สิ้นศักราชใหม่ พ.ศ. 2558 นี้ ไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (ASEAN Economics Community: AEC) อย่างเต็มตัว การรวมตัวที่เกิดขึ้นนี้เป็นการนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาตกลงร่วมกัน รูปแบบคล้ายๆ กลุ่มยูโรโซนหรือเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ส่งผลให้ประเทศไทยจากเดิมที่ตลาดมีแค่การให้บริการประชาชนเกือบ 70 ล้านคน เพิ่มเป็นตลาดของประชาชนร่วม 600 ล้านคนในอีก 10 ประเทศอาเซียน การโยกย้ายหาหลักแหล่งในการทำงานเป็นสิ่งที่ตามมาหลังการเปิดใช้ตลาดร่วมกัน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จึงได้กำหนดให้จัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs ) ด้านคุณสมบัติในสาขาวิชาชีพหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักวิชาชีพ หรือแรงงานเชี่ยวชาญ หรือผู้มีความสามารถพิเศษของอาเซียนได้อย่างเสรี โดยข้อตกลงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้อย่างเสรี ได้กำหนดครอบคลุม 7 อาชีพ และอาจจะมีการเพิ่มจำนวนอาชีพขึ้นมาอีกในลำดับถัดไป
สำหรับ 7 อาชีพ ที่มีข้อตกลงกันแล้วให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้อย่างเสรี ได้แก่ วิศวกร (Engineering Services) พยาบาล (Nursing Services) สถาปนิก (Architectural Services) การสำรวจ (Surveying Qualifications) นักบัญชี (Accountancy Services) ทันตแพทย์ (Dental Practitioners) และแพทย์ (Medical Practitioners) อาชีพแพทย์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่เปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเสรี เป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนในประเทศ คุณสมบัติในการเป็นแพทย์ต่างชาตินั้นต้องได้รับการขึ้นทะเบียนหรือมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ในประเทศตนเอง ซึ่งได้รับการยอมรับจากผู้มีอำนาจกำกับดูแลด้านวิชาชีพแพทย์ (PMRA) ของประเทศตนและประเทศที่จะไปทำงาน มีประสบการณ์ในวิชาชีพไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยไม่มีประวัติด่างพร้อย รวมถึงไม่อยู่ระหว่างการสอบสวนหรือมีคดีความทางกฎหมายด้วย ในปี 2558 นี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีแพทย์ต่างชาติจำนวนมากไหลเข้าไปในอินโดนีเซีย หนึ่งในสมาชิกเออีซี ซึ่งจะนำพาการลงทุนด้านธุรกิจสุขภาพอย่างมากมายมหาศาล โดยก่อนหน้าที่จะมีนโยบายเขตเศรษฐกิจอาเซียน ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากเลือกที่จะเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปรับบริการทางการแพทย์ที่ดีกว่า อย่างในในปี 2557 ที่ผ่านมา ชาวอินโดนีเซียมากกว่า 600,000 ราย เดินทางออกนอกประเทศไปเพื่อรับบริการทางการแพทย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งมีการใช้จ่ายเงินไปกว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับประเทศเหล่านั้นทุกปีตั้งแต่ปี 2546 แต่เมื่อมีการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็มีการคาดการณ์ว่าแพทย์จะไหลกลับเข้ามาที่อินโดนีเซียมากขึ้น ปัญหาการไหลออกไปใช้บริการนอกประเทศของชาวอินโดนีเซียเกิดจากการได้รับบริการที่ดีกว่า ความเป็นมืออาชีพมากกว่าแพทย์ในอินโดนีเซียเอง นอกจากนี้ แพทย์ในอินโดนีเซียยังมีความคิดว่าอาชีพแพทย์มีความสูงส่งมากกว่าอาชีพอื่นๆ ซึ่งทำให้แพทย์เหล่านั้นไม่สนใจดูแลคนไข้หรือความเป็นส่วนตัวของคนไข้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้คนไข้ไม่ค่อยไว้ใจแพทย์มากนัก ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข นอกจากปัญหาการไหลออกไปใช้บริการนอกประเทศตนเองในอาเซียนด้วยกันแล้ว การมาใช้บริการด้านสุขภาพของชาวยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ที่เอเชียเองก็มีมากเช่นกัน ด้วยการบริการที่ดีและค่าใช้จ่ายถูกกว่า และเมื่อดูรายได้ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเอเชียแล้วจะพบว่ารายได้ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ซึ่งมีผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไข้ถูกลงไปด้วย ตัวอย่างในประเทศไทย แพทย์เฉพาะทางมีรายได้เฉลี่ยปีละ 2,000,000 บาท ขณะที่รายได้ของแพทย์ในโลกที่พัฒนาแล้วนั้น จากข้อมูลของเว็บไซต์ Insidemonkey พบว่ารายได้แพทย์เฉพาะทางสูงสุดของโลกอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สูงสุดปีละ 8,349,000 บาท ตามด้วยออสเตรเลีย ปีละ 8,151,000 บาท อันดับสามสหรัฐอเมริกา ปีละ 7,590,000 บาท และอันดับสุดท้าย กรีซ ปีละ 2,211,000 บาท


อย่างไรก็ดี แม้ว่าสหรัฐฯ จะครองอันดับค่าตัวแพทย์สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่ปัจจุบันมีผลสำรวจพบ 5 อาชีพ ที่ทำเงินมากกว่าแพทย์ ซึ่งถึงแม้ว่าแพทย์จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูง แต่หากมองจากต้นทุนด้านการศึกษาวิชาแพทย์เมื่อเทียบกับสาขาอาชีพอื่นนั้น เรียกได้ว่าแพทย์ลงทุนสูงมากกว่า โดยอาจใช้เงินกว่า 220,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 7 ล้านบาท ต่อหลักสูตร อีกทั้งก่อนจะเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ ได้ จะต้องเรียนจบปริญญาตรีเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนอีกด้วย ฉะนั้น อาชีพที่คนเลือกในการสร้างเงินได้คุ้มค่ามากกว่าแพทย์ในสหรัฐฯ นั่นคือ อาชีพผู้จัดการด้านงานขาย (ด้านอสังหาริมทรัพย์ ด้านการแพทย์) ผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศ สถาปนิก วิศวกร วิศวกรปิโตรเลียม และเหล่าผู้บริหาร ตัวเลขการลงทุนด้านการศึกษาจำนวนสูงไม่เพียงส่งผลด้านการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกเรียนเท่านั้น แต่ทำให้ในสหรัฐฯ ขาดแคลนแพทย์กว่า 20,000 อัตรา และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ซ้ำอัตราเงินเดือนของแพทย์ในระยะ 2-3 ปีมานี้ลดลงเรื่อยๆ อีกด้วย จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าทำไมผู้คนถึงเลือกเรียนสาขาอาชีพอื่นมากกว่าการเป็นแพทย์ จากสถานการณ์ในโลกพัฒนาแล้วทำให้ไทยต้องหันมาพิจารณากำลังของแพทย์ภายในประเทศว่ามีความพร้อมหรือไม่กับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะในปี 2555 มีรายงานว่า ประเทศไทยขาดแคลนแพทย์อยู่แล้วเป็นหมื่นตำแหน่ง พยาบาลอีกหลายพันคน นั่นเท่ากับว่าไทยอาจขาดแคลนบุคคลากรด้านสุขภาพอีกหลายหมื่นตำแหน่งในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะถึงนี้หรือไม่


ขอบคุณข้อมูลจาก : thaipublica.org