นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2557 บริษัทมียอดขายรวม 2.83 ล้านล้านบาท ลดลง 0.3% และมีกำไรสุทธิ 5.57 หมื่นล้านบาท ลดลง 40% เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีซึ่งปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 52 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลง 44% จากระดับราคาน้ำมัน 105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้เกิดการขาดทุนจากการสต๊อกน้ำมัน

ขณะเดียวกันในธุรกิจเอ็นจีวีในปี 2557 มีผลการดำเนินการขาดทุน 1.9 หมื่นล้านบาท หรือขาดทุนมากขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อน เพราะปตท.ยังต้องแบกรับภาระขาดทุนเอ็นจีวีในอัตราที่สูง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลประกอบการสูงขึ้น 21%

“เหตุผลหลักของการขาดทุนมาจากการขาดทุนเอ็นจีวี การขาดทุนสต๊อกน้ำมัน การขาดทุนในกลุ่มปิโตรเคมีอโรเมติกส์ และการตั้งงบเผื่อการด้อยค่าของการลงทุน ซึ่งเกือบทุนบริษัททั่วโลกได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ในเรื่องของผลกระทบจากราคาน้ำมัน” นายไพรินทร์ กล่าว

ทั้งนี้ งบดุลของบริษัทปี 2557 มีทรัพย์สิน 1.8 ล้านล้านบาท ลดลง 1.4% เพราะระดับราคาน้ำมันลดลง โดยมีกระแสเงินสด 2.8 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งนำไปจ่ายเจ้าหนี้ 7 หมื่นล้านบาท ลงทุน 1.44 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนเพียง50% จากที่คาดการณ์ไว้ เพราะสถานการณ์ไม่ปกติ ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น โดยทั้งปีจ่ายเงินปันผล 11 บาท และจ่ายภาษี

ขณะที่แผนการลงทุน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2562 ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ที่ 1 ล้านล้านบาท โดย 50% จะเป็นการลงทุนของบริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) โดยในปี 2558 คาดว่าจะมีการลงทุน 8.5 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนในโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 การลงทุนสร้างคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นต้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวนแผนการลงทุน โดยคาดว่าจะเรียบร้อยในช่วงเดือนมี.ค. นี้ ซึ่งช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง เป็นช่วงจังหวะที่ดีมากต่อการลงทุน

สำหรับในปี 2558 คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจากปีก่อนแน่นอน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่จะผ่อนคลายการรับภาระส่วนต่างราคา โดยเฉพาะเอ็นจีวีที่จากเดิมขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท น่าจะเหลือเพียง 1 หมื่นล้านบาท ในปีนี้ ประกอบกับราคาน้ำมันเริ่มนิ่ง

อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ศึกษาการดำเนินการทั้งหมดในกรณีที่ราคาน้ำมันอาจปรับลดลงไปต่ำกว่าปัจจุบันโดยศึกษาไว้ในระดับที่ต่ำสุดถึง 30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีแผนรับความเสี่ยงรองรับไว้อยู่แล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก: POSTTODAY