หลายฝ่ายเสนอความเห็นหลังจัดเวทีสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
1 ใน 3 ข้อสรุปจากเวทีแลกเปลี่ยนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 คือการให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทบทวนกฎหมายปิโตรเลียมและการทำประชามติ ซึ่งต้องได้ข้อยุติภายในกำหนดปิดรับซองประมูลสัมปทานในวันที่ 16 มี.ค.2558 ขณะที่หลายฝ่ายยังคงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในเวที "เดินหน้าประเทศไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน" เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.2558) เบื้องต้นได้ข้อสรุปใน 3 ประเด็น คือ การบริหารพลังงานให้มีประสิทธิภาพ, ต้องสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และรัฐห่วงใยต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน นอกจากนี้จะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อทบทวนข้อกฎหมายบางประการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมกำหนดว่าจะต้องได้ข้อยุติภายในวันที่ 16 มี.ค.2558 ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะปิดรับซองประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ระบุว่า ก่อนหน้านี้ สปช.ได้เสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้เดินหน้าไปก่อน เนื่องจากกระทรวงพลังงานระบุถึงความจำเป็นด้านความมั่นคงพลังงาน แล้วจึงแก้กฎหมาย ซึ่งสามารถเปลี่ยนให้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังมองว่าขณะนี้อาจไม่จำเป็นในการทำประชามติเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ
ขณะที่นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ประเด็นหลักที่รัฐบาลควรเร่งทำในขณะนี้คือการเร่งแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ก่อนที่จะทำการสำรวจ ส่วนการทำประชามติอาจจะต้องรอดูท่าทีจากรัฐบาลก่อน
ด้านนายวีระศักดิ์ โฆษิตไพศาล ประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม ระบุว่า สิ่งสำคัญนอกเหนือจากหรือรูปแบบ คืออยากให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ไว้ไจซึ่งกันและกันและเชื่อมั่นในคนทำงาน พร้อมเห็นว่าขณะนี้ประเทศมีความจำเป็นที่ต้องเร่งหาแหล่งพลังงานปิโตรเลียมสำรองโดยเร็ว เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งในไทยและในเมียนมาร์ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าลดน้อยลง โดยหากต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นทำให้บางธุรกิจอาจต้องปิดตัว ซึ่งจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งการจ้างงานและภาษีรายได้ที่ภาครัฐจะได้รับ
ตลอด 3 รัฐบาลที่ผ่านมา มีความพยายามเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะเป็นพันธกิจของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องเตรียมแผนจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องล้มเหลว โดยครั้งล่าสุดที่รัฐบาลสามารถเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมประสบความสำเร็จคือ ยุครัฐบาลทหารในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : postjung.com
ขอบคุณข้อมูลจาก : thaipbs.or.th
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.