นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้ลงนามยกเลิกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องการเชิญชวนให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 รวม 29 แปลง ภายใต้ระบบสัมปทาน ซึ่งได้กำหนดปิดรับสิทธิการยื่นสำรวจและผลิตฯจากเอกชนในวันที่ 16 มี.ค.นี้ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปิโตรเลียมของประเทศไทย อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม โดยขั้นตอนหลังจากนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาข้อมูล ซึ่ง สนช.จะเป็นผู้พิจารณา ว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายปิโตรเลียมที่มีอยู่เดิม หรือยกร่างกฎหมายระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (พีเอสซี) ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการแก้กติกาการบริหารทรัพยากรของประเทศไทยให้เหมาะสมกับสังคมไทยในปัจจุบัน
“เรื่องการแก้กฎหมายต้องเป็นหน้าที่ของ สนช. กรอบคร่าวๆที่มองไว้หลังแก้กฎหมายแล้วเสร็จใน 3 เดือน หรือเสร็จในเดือน พ.ค.นี้ จากนั้นก็จะมีการออกประกาศเชิญชวนครั้งใหม่ ที่ต้องใช้เวลาให้เอกชนมายื่นขอสำรวจ 120 วัน หรือภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ จากนั้นกระทรวงพลังงานก็ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจว่าเอกชนรายใดจะได้สิทธิสำรวจซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อนายณรงค์ชัยลงนามยกเลิกประกาศฯแล้ว ทำให้ขั้นตอนการปรับแก้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งหมดอยู่ที่ สนช. ทางกระทรวงพลังงานก็ไม่จำเป็นต้องมีการตั้งกรรมการร่วมภาครัฐและประชาชนตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการนัดประชุมร่วมกันวันที่ 26 ก.พ.นี้ที่กระทรวงพลังงานก็ไม่มีความจำเป็นต้องร่วมประชุมเช่นกัน สำหรับผลกระทบหลังจากนี้ได้ให้ข้อมูลไปมากแล้ว เพราะศักยภาพปิโตรเลียมของไทยจะเริ่มเข้าสู่วิกฤติภายใน 7 ปีข้างหน้า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายณรงค์ชัยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องการจัดการปิโตรเลียม ได้ให้นำเอกสารลงนามยกเลิกประกาศมาให้เซ็นชื่อต่อหน้าผู้สื่อข่าว เพื่อยืนยันว่ามีการลงนามตามที่ประกาศแล้วด้วย.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์