจซีอีโอในกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ (ผลสำรวจนี้ได้รับการตอบรับผลจากซีอีโอแค่ 7 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ กัมพูชา ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) ครอบคลุมซีอีโอทั้งสิ้น 76 ราย จากการสำรวจพบว่า ซีอีโออาเซียน 29% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะดีขึ้น ขณะเดียวกันไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดการณ์ว่าไทยน่าจะมีจีดีพี 4.6% ลาว 7.2% กัมพูชา 7.3% และ พม่า 8.5%
ผลสำรวจพบว่า ตลาดสำคัญของภาคธุรกิจในอาเซียนนั้น ซีอีโอเทใจให้ จีน 46% สหรัฐฯ 38% และอินโดนีเซีย 26% ส่วนตลาดที่ซีอีโอโลกมองว่าน่าลงทุน คือ อินโดนีเซีย เม็กซิโก โคลัมเบีย ไทย เกาหลีใต้ เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย โปแลนด์ และชิลี
นอกจากนี้ ซีอีโออาเซียนยังเชื่อว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมีการข้ามสายธุรกิจ คู่แข่งไม่ได้จำกัดเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างผันตัวเองไปทำอสังหาริมทรัพย์-โรงแรม ล่าสุดธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ผันตัวเองไปทำซูเปอร์มาร์เก็ต
ส่วนปัจจัยที่จะช่วยให้ธุรกิจตัวเองประสบความสำเร็จ ซีอีโออาเซียนมองว่า การหาพันธมิตรทางธุรกิจ และการบริหารความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่มีเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ สอดคล้องกับผลสำรวจ Digital IQ Survey ครั้งที่ 6 โดย PwC เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งพบว่าซีอีโอทั่วโลกเพียง 20% เท่านั้นที่มีไอคิวดิจิทัลอยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง
“ซีอีโออาเซียนมองว่าในอาเซียนมีความเป็นเมืองมากขึ้น ชนชั้นกลางมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เหตุที่ซีอีโออาเซียนยังไม่มองเรื่องเทคโนโลยี อาจเพราะยังตามหลังประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงอยู่ ความสำคัญจึงไปตกที่การขยายฐานลูกค้า การที่ไทยขยับขึ้นมาเป็นประเทศน่าลงทุนอันดับที่สี่ เพราะว่าภูมิศาสตร์ดี อย่างไรก็ดีอย่าได้ประมาท ในไทยนั้นความวุ่นวายทางการเมืองเป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับซีอีโอ เรื่องถัดมาคือคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ไทยไม่คุ้นเคยกับการบริหารความหลากหลาย ภายหน้าหากมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ไทยอาจจะเสียเปรียบ”นายศิระกล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : aliexpress.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยพับลิก้า
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.