สรุปข่าวในรอบสัปดาห์: สหรัฐอเมริกา การลดลงของราคาน้ำมันได้สร้างแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยดัชนีราคาสินค้านำเข้าลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 หรือในรอบ 6 ปี และเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่ปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 ขณะที่การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญในรอบสัปดาห์นี้ของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ชี้ถึงการขยายตัวที่เปราะบาง พิจารณาได้จากการลดลงของยอดการเริ่มสร้างบ้านใหม่ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านก็ปรับลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน นอกจากนี้ การชะลอตัวของดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index) และดัชนีภาวะธุรกิจในเขตมิด-แอตแลนติกก็บ่งบอกถึงการชะละตัวของธุรกิจและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะที่ผู้บริโภคก็มีความเชื่อมั่นที่ลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ และการลดลงของยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ก็เป็นปัจจัยที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในที่สุด การลดลงของราคาน้ำมันได้สร้างแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
  • ราคานำเข้าสินค้าในเดือนมกราคมลดลง 2.8% จากที่ลดลง 1.9% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 หรือในรอบ 6 ปี และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 7 เดือน ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ราคานำเข้าลดลงสูงถึง 8.0% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 สำหรับสาเหตุหลักที่ฉุดให้ราคานำเข้าปรับตัวลงคือการทรุดตัวลงของต้นทุนเชื้อเพลิง โดยราคานำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเดือนมกราคมลดลงถึง 17.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งดิ่งลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 หลังจากลดลง 12.4% ในเดือนพฤศจิกายน โดยหากไม่รวมเชื้อเพลิง ราคานำเข้าลดลง 0.7% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าส่งออกลดลง 2% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 หลังจากร่วงลง 1.0% ในเดือนธันวาคม
  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมกราคมลดลง 0.8% (m-o-m) จากที่ปรับตัวลง 0.2% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 และเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยถูกถ่วงลงจากราคาพลังงานที่ทรุดตัวลง และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ทรงตัว หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นการปรับตัวรายปีที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในเดือนพฤศจิกายน 2553
ตัวเลขที่สำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอย่างเปราะบาง ขณะที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดลง
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านที่จัดทำโดยสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลงสู่ระดับ 55 จากระดับ 57 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังบ่งชี้ถึงมุมมองที่เป็นบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงมุมมองโดยทั่วไปที่เป็นบวก
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขานิวยอร์ครายงานว่า ดัชนีภาวะธุรกิจโดยรวม (Empire State Index) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวลงสู่ระดับ 7.8 จากระดับ 10 ในเดือนกราคม โดยได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อและการจ้างงานที่อ่อนแอ หลังอยู่ที่ระดับ -1.23 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 โดยดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 0 บ่งชี้ถึงการขยายตัว
  • ยอดการเริ่มต้นสร้างบ้านใหม่ในเดือนมกราคมลดลง 2% (m-o-m: annual rate) สู่ระดับ 1.065 ล้านยูนิต จากระดับ 1.09 ล้านยูนิตในเดือนธันวาคม แต่เมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 18.7% และอยู่เหนือระดับ 1 ล้านยูนิตเป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ยอดการอนุญาตก่อสร้างบ้านลดลง 0.7% สู่ระดับ 1.05 ล้านยูนิต แต่สามารถอยู่เหนือระดับ 1 ล้านยูนิตนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่
  • ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สาขาฟิลาเดลเฟีย รายงานว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกในเดือนกุมภาพันธ์ชะลอตัวสู่ระดับ 5.2 จากระดับ 6.3 ในเดือนมกราคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 8.0 ทั้งนี้ ตัวเลขที่ต่ำกว่า 0 บ่งชี้ถึงการหดตัว ขณะที่ตัวเลขสูงกว่า 0 บ่งชี้การขยายตัว
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเบื้องต้นที่จัดทำโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนของเดือนกุมภาพันธ์ลดลงสู่ระดับ 93.6 ต่ำกว่าระดับ 98.1 ของเดือนมกราคม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 98.1 ส่วนดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันลดลงสู่ระดับ 103.1 จากระดับ 109.3 ในเดือนมกราคม และดัชนีคาดการณ์เศรษฐกิจอนาคตอ่อนตัวลงสู่ 87.5 จากระดับ 91
การผลิต และอุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น   ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) รายงานว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ลดลง 0.3% ในเดือนธันวาคม ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงสู่ระดับ 79.4% จากที่ระดับ 79.7% ในเดือนธันวาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 79.8%
  • ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ที่จัดทำโดย Conference Board เดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 121.1 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% และ 0.3% ในเดือนธันวาคมและพฤศจิกายน 2557 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนี Coincident Economic Index (CEI) ปรับตัวขึ้น 0.2% สู่ระดับ 111.6 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนธันวาคม ส่วนดัชนี Lagging Economic Index (LAG) ปรับตัวขึ้น 0.3% สู่ระดับ 115.3 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก่อน
  • ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 14 ก.พ. ลดลง 21,000 ราย สู่ระดับ 283,000 ราย สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 290,000 ราย ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานโดยเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักเคลื่อนที่ 4 สัปดาห์ ลดลง 6,500 ราย สู่ระดับ 283,250 ราย สำหรับจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 58,000 ราย สู่ระดับ 2.4 ล้านราย ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 58
มุมมองในสัปดาห์หน้า ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศออกมาในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่ รวมถึงยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย(pending home sales) และดัชนีราคาบ้าน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะมีทิศทางที่ไม่เป็นบวกกับตลาดมากนัก หลังยอดการเริ่มสร้างบ้านใหม่และยอดการขอรับอนุญาตก่อสร้างบ้านที่ประกาศก่อนหน้าปรับตัวลดลง สหภาพยุโรป   ตลาดการเงินมุ่งให้ความสนใจในการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนและกรีซในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวยังไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ เนื่องจากกรีซได้ปฏิเสธร่างแถลงการณ์ที่ระบุให้มีการขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือกรีซออกไปอีก 6 เดือน ขณะที่ภายหลังจากการประชุมดังกล่าวรัฐมนตรีคลังต่างๆ ได้ออกมาเรียกร้องให้กรีซยึดมั่นในการปฏิรูปและมาตรการรัดเข็มขัดตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับเดิม ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตกลงที่จะปรับเพิ่มวงเงินความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉิน (ELA) สำหรับธนาคารพาณิชย์กรีซสู่ระดับ 6.83 หมื่นล้านยูโร จากเดิมที่ 6.5 หมื่นล้านยูโร อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุด ทางการกรีซได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสหภาพยุโรป (EU) เพื่อขอขยายระยะเวลาของเงินกู้ในข้อตกลงความช่วยเหลือจาก EU และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่การขยายระยะเวลาของเงินกู้ดังกล่าวตามข้อเสนอของกรีซมีรายละเอียดต่างจากข้อตกลงฉบับเดิมที่กำหนดให้กรีซดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งรัฐบาลใหม่ของกรีซมีจุดยืนคัดค้านมาโดยตลอด ด้านสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ รายงานว่า การที่กรีซออกจากยูโรโซนจะสร้างความเสี่ยงทางการเงินต่อประเทศที่เหลือในยูโรโซนน้อยกว่าในปี 2012 เนื่องจากขณะนี้ยูโรโซนมีกลไกสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น สำหรับการประกาศตัวเลขที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่บ่งบอกทิศทางที่ดีขึ้นโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 18 ประเทศ ขยายตัว 0.3% ในไตรมาส 4 ของปี 2557 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในเยอรมนีที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศก็ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลดลงของราคาพลังงานก็ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคในฝรั่งเศสปรับตัวลดลง ตลาดการเงินมุ่งให้ความสนใจในสถานการณ์ของกรีซการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนและกรีซไม่สามารถทำข้อตกลงใดๆ
  • การประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลังของกรีซและยูโรโซน ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว โดยไม่มีการทำข้อตกลงใดๆเกี่ยวกับประเด็นหนี้สินของกรีซ หลังจากที่กรีซได้ปฏิเสธร่างแถลงการณ์ของยูโรกรุ๊ปที่ระบุให้มีการขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือกรีซออกไปอีก 6 เดือน
รัฐมนตรีคลังต่างออกมาเรียกร้องให้กรีซยึดมั่นในการปฏิรูปและมาตรการรัดเข็มขัดตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับเดิม
  • นายมิเชล ซาแปง รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า ทางฝรั่งเศสพร้อมเปิดประตูเพื่อเจรจาปัญหาหนี้สินกรีซ โดยอาจมีการเจรจาต่อรองเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยและเลื่อนกำหนดเวลาการครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตรของกรีซ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดูเหมือนว่าฝรั่งเศสจะมีท่าที่อ่อนลงต่อรัฐบาลชุดใหม่ของกรีซ แต่รมว.คลังยังคงยืนยันว่า กรีซจำเป็นต้องชำระหนี้คืนแก่ยุโรป แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในบางประการ
  • นายจอร์จ ออสบอร์น รมว.คลังอังกฤษ กล่าวว่า ความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลงแก้ไขปัญหาหนี้กรีซจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหาทางบรรลุข้อตกลง
  • นายมาร์ติน เจเกอร์ โฆษกกระทรวงการคลังเยอรมัน ระบุว่า กรีซจะสามารถได้รับการต่ออายุโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ก็ต่อเมื่อกรีซได้ยึดมั่นในการปฏิรูปและมาตรการรัดเข็มขัดตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับเดิม
  • ทางการกรีซได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสหภาพยุโรป (EU) เพื่อขอขยายระยะเวลาของเงินกู้ในข้อตกลงความช่วยเหลือจาก EU และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์
  • นายวูล์ฟกัง ชอยเบิล รมว.คลังเยอรมัน กล่าวว่า ข้อเสนอของกรีซที่ต้องการขยายระยะเวลาของเงินกู้ในข้อตกลงความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (EU) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกไปอีก 6 เดือนนั้น ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่มีการตกลงกันไว้ในการประชุมยูโรกรุ๊ปเมื่อวันจันทร์
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตกลงที่จะปรับเพิ่มวงเงินความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉิน (ELA) สำหรับธนาคารพาณิชย์กรีซ
  • ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตกลงที่จะปรับเพิ่มวงเงินความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องฉุกเฉิน (ELA) สำหรับธนาคารพาณิชย์กรีซ ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายของอีซีบีตกลงในการปรับเพิ่มวงเงิน ELA สำหรับธนาคารพาณิชย์กรีซ สู่ระดับ 6.83 หมื่นล้านยูโร (7.8 หมื่นล้านดอลลาร์) จากเดิมที่ 6.5 หมื่นล้านยูโร โดยก่อนหน้านี้ ECB เพิ่งปรับขึ้น ELA ในวันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 58 โดยปรับขึ้นสู่ 6.5 หมื่นล้านยูโร จากเดิมที่ 6.0 หมื่นล้านยูโร
  • สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ รายงานว่า การที่กรีซออกจากยูโรโซนจะสร้างความเสี่ยงทางการเงินต่อประเทศที่เหลือในยูโรโซนน้อยกว่าในปี 2012 เนื่องจากขณะนี้ยูโรโซนมีกลไกสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้น ท้งนี้ S&P ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2012 ผู้กำหนดนโยบายของยูโรโซนได้จัดตั้งกลไกเสถียรภาพยุโรป (ESM) ซึ่งจะสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินต่อประเทศในยูโรโซนภายใต้แรงกดดันจากตลาด หากกรีซออกจากยูโรโซน พร้อมระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรีซและตลาดการเงินได้ลดลงอย่างมาก ทำให้ไม่มีแนวโน้มที่ผลกระทบจะลุกลามออกไป
การประกาศตัวเลขที่สำคัญของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่บ่งบอกทิศทางที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจโดยภาพรวม ขณะที่การลดลงของราคาพลังงานก็ยังกดดันให้ราคาผู้บริโภคปรับตัวลดงลง
  • สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร 18 ประเทศ ขยายตัว 0.3% ในไตรมาส 4 ของปี 2557 หลังจากที่ขยายตัว 0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัว 0.9% หลังจากขยายตัว 0.8% ในไตรมาส 3 สำหรับปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลข GDP ปรับตัวขึ้นนั้นมาจากการขยายตัวแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในยุโรป โดย GDP เบื้องต้นของเยอรมนีในช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัว 0.7% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในช่วงไตรมาส 3
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป หรือ ZEW เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ในเยอรมนีที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศในเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53.0 จากระดับ 48.4 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี
  • สำนักงานสถิติฝรั่งเศส (Insee) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคมปรับตัวลดลง 1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน และเมื่อเทียบเป็นรายปีแล้ว ดัชนี CPI ปรับตัวลดลง 0.4% สำหรับดัชนี Harmonized Index of Consumer Prices (HICP) ของฝรั่งเศสปรับตัวลดลง 0.4% เทียบรายปีในเดือนมกราคม หลังจากที่ได้ขยายตัวเล็กน้อยในเดือนก่อนหน้านั้น โดยได้หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 6 ปี
มุมมองในสัปดาห์หน้า ยังคงต้องคอยติดตามการประชุมของการประชุมรัฐมนตรีคลังของยูโรโซนเกี่ยวกับหนี้ครบกำหนดไถ่ถอนของกรีซที่จะในวันศุกร์นี้ว่าผลจะออกมาเช่นไร หลังจากทางการกรีซได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการต่อสหภาพยุโรป (EU) เพื่อขอขยายระยะเวลาของเงินกู้ในข้อตกลงความช่วยเหลือออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ข้อเสนอของกรีซที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่มีการตกลงกันไว้ในการประชุมยูโรกรุ๊ปเมื่อวันจันทร์ เอเชีย การปล่อยกู้ใหม่ของธนาคารพาณิชย์จีนเดือนมกราคมสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ อย่างไรก็ดีราคาบ้านใหม่ในจีนยังลดลงต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาเรื่องฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยังสร้างความวิตกต่อนักลงทุนมาโดยตลอด เนื่องจากปัญหาดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ในวงกว้างโดยเฉพาะภาคธนาคารพาณิชย์
  • ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์จีนปล่อยกู้ใหม่ 1.47 ล้านล้านหยวน (2.356 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2009 ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบ (M2) ของจีนเติบโต 10.8% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัว 12.2% ในเดือนธ.ค สำหรับสินเชื่อหยวนคงค้างเพิ่มขึ้น 13.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ราคาบ้านใหม่โดยเฉลี่ยในเมืองใหญ่ 70 เมืองของจีนลดลง 5.1% ในเดือนม.ค.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ทั้งนี้ราคาบ้านใหม่ในปักกิ่งลดลง 3.2% ในเดือนม.ค.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 2.7% ในเดือนธ.ค. ราคาบ้านในเซี่ยงไฮ้ลดลง 4.2% ในเดือนม.ค.จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 3.7% ในเดือนธ.ค.
  • สำนักปริวรรตเงินตราของรัฐบาลจีน (SAFE) เปิดเผยว่าจีนคาดว่ากระแสเงินทุนข้ามพรมแดนของจีนจะยังคงผันผวนในปีนี้ หลังจากมีเงินทุนไหลออกมากขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2014 ทั้งนี้จีนมียอดขาดดุลบัญชีเงินทุน 9.12 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาส 3 ทั้งนี้ผู้มีถิ่นฐานในจีนและบริษัทเปลี่ยนไปถือสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น ซึ่งทำให้มีเงินทุนไหลออกมากขึ้น
  การส่งออกของญี่ปุ่นเดือนมกราคม 2558 เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับจากปลายปี 2556 ขณะที่จีดีพีไตรมาส 4 ปี 2557 ขยายตัว 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า หลังจากจีดีพีหดตัวสองไตรมาสก่อนหน้านั้น ซึ่งชี้ถึงการฟื้นตัวหลังจากถูกกระทบจากผลของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเดือนเมษายน 2557 การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมกราคม 2558 เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2013 ท่ามกลาง  สัญญาณที่น่าพอใจที่บ่งชี้ว่า เยนที่อ่อนค่าลงกำลังส่งเสริมภาคการส่งออกของประเทศ และช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาวะถดถอย ทั้งนี้กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า การส่งออกเพิ่มขึ้น 17.0% เมื่อเทียบรายปีในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากยอดส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯและชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ไปยังเอเชีย ด้านการนำเข้าลดลง 9.0% ในเดือนม.ค. เนื่องจากราคาน้ำมันที่ร่วงลง และนั่นทำให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้า 1.18 ล้านล้านเยน (9.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ลดลง 57.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ก็ยังคงเป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่ 31 ติดต่อกัน
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานขั้นต้นระบุว่า มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เติบโต 0.6% เมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาสในไตรมาส 4/2014 หลังจากจีดีพีหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ขณะที่เมื่อเทียบรายปีเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 4 โดยฟื้นตัวจากภาวะถดถอยที่เกิดจากการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในปีที่ผ่านมา
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายผ่อนคลายการเงิน รวมทั้งแสดงความมั่นใจว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวขึ้นโดยที่บีโอเจไม่จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม บีโอเจตัดสินใจที่จะให้สัญญาตามเดิมว่าบีโอเจจะปรับเพิ่มฐานเงินหรือปริมาณเงินสดและเงินฝากในธนาคารกลางในอัตรา 80 ล้านล้านเยน (6.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ต่อปีต่อไป
อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อย่างไม่คาดหมายในสัปดาห์นี้
  • อัตราเงินเฟ้อในมาเลเซียลดลงสู่ 1.0% ต่อปีในเดือนม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดในรอบกว่า 5 ปีในขณะที่ราคาน้ำมันดิ่งลง อย่างไรก็ดีนักเศรษฐศาสตร์ไม่คาดว่าธนาคารกลางมาเลเซียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็วๆนี้ ทั้งนี้เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโต 5.8% ในไตรมาส 4/2014 ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินคาดเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดิ่งลง
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) สร้างความประหลาดใจให้แก่ตลาดด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011 โดยลดลง 0.25% สู่ระดับ 7.50% โดยระบุว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องกับความพยายามเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่กรอบเป้าหมาย ธนาคารกลางยังมีมติลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากข้ามคืน (FASBI) ลง 0.25% สู่ระดับ 5.50% แต่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 8% ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอยู่ที่ 6.96% ในเดือนม.ค. ซึ่งลดลงจาก 8.36% ในเดือนธ.ค. BI กำหนดเป้าหมายว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงสู่ 3-5% ในปีนี้ ขณะที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัว 5.02% ในปี 2014 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 5 ปี
มุมมองสัปดาห์หน้า สัปดาห์หน้าจับตารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนเดือนกุมภาพันธ์ 2558 หลังจากตัวเลขเดือนมกราคม 2558 ชี้ถึงการหดตัวจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ทางด้านญี่ปุ่นจะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของเดือนมกราคม 2558 ซึ่งต้องดูว่าตัวเลขจะชี้ถึงภาวะการฟื้นตัวจากผลกระทบการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อเดือนเมษายน 2557 หรือไม่   ไทย เศรษฐกิจไทยขยายตัว 0.7% ในปี 2557 โดยสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 จะขยายตัว 3.5-4.5%
  • คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของไทยในไตรมาส 4/57 เติบโต 2.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยได้แรงหนุน จากการฟื้นตัวของการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐ ตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 4/57 เมื่อเทียบรายปีใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์ คาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4% แต่การเติบโตรายไตรมาส ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะ เติบโต 2.3% สภาพัฒน์ระบุว่าจีดีพีของไทยทั้งปี 2557 ขยายตัว 0.7% จากที่คาดไว้เมื่อเดือนพ.ย.57 ว่าจะขยายตัว 1.0% ส่วนในปี 2558 สภาพัฒน์ยังคงคาดการณ์จีดีพีไว้เท่าเดิมว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% แม้คาดว่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 3.5% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 4% เพราะมองว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าการประเมินในครั้งก่อน แต่เศรษฐกิจไทยจะได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการเร่งใช้จ่าย และการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ อีกทั้ง คาดการณ์ว่าภาคการท่องเที่ยวจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปีก่อน นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จะช่วยหนุนให้การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น
มุมมองสัปดาห์หน้า สัปดาห์หน้าจับตารายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยประจำเดือนมกราคม 2558 เช่นการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีการอุปโภคบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนว่าตัวเลขดังกล่าวจะยังชี้ถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ข้อมูล คำแนะนำ บทวิเคราะห์ และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ ได้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ได้รับมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้และให้ความเห็นตามหลักวิชาการเท่านั้น ทั้งนี้สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ไม่อาจรับรองความถูกต้อง และความสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวได้ และสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) จะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ทั้งปวง ที่เกิดขึ้นจากการนำข้อมูล คำแนะนำ บทวิเคราะห์ การคาดหมาย และความคิดเห็นต่างๆ ที่ปรากฏในรายงานนี้ไปใช้ โดยผู้ที่ประสงค์จะนำไปใช้ในต้องยอมรับความเสี่ยง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเองโดยลำพัง

ขอบคุณข้อมูลจาก : Efinacncethai