รมว.คลังลงนามในพิธีสาร7 ภายใต้กรอบอาเซียน
รมว.คลังลงนามในพิธีสาร7 ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในพิธีสาร 7 เรื่องระบบศุลกากรผ่านแดน และภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการเข้าผูกพัน ตามพันธกรณีระหว่างประเทศภายใต้การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC
ทั้งนี้ พิธีสาร 7 เป็นพิธีสารหนึ่งของกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับการขนส่ง การค้า และศุลกากรให้ง่ายและมีมาตรฐานเดียวกัน และเพื่อจัดตั้งระบบการขนส่งผ่านแดนให้มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประชุมปรึกษา และลงมติเห็นชอบในการรับรองความถูกต้องแล้ว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามร่างพิธีสาร 7 และภาคผนวกทางเทคนิค : กฎเกณฑ์และพิธีการว่าด้วยศุลกากรผ่านแดนอาเซียน ภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดน (ASEAN Framework Agreement on the Facilitation of Goods in Transit) รวมทั้งอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ในการลงนามร่างพิธีสารดังกล่าว โดยกรอบความตกลงนี้ได้กำหนดรายละเอียดของการขนส่งสินค้าผ่านแดนไว้ในพิธีสารทั้งหมดจำนวน 9 พิธีสาร
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิธีสารดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว จะมีประโยชน์หลายประการ อาทิ ช่วยกระตุ้นและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านแดนและสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้ระบบการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีระเบียบกฎเกณฑ์และมาตรการเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีระเบียบพิธีการและขั้นตอนในการขนส่งสินค้าผ่านแดนที่เป็นระบบ มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์อย่างเต็มรูปแบบโดยมีการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการขนส่งสินค้าผ่านแดน มีการใช้หลักประกัน (Guarantee) ฉบับเดียวโดยให้มีผลบังคับในทุกประเทศและครอบคลุมถึงสินค้าตลอดเส้นทางการขนส่ง รวมทั้งมีการใช้แบบสำแดงหรือเอกสารการสำแดงทางศุลกากรที่เหมือนกันทั่วทั้งภูมิภาคในการขนส่งผ่านแดน (Single Regional Customs Declaration/ Document for Transit) อันจะส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ระบุไว้ใน AEC Blueprint ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียนในภาพรวมก็จะดียิ่งขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลังจากการลงนามในพิธีสาร 7 ระบบศุลกากรผ่านแดน และภาคผนวกทางเทคนิคดังกล่าวแล้ว จะมีการเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 23 วรรค 2 ก่อนให้สัตยาบันต่อไป.
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักข่าวไทย
Discussion
Follow breaking news Investment property articles on Facebook, click here.